ไม่คบแต่อนุเคราะห์


        พาลมีจริงๆ หรือเปล่า เป็นธรรมะหรือเปล่า ที่ชื่อว่า “คนพาล” ก็คือคนที่มีอกุศลธรรมมากจนปรากฏความเป็นคนพาล ทางกายก็ได้ คนนี้กายพาลมาก ทำทุจริตตีรันฟันแทง ทางวาจาก็เป็นด้วย เราก็เรียกสภาพธรรมะที่เกิดบ่อยๆ นั้นว่า คนพาล แล้วพาลที่ร้ายกาจที่สุด คือ ความเห็นผิด เพราะเหตุว่า คำพูดทุกคำเป็นคำเท็จ ไม่ใช่คำจริง

        เพราะฉะนั้น วาจาจริงไม่ใช่พาล ไม่ได้เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน แต่อนุเคราะห์ให้เข้าใจถูกเมื่อได้พิจารณาว่า ถูกหรือผิด จริงแค่ไหน เพราะว่าความจริงต้องเป็นจริงตลอด จะเป็นเท็จไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ได้เบียดเบียน ไม่ใช่พาล แต่คำไม่จริงต้องเป็นพาลแน่ เพราะเหตุว่าทำให้เข้าใจผิด และสังเกตดูเราพอใจที่จะคบคำผิด ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดหรือเปล่า แทนที่เราจะรู้ว่า บัณฑิต คือ ผู้มีวาจาสัจจะ และทุกคำเป็นประโยชน์เกื้อกูล แต่การสะสมมาอาจทำให้เราไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะเรานิยมความเป็นพาล ง่ายๆ แต่โทษมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความจริง

        ด้วยเหตุนี้ข้อแรกคือไม่คบพาล การคบคือคุ้นเคย การคุ้นเคยบ่อยๆ ทำให้เราเป็นไปด้วย ค่อยๆ ซึมทีละน้อย อาหารบางอย่าง ครั้งแรกที่เราดื่มหรือเรารับประทาน รู้สึกว่าทนไม่ไหว ขมบ้าง ขื่นบ้าง แต่พอคุ้นเคยมากๆ ชอบ

        เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่าเมื่ออาศัยความไม่รู้ว่า อะไรเป็นคุณ เป็นโทษ แล้วก็เสพจนคุ้นก็ย่อมเป็นไปตามสิ่งนั้น

        ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า บางคนฟังธรรมะถูก เข้าใจว่าถูก แต่ไม่ฟังต่อ เพราะเหตุว่ามีเพื่อนที่ไม่ฟัง แล้วไม่ยอมละทิ้งเพื่อนที่เป็นพาลที่จะมาสู่ความเห็นถูก

        เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นมงคลข้อที่ ๑ ตราบใดที่คบคุ้นเคยกับพาล มีหรือที่จะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่อาจหาญที่จะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด แล้วทิ้งส่วนที่ผิดทันที เพราะเหตุว่าโอกาสที่จะเสพคุ้นย่อมเพิ่มขึ้น และยิ่งละลำบากมากขึ้น

        ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ฟังคำ ไม่ว่าจะเป็นคำอะไรก็ตาม คำนั้นพูดถึงอะไร จริงหรือเปล่า ถูกหรือผิด มีประโยชน์ไหม ก็เสพคำของคนนั้น แทนที่ไปจะเสพหรือคุ้นเคยกับคนอื่นที่ไม่นำประโยชน์สุขมาให้ และจะเห็นได้ว่า บัณฑิตที่แท้จริง ที่ประเสริฐสุด คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวกทั้งหลายผู้ศึกษาธรรมะด้วยความตรง ด้วยความจริงใจ ก็เป็นบัณฑิต ควรแก่คบ เพราะเหตุว่านำมาซึ่งประโยชน์

        เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราจะดำเนินไป ไม่พ้นจากการคบหาสมาคม ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องคิดนึก เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังเป็นคนที่ไม่มั่นคง ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด และเกิดมาเพื่ออะไร เราก็จะไม่เห็นโทษอย่างที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเจริญ ความเป็นอริยะ เบื้องต้นข้อแรกคือไม่คบคนพาล ถ้าใครยังไม่เข้มแข็งพอ คบไป ก็คือไม่ได้คบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คบพาล ก็จะเห็นความต่างกันจริงๆ แต่ก็ยังมีคนพูดว่า แล้วที่บอกให้เมตตา ไม่เว้น เมตตาไม่ใช่การคบ เมตตาคือความหวังดี เกื้อกูล พร้อมที่จะทำประโยชน์โดยไม่เลือก

        เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นอย่างไร มีความคิดเห็นอย่างไร กระทำทุจริตแค่ไหน ระดับไหน ใจของเราไม่ขุ่นข้อง แต่ถ้าใจเราขุ่นข้อง ขณะนั้นเราเองก็เป็นคนพาล

        เพราะฉะนั้น เมื่อหวังดี ช่วยอนุเคราะห์ ก็จะมีข้อความต่อไปอีก ธรรมะทั้งหมดไม่ใช่เพียงคำเดียวแล้วก็จบ แต่ยังมีข้อความต่อไปอีกว่า เมื่อคบก็เพียงเพื่ออนุเคราะห์ แสดงว่าไม่ได้เห็นตามไปด้วยเลย แต่ว่าคบไม่ได้หมายความว่าเราเป็นผู้คุ้นเคยกับความเห็นนั้นๆ แต่รู้ว่า เขาไม่สามารถจะพ้นจากความเห็นผิด หรือโทษต่างๆ ได้ ถ้าไม่อนุเคราะห์ให้เขาเข้าใจ

        เพราะฉะนั้น ก็อดทน วิริยะทั้งหมดเกิดพร้อมกันในขณะที่กุศลจิตเกิด ที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีความเป็นมิตร มีความหวังดี พร้อมจะเกื้อกูล เราจะไม่พูดธรรมะกับคนที่ไม่สนใจธรรมะ หรือคนที่ไม่ฟังธรรมะ เพราะว่าคำจริงหรือคำดีก็เป็นคำชั่วของคนที่ไม่เข้าใจเจตนา แต่ถ้าใครพร้อมที่จะฟัง เราก็เกื้อกูล และเป็นคำจริง มิตรแท้ต้องให้สิ่งที่จริง ไม่ใช่ของปลอม เพราะว่าของปลอมมากมาย เพชรนิลจินดา หยก ปลอมทั้งนั้น มีมากด้วย กับเพชรจริงเล็กน้อยสักเท่าไร ค่าอยู่ตรงไหน ก็เห็นได้ว่า ระหว่างคำไม่จริงทั้งหมดกับคำจริง คำจริงแม้เพียงคำสองคำ ก็ยังมีประโยชน์มากกว่าคำไม่จริงทั้งหมด

        นี่คือไม่คบคนพาล แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเมตตาต่อคนพาล แต่ไม่คบ


    หมายเลข 10081
    30 ธ.ค. 2566