สังขารธรรม เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง


        ผู้ถาม ตลอดเวลาคิดว่าโมหะดูง่าย เพราะทุกอย่างที่ไม่ทราบก็คือโมหะไปหมดแต่ว่าก็ยังสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่า แต่ก่อนนี้ ถ้าทุกข์มากๆ จะมีความรู้สึกว่า มีความสุขอยู่กับการที่เหม่อลอย

        สุ. นี่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว จะเห็นความหลากหลายของจิตที่มีการปรุงแต่ง แต่ละขณะจิตจะสะสมสืบต่อไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะหรือทางฝ่ายกุศลก็ตาม และพระธรรมที่ทรงแสดงนี่ก็หลากหลายกว้างขวางแม้แต่พยัญชนะแต่ละแห่ง ถ้าใช้คำว่าสังขารกลางๆ ธรรมดา ก็หมายความถึงการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นทั้ง จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรมนี้แน่นอน สภาพธรรมใดทั้งหมดที่เกิดขึ้นต้องมีสภาพธรรมอื่นปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า เห็นไหม นี่ต้องเป็นความเข้าใจ

        แม้แต่คำว่า“สังขาร” ที่จะเข้าใจในเบื้องต้นก่อนที่จะถึงคำว่าสสังขาริก อสังขาริก หรือว่าอภิสังขารก็ตามแต่ เริ่มต้นจากคำว่า “สังขาร” ก่อนว่าคืออะไร ต้องเป็นสภาพธรรม และสภาพธรรมนั้นต้องเกิด เพราะเหตุว่ามีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งจะเกิดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต หรือรูป ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจเบื้องต้น ขั้นต้น ว่าสังขารหมายความถึงปรุงแต่งหรือสภาพที่ปรุงแต่งหรือมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเกิดด้วย ไม่ใช่ปรุงแต่งเฉยๆ ใช่ไหม แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งอย่างไรให้เกิดขึ้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจิตเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าขณะนั้นปัจจัยนั้นไม่เกิดปรุงแต่งให้จิตประเภทนี้เกิด จิตประเภทนี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นคำถามว่าโลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์เป็นสังขารธรรมหรือเปล่า นี่คือการที่เราจะไม่เผิน และก็ละเอียด และบางทีจะรู้ได้ว่าเราลืม หรือว่าเรากำลังคิดตอนนี้ก็เข้าใจว่าตอนนี้

        อย่างที่คุณแก้วพูดถึงเรื่องไม่ใช่, ใช่ เป็นโมหมูลจิต หรือว่าเป็นโลภมูลจิต ต้องรู้ด้วยว่าในสถานะนั้นในกาลนั้นเป็นอะไร แต่ไม่ใช่เหมาว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ก็เป็นไปตลอด,ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงถามว่าโลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นความเข้าใจ และความจริงก็ต้องถูกต้องตามความเป็นจริง ใครจะเปลี่ยนความจริงนั้นไม่ได้เลย ต่อให้จะพิมพ์ผิด สะกดผิดยังไงก็ตามแต่ แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ใครก็เปลี่ยนสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิด

        ถามว่า โลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรมหรือเปล่า อาจหาญ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ที่จะตอบ เป็นหรือไม่เป็น

        ผู้ถาม ถ้าพูดถึงว่าสภาพธรรมเกิดดับ ก็ต้องเป็นใช่ไหม

        สุ. แน่นอน เปลี่ยนไม่ได้ ใครจะไปเปลี่ยนได้ ถ้าไม่มีปัจจัยจะเกิดไหม เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วเพราะมีปัจจัยใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ใช้คำภาษาบาลีว่า“สังขาร” เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง อะไรเป็นสังขารธรรมของจิต อะไรเป็นสังขารที่ปรุงแต่งจิต ลองคิดดู จิตเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง มั่นคงแล้วใช่ไหม ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นอะไรเป็นปัจจัยปรุงแต่งจิต ให้เกิด

        ผู้ถาม เจตสิก

        สุ. ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็จิตบางจิตก็ต้องมีรูปเป็นปัจจัยด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดซึ่งแยกกันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะภพไหนภูมิไหนทั้งสิ้นก็ต้องเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่ง ขณะนี้เข้าใจแล้วนะ

        พอถึงอรหัตตมรรคจิต เป็นสังขารธรรมหรือเปล่า อรหัตตมรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ดับกิเลส เป็นสังขารธรรมหรือเปล่า (เป็น) ไม่ลังเลเลย เพราะว่าต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิด

        รูป เป็นสังขารธรรมหรือเปล่า (เป็น) แต่ละรูปก็อาศัยกัน และกันเกิด ธาตุดินอาศัย ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม, ธาตุน้ำอาศัย ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าเข้าใจสังขารธรรมในความหมายนี้แล้ว ก็จะมาถึงคำว่า"สังขารขันธ์ "จำแนกออกมาแล้ว เพิ่มความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ "ขันธ์ "ซึ่งขันธ์ทั้งหมดมี ๕ ขันธ์

        รูป เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า ไม่ได้ถามว่ารูปเป็นขันธ์หรือเปล่า แต่ถามว่า รูป เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า เมื่อกี้สังขารธรรม เป็นแน่ แต่ว่ารูปนี่เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า (ไม่ใช่)

        นี่คือการที่เราได้ฟังอะไรแล้วด้วยความเข้าใจ และความเข้าใจนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นการเข้าใจตามลักษณะของสภาพธรรม รูปเป็นสังขารธรรมแน่ แต่ไม่ใช่สังขารขันธ์ เพราะว่ารูปเป็นรูปขันธ์ ไม่ใช่สภาพรู้ ด้วยเหตุนี้แม้แต่คำว่า"สังขาร"คำเดียว เราก็ไม่เหมารวมไปว่าความหมายเดียว แต่ต้องมีความเข้าใจตามคำที่เพิ่มขึ้นด้วย จนกระทั่งถึงสสังขาริก อสังขาริก ก็ต่างออกไปอีก ไม่ได้หมายแค่สังขารธรรม

        อ.อรรณพ ในเรื่องความหมายของคำว่า"สังขาร" ว่ามีความหมายหลากหลายไป กุศลจิต และก็อกุศลจิตซึ่งก็มีทั้งที่เป็นสสังขาริก และอสังขาริก ก็เข้าใจได้ในขั้นการฟัง และการพิจารณา แต่ว่าการที่เราจะประจักษ์ในลักษณะของความเป็นอสังขาริกหรือความเป็นสสังขาริกของจิตนั้น ก็ยังไม่ใช่ด้วยปัญญาขั้นการฟังหรือขั้นคิดพิจารณา แม้ขั้นสติระลึกรู้แรกเริ่มก็ไม่สามารถที่จะรู้ในความต่างว่าเป็นสสังขาริกมีกำลังไม่ต้องอาศัยการชักจูง หรือว่าไม่มีกำลัง ต้องอาศัยการชักจูง เราก็เพียงเข้าใจตาม และก็สะสมความเข้าใจไปก่อน แต่การที่จะประจักษ์จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นอสังขาริกหรือเป็นสสังขาริก ก็คงยังไม่ใช่ปัญญาในระดับเริ่มต้น เพราะเราก็คงไม่มีปัญญาเหมือนพระอัครสาวก พระมหาสาวกต่างๆ ที่ท่านสามารถที่จะรู้ได้ละเอียด และทรงจำได้มากได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178


    หมายเลข 10034
    25 ม.ค. 2567