เป็นเรื่องได้ยังไง


        ผู้ฟัง จากที่ฟังท่านอาจารย์ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่พอเป็นเรื่องขึ้นมา เป็นเรื่องได้ยังไงคะ

        ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด ห้ามไม่ได้เลยใช่ไหมคะ แต่ขณะนั้นไม่ได้สนใจว่า เห็นเป็นอย่างไร และขณะที่กำลังคิดก็ไม่ได้สนใจรู้ว่า คิดเป็นอย่างไร แต่มีเรื่องที่กำลังคิด พอหยุดเรื่องนั้นมีเห็น พอจะเริ่มเข้าใจได้ใช่ไหมว่า คิดไม่ใช่เห็น ชีวิตเกิดมาแล้วไม่ใช่มีแต่เห็น มีแต่ได้ยิน มีแต่ได้กลิ่น มีแต่ลิ้มรส มีแต่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่คิดตามสิ่งที่ปรากฏด้วย เช่นพอมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คิดเลย หยุดไม่ได้เลย ห้ามไม่ได้ คิดถึงอะไร คิดถึงสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากของสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมะใดๆ ทั้งสิ้น เกิดแล้วดับ เร็วสุดที่จะประมาณได้

        เพราะฉะนั้น ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิต เพราะฉะนั้น เวลาเห็นแล้วจำนิมิตว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั่นคือคิดแล้ว ไม่ใช่เห็น

        เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า เห็นมี แล้วเห็นไม่ใช่คิด ได้ยินมี ได้ยินไม่ใช่คิด วันหนึ่งๆ ห้ามคิดไม่ได้ คิดไปมากมาย แต่พอหยุดคิด มีเห็น ก็ยังไม่สนใจอีกว่า เห็นไม่ใช่คิด แต่จากการฟังก็พอจะรู้ได้ว่า ขณะที่เห็น ตามที่เข้าใจถูกต้องจากการฟัง คือ ปรากฏเพียงเล็กน้อยมากแล้วดับไป นั่นคือความจริง แต่สิ่งที่คิด คิดเกิดแล้วก็ดับอย่างเร็วมากจนติดต่อกันเป็นเรื่องราวต่างๆ

        เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเพราะมีเรื่องต่างๆ จึงไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังคิด การจะเข้าใจธรรมะต้องฟังทุกอย่าง ที่เป็นความจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยไม่เลือกว่า จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะใด แต่จากการเข้าใจทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางใจบ้าง ก็จะทำให้สามารถเริ่มรู้สึกตัว ใช้คำว่า “รู้สึกตัว” ในขณะที่พอคิดแล้ว หมดแล้ว ดับไปแล้ว ไม่เห็นมีอะไร เรื่องมีอะไร เรื่องที่คิดไม่มีเลย แต่มีเห็น เพราะฉะนั้น อะไรที่มีจริง ที่สามารถเริ่มเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรา เวลาที่คิด เหมือนเป็นเรา เป็นเขา หรือเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา แต่พอหยุด หมดคิดเรื่องนั้น มีสิ่งที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรื่อง เพราะฉะนั้น มีเขา มีเรื่อง มีเราก็เพราะคิด แต่ถ้ามีแต่เพียงเห็น ไม่คิดเลย ได้ยิน ไม่คิดเลย เรื่องไม่มีเลย

        เพราะฉะนั้น ก็พอจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า การจะรู้ความจริง ก็คือเข้าใจในแต่ละหนึ่งธรรมะ จากการฟัง แล้วเข้าใจขึ้นๆ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ไม่มีเรา ขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ใช่ขณะที่รู้ว่า ไม่มีเรา ก็ฟังต่อไปอีก จนกว่าเมื่อไรไม่มีเราเป็นบางขณะ ฟังต่อไปอีก เข้าใจต่อไปอีก จนกระทั่งทุกขณะไม่มีเรา ปัญญาจึงสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีเพิ่มขึ้น เพราะว่าไม่มีเครื่องปิดบัง ไม่มีอวิชชา และการยึดมั่นในสิ่งที่เคยยึดมั่นซึ่งเป็นอัตสัญญา เพราะอาศัยการฟังจึงสามารถเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น


    หมายเลข 10118
    18 ก.พ. 2567