ที่ตั้งของความยึดถือ


        ผู้ถาม ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าทำไมเวทนาไม่เป็นสังขารขันธ์

        วิ. ทรงแสดงขันธ์ไว้ ๕ ขันธ์ ทั้ง ๕ ขันธ์เป็นสังขารธรรมทั้งหมด แต่ว่าในส่วนของรูปคือรูปทั้งหมด ทรงแสดงว่าเป็นรูปขันธ์ทั้งหมด ส่วนเวทนาก็แสดงลักษณะของเวทนา คือความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกาลไหนๆ เมื่อเวทนาเกิดขึ้นก็เป็นเวทนาขันธ์ ส่วนสัญญาก็เช่นเดียวกัน ความจำความหมายรู้ต่างๆ ก็ทรงแสดงว่าเป็นสัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกอื่นๆ ที่เหลือก็ทรงแสดงว่าเป็นสังขารขันธ์ ส่วนจิตประเภทใดก็ตามก็ทรงแสดงว่าเป็นวิญญาณขันธ์

        ถ้ากล่าวถึงเวทนาคือทรงแสดงธรรมโดยขันธ์ให้เห็นถึงว่าไม่ว่าจะเป็นเวทนาที่ในอดีต อนาคต ปัจจุบัน หรือว่าหยาบ ละเอียดอะไรก็ตามก็จัดอยู่ในกองของเวทนา อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นโทมนัส โสมนัส สุข ทุกข์ ต่างๆ ก็เป็นเวทนาขันธ์จะไปเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้ จะไปเป็นอย่างผัสสะ หรือว่าเป็นอย่างเจตนาไม่ได้ ก็ต้องเป็นเวทนาขันธ์หรือแม้สัญญาเองก็ตาม สัญญาจะเป็นเวทนาขันธ์ก็ไม่ได้ จะเป็นสังขารขันธ์ก็ไม่ได้ ก็ต้องเป็นสัญญาขันธ์

        ผู้ถาม เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

        สุ. ส่วนใหญ่เราก็คงจะพูดตามความเคยชิน ตามความคิดนึกของเรา จนกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น โดยมากจะบอกว่าอยู่ที่นั่นหรืออยู่ในนั้น ความจริงก็ไม่ได้อยู่ อย่างเวทนาทำไมไม่ใช่สังขารขันธ์ เพราะว่าเวทนาเป็นเวทนา ไม่ใช่เป็นอื่นเลย เป็นความรู้สึก เป็นสภาพของความรู้สึก ซึ่งเป็นที่ติดข้องยึดถือ อย่างยิ่ง ทุกภพชาติ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนที่ปรารถนาก็คือสุขเวทนากับโสมนัสเวทนา แสดงให้เห็นถึงแม้ว่าเวทนาก็เป็นสังขารธรรม เป็นธรรมที่เพียงอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป แต่แม้กระนั้นโดยสภาพที่เป็นความรู้สึกเป็นสุขกับโสมนัส ก็เป็นที่ติดข้องยึดถืออย่างยิ่งแสวงหาทุกภพชาติ ไม่ว่าจะเป็นการที่จะให้พ้นจากสภาพของกามาวจรไปสู่รูปาวจรก็เพื่อสุขเวทนา ใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ของความต้องการอย่างมาก แล้วเวทนาเป็นเวทนา จะเป็นผัสสะ จะเป็นปัญญา จะเป็นอะไรไม่ได้เลย หรือแม้แต่รูปทุกรูปที่เป็นรูปขันธ์ก็เพราะเป็นรูป ไม่ใช่ไปอยู่ในกองของรูปขันธ์ คือเราจะต้องมีความเข้าใจด้วยว่าการที่ใช้คำก็แสดงให้เห็นถึงความจริงของสภาพธรรมนั้น แต่ถ้าเรามีความจำในเรื่องคำ เราจะใช้คำตามที่เราคิดว่ารูปอยู่ในรูปขันธ์ เวทนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา โสมนัสเวทนาก็อยู่ในเวทนาขันธ์ ไปเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ตามความจริงรูปเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นรูป เพราะฉะนั้นไม่ว่ารูปที่ดับไปแล้วหรือรูปที่จะเกิดต่อไปก็ยังคงเป็นรูป ก็ต้องเป็นรูปขันธ์ สำหรับเวทนาความรู้สึกก็เช่นเดียวกัน สัญญาเจตสิกก็เช่นเดียวกัน ส่วนสภาพธรรมอื่นๆ ก็ปรุงแต่งให้เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นเรื่องราวต่างๆ บ้าง ก็ดีที่ไม่มากกว่า ๕ ใช่ไหม แต่แยกออกไปทีละหนึ่งนี่คงลำบาก ถ้าแยกเป็นทีละหนึ่ง ปัญญา เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า

        ผู้ถาม ปัญญา เป็นสังขารขันธ์

        สุ. ไม่ใช่ว่าต้องรวมหมดทุกอย่างแล้วเป็นสังขารขันธ์ ปัญญา ก็เป็นสังขารขันธ์ เจตนา เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า

        ผู้ถาม เจตนา เป็นสังขารขันธ์

        สุ. เจตนา ก็เป็นสังขารขันธ์ด้วย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็เข้าใจในความหมายของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกแต่ละประเภท

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 178


    Tag  ขันธ์  
    หมายเลข 10035
    25 ม.ค. 2567