ละความติดข้องว่าเป็นเรา


        ผู้ถาม ผมก็เป็นคนอีกผู้หนึ่งที่ท้อถอย สมมุติบัญญัติ อาจารย์ก็บอกว่านึกคิด อีกอย่างหนึ่งท่านอาจารย์ก็เน้นเฉพาะเรื่องอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ก็ไม่ใช่ว่าไม่ถูก ถูก แต่ไม่ถึงสักที ตรงนี้ต่างหากที่ว่าแค่แยกปรมัตถ์ และบัญญัติ แยกไม่ได้

        สุ. คือเราไปคิดเรื่อง แต่ขณะนี้กำลังฟังอะไร ลืมหมดเลยของเก่าๆ เราจะรู้ เราจะไม่รู้ เราจะสงสัยอะไรไม่สนใจทั้งสิ้น เพราะว่าขณะนี้กำลังฟัง เพราะฉะนั้นเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และก็จะรู้ได้เลยว่าถ้าเป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็เป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าเราไปคิดถึงตอนที่เราไม่เข้าใจ ตอนที่เราไม่สามารถจะแยกได้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้แม้แต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอนัตตา ก็ลืมแล้ว ใช่ไหม ว่าเป็นอนัตตาใครก็บังคับบังชาไม่ได้ แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจ เช่น มีใครบ้างที่ไม่คิด ไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าคิดไม่ดี คิด เกิดแน่นอน แล้วแต่ว่าจิตที่คิดเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต แต่คิดต้องเกิด แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิตที่คิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยับยั้งไม่ให้คิดหรือไม่ให้เข้าใจว่าคิดไม่ดี แต่ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเดี๋ยวนี้เราลืมเรื่องทั้งหมดเลย เราจะแยกได้แยกไม่ได้ ลืมหมด ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วก็มีสภาพเห็น ขณะที่กำลังเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นไม่ใช่คิด นี่คือสิ่งที่เราจะฟัง แล้วก็ไม่ลืม ไม่ใช่ตัวเราพยายามไปแยก แต่เวลาที่มีความเข้าใจว่ากว่าจะรู้จนกระทั่งประจักษ์แน่นอนว่ากำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นขณะนี้ได้ฟังภาษาบาลี ได้ยินคำว่า รูปารมฺมณ ซึ่งคู่กับ จกขุวิญฺญาณ

        จักขุวิญญาณคือจิตเห็นๆ อะไร สิ่งที่ปรากฏทางตาใช้คำว่า “รูปารมณ์” หรือ รูปารมฺมณ เราก็ผ่านคำนี้ไปโดยที่ไม่ได้คิดว่าแล้วเราเข้าใจรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏแล้วหรือยัง ถ้าเข้าใจก็หมายความว่า แม้ขณะนี้เคยเข้าใจว่ามีคน มีสัตว์ มีนาฬิกา มีโต๊ะ มีเก้าอี้ ไม่ได้ให้ไปเปลี่ยน เพราะนั่นคือผิดปกติ แต่ว่าจะมีการแทนที่จะย่อท้อหรือไม่สนใจหรืออะไรก็แล้วแต่ กำลังค่อยๆ เข้าใจจริงๆ ทีละน้อย ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังมี กำลังปรากฏ ลักษณะนี้เป็นอย่างนี้ แค่นี้ กว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ในความหมายแม้คำเดียวซึ่งมีทั่วไปในพระไตรปิฎกคือ รูปารมณ์ แต่ว่าถ้าเราไม่ได้คิดว่าจะสามารถเข้าใจได้เมื่อฟังบ่อยๆ และแม้แต่ขณะที่กำลังฟังก็มีสิ่งที่ปรากฏ ให้เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นอกจากนั้นเป็นความคิด เพราะฉะนั้นความคิดในวันหนึ่งมากมายแค่ไหน อยู่ในโลกของความคิดตลอด คิดถึงสิ่งที่ปรากฏด้วย คิดถึงเสียงที่ได้ยินด้วย คิดถึงเรื่องราวทั้งหมดด้วย ก็อยู่ในโลกของความคิด แล้วแต่ว่าขณะใดถึงวาระที่จิตคิดจะเกิด ก็มีการปรุงแต่งให้จิตคิด แม้แต่คำที่จะกล่าว ก็คือจิตต้องคิด ถ้าไม่คิด เสียงที่จะออกมาเป็นคำนี้ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ฟังจนกว่าจะไม่ใช่เรา ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง

        ผู้ถาม ที่ว่ารูปารมณ์ที่จะเกิดให้เห็นว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ยังเป็นศูนย์อยู่ ไปเกิดตรงสมมุติบัญญัติ เกิดมากเหลือเกิน

        สุ. ก็อบรมไปจนกว่าจะเป็นหนึ่ง เป็นสอง ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นี่คือ วิริยารัมภกถา ให้เพียร แล้วก็ให้ละ ความติดข้องในความเป็นเราที่จะทำด้วย เพราะเหตุว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรม

        ผู้ถาม ทำให้เกิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย มองทุกครั้ง เห็นทุกครั้ง รูปารมณ์ เห็นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุ เป็นอื่นๆ เป็นชื่อ เป็นอะไรไปหมด ถ้าได้คำบรรยายของท่านอาจารย์ ก็เกิดโสมนัส เกิดปิติได้ เป็นสมมุติบัญญัติไปหมด

        สุ. ผู้ที่จะเข้าใจสภาพธรรมต้องอบรมเจริญปัญญานานไหม แล้วก็นานแค่ไหนด้วย แต่ละคนก็รู้ตัวเองตามความเป็นจริง แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความเข้าใจก็จะละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 179


    หมายเลข 10043
    25 ม.ค. 2567