ทานให้ผลชั่วคราว


    วรศักดิ์   กราบเรียนถามอาจารย์สุจินต์ครับ ถ้าเกิดในประเทศไทยยุคไอเอ็มเอฟ คนไทยก็คงจะต้องหันมาทำทานกันบ้าง เพื่อที่จะให้ได้ผลของกุศลกรรมในภายภาคหน้า ซึ่งถ้าเกิดเราจะเปรียบเทียบกับชาติตะวันตกหรือว่าชาติญี่ปุ่น จะสังเกตเห็นว่า  ในยุคเช่นนี้ เขาไม่ต้องเร้นแค้นเหมือนกับคนไทย แต่ว่าคนไทยไม่ได้ให้ทานมาก่อนหรืออย่างไร ถ้าเกิดว่าเราทำทานแล้ว เกิดเราตกไปเกิดในถิ่นที่ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีพระพุทธศาสนา เราจะไม่เสี่ยงเกินไปหรือครับที่จะ ไม่มีโอกาสไห้ฟังพระธรรม

    ส.   เรื่องของทาน เป็นเรื่องที่แล้วแต่การสะสม ถ้าคนที่มีอุปนิสัยที่จะให้ทาน แม้ว่ามีไม่มากก็ให้ได้ อย่าไปคิดว่า เราจะต้องทำทานใหญ่ๆ เท่านั้นถึงจะเป็นทาน แล้วทานก็มีหลายอย่าง แม้แต่อภัยทานที่เราจะไม่โกรธใคร แล้วก็ไม่ทำร้ายใคร แล้วก็อภัยให้ ขณะนั้นจิตใจก็เป็นกุศล ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องวัตถุ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคิดว่าทำทานเพื่อที่จะได้ผลของทาน ทานนั้นไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย  เพราะเหตุว่าหวังที่จะได้ผล ทำเพื่อหวัง กุศลทั้งหลายเป็นสิ่งทีดีงาม โดยเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ใช่เป็นสภาพจิตที่หวังผลของทาน หรือหวังผลของกุศล แต่ลักษณะของจิตที่ดีงาม เพราะไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีความติดข้อง และไม่มีความโกรธ หรือความขุ่นเคืองใจ แล้วก็ไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น 

    เพราะฉะนั้น ควรจะพิจารณาสภาพจิต โดยที่ว่าไม่ทำเพื่อหวังที่จะได้ผล แล้วเรื่องการที่จะเกิดที่ไหน เป็นบุคคลใด ทุกประเทศก็มีคนที่ยากไร้ ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นเศรษฐีมั่งมีเงิน หรือว่าที่เมืองไทยแม้แต่ในยุคนี้ก็ยังคงมีผู้ที่มีปัจจัยพอที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย เป็นเศรษฐีอยู่อย่างเดิมก็มี เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของกรรมของแต่ละคน ที่ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ

    วรศักดิ์   ถ้าเกิดเราให้ทาน แล้วเราอยากเกิดในเมืองพุทธศาสนาด้วย เราต้องให้ทานจำกัดเฉพาะในวงพระพุทธศาสนาเท่านั้นหรือเปล่าครับ

    ส.   เรื่องของทานเป็นเรื่องสภาพจิตที่ดีเกิดขึ้น ไม่จำกัดว่า เป็นการให้ใคร แต่ว่าขณะใดก็ตามที่เป็นการเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องในสภาพธรรมะ  อันนั้นเป็นกุศลคนละอย่าง คนที่มีเงินมาก ให้ทานเยอะ แต่ว่าไม่มีปัญญา ไม่มีความสนใจที่จะฟังพระธรรมก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่ให้ทานแล้วก็จะเป็นคนที่สนใจการศึกษาพระธรรม แต่คนที่ศึกษาพระธรรมแล้วจะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่ว่ายามใดเป็นทุกข์ ยามใดเป็นสุข มีการขึ้นๆ ลงๆ ในชีวิต เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามกรรม แต่คนนั้นก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่า ทุกอย่างเกิดจากเหตุที่ตนเองได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมะเป็นสิ่งที่ควรที่จะสะสม แล้วบุญกุศลอื่นก็ไม่สามารถที่จะเทียบเท่าได้ เพราะเหตุว่าให้ผลเพียงชั่วคราว เป็นเศรษฐีชาตินี้  เป็นยาจกชาติหน้าก็ได้ แต่ว่าถ้ามีปัญญาสะสม ก็ยังสามารถที่จะเห็นประโยชน์ของพระธรรม แล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้มีศรัทธาที่จะศึกษาต่อๆ ไปด้วย

    วรศักดิ์   ถ้าเราให้ทานแต่ว่าไม่เกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ถ้าเกิดเราเกิดในเมืองนอก  เราก็ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย

    ส.   ถ้าเป็นคนที่กำลังมีทุกข์มาก หิวมาก แต่ว่าไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จะให้ไหมคะ จิตเป็นกุศลเกิดได้ไหม ควรเกิดไหม เพราะว่าไม่ได้หวังผลอะไร การให้คือการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ด้วยจิตใจที่ผ่องใส ด้วยจิตใจที่ไม่ติดข้องในผลของกุศลจิตนั้น

    วรศักดิ์   ให้ครับ แต่เราจะรับรองได้ไหมว่า ถ้าเผื่อเราให้แล้ว เราจะได้มาฟังพระธรรม

    ส.   ไม่เกี่ยวกัน  ถ้ามีความสนใจในพระธรรม ขณะฟังธรรมก็เป็นปัจจัยที่จะสะสมไป ที่จะทำให้มีศรัทธา และสนใจไปอีกได้

    วรศักดิ์   อาจารย์ครับ ถ้าเกิดสติเกิดในสิ่งที่เป็นอกุศล เพียงแต่ระลึกเท่านั้น โดยที่พฤติกรรมยังไม่ถอยกลับจากอกุศล เพราะคิดว่ามันบังคับไม่ได้ แล้วก็เป็นการพลั้งพลาดทำอกุศลกรรมนั้นลงไป เช่นนี้ถือว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป 

    ส.   โดยมากชอบถือ แล้วก็ถามคนอื่น ซึ่งไม่ใช่จิตของคนนั้นเลย เพราะฉะนั้น อย่างที่เคยพูด เรื่องเดาใจ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมะเกิดดับเร็วมาก ในขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะขณะที่กำลังปรากฏ เป็นเรื่องเดา และเรื่องคิดทั้งหมด  เพราะฉะนั้น ก็ถูกบ้าง ผิดบ้าง เพราะว่าใครจะไปรู้ความละเอียดของจิต ก็เดากันไป พูดกันไป แต่หนทางที่จะทำให้รู้จริง ๆ มี

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปนั่งคิดว่า ถือว่าเป็นอย่างนี้ ถือว่าเป็นอย่างนั้น ก็ควรจะอบรมหนทางที่จะทำให้รู้จริงๆ มากกว่าเพียงแต่จะถือว่า

    วรศักดิ์   สติเกิดจะทำให้ระลึก ย้อนกลับจากอกุศลหรือเปล่า หรือว่าไม่แน่เสมอไป

    ส.   สติเป็นโสภณธรรม เกิดกับกุศลจิต และจิตที่ดีทั้งหมด

    วรศักดิ์   แต่ก่อนที่จะพลั้งพลาดพฤติกรรมที่เป็นอกุศลนั้นลงไป สติเกิดก่อนได้   

    แต่หลังจากขณะที่พลั้งพลาดทำไปแล้วคือ คนละขณะ ทำไปแล้ว

    ส.   การศึกษาธรรมะคือการศึกษาเรื่องจริง จิตทุกขณะมีจริง แล้วสภาพของจิตแต่ละขณะก็เป็นจริง กุศลจิตก็เป็นกุศลจิต อกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ต้องอบรมปัญญาให้รู้จริง ไม่ใช่เพียงแต่คิดเฉยๆ  ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่คิดไป ทั้งๆ ที่จิตในขณะนี้ก็กำลังเกิดดับ  บางคนอาจจะเข้าใจว่า กุศลจิตเกิดติดต่อกันตลอดเวลา  ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพียงบางเสียงที่กระทบหู ก็เกิดความขุ่นใจเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ ได้ แทรก คั่น หรือในขณะที่กำลังฟัง บางทีก็คิดถึงเรื่องอื่น เผลอไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า จิตจะต้องเป็นกุศลตลอด แล้วเราก็มานั่งวัด นั่งคิดว่า ตรงไหน จุดไหนเป็นอกุศล ก็เป็นเรื่องที่ทั้งวันก็นั่งคิดไป ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าอบรมปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะ ก็สามารถที่จะรู้จริงๆ ได้ด้วยตัวเองด้วย


    หมายเลข 10104
    17 ก.ย. 2558