รู้เพื่อละ


    สุนาน  เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ พูดถึงอานิสงส์ ธรรมดาศึกษาธรรมะ เราก็ ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ใหม่ๆ ก็จะศึกษา ก็จะว่า ให้เมตตา ให้ทำความดี ให้ทำว่าจะดีได้อย่างไร ทีนี้ถ้าเราศึกษาธรรมะเข้าใจแล้ว  เราจะรู้เพื่อละ แต่ว่าที่เราได้ศึกษามาว่า ทำความดีก็ยังเป็นตัวตนที่จะทำอยู่ สติปัฏฐานยังไม่เกิดก็ยังคงต้องเป็นอย่างนี้ไปก่อน  ใช่ไหมคะ ว่าทำความดี

    ส.   ทุกคนก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริง เมื่อยังมีกิเลสที่ยังไม่ได้ละ กิเลสนั้นๆ ก็ยังมี เช่นโลภะก็ยังมี มานะก็ยังมี อวิชชาก็ยังมี  แต่การศึกษา ศึกษาเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อเพิ่มโลภะ เพิ่มมานะ เพิ่มความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เพราะคิดว่า เข้าใจแล้ว นั่นก็ไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องทราบจริงๆ ว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจธรรมะว่า เป็นธรรมะ เมื่อเข้าใจธรรมะว่าเป็นธรรมะ ย่อมละความไม่รู้ เมื่อคลายหรือละความไม่รู้ ก็ละคลายอกุศลอื่นๆ  เช่น ความติดข้องในสภาพธรรมะซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เมื่อรู้ว่าเป็นเพียงธรรมะ  แล้วเมื่อเห็นธรรมะถูกต้องตามความเป็นจริง คือ อกุศลเป็นอกุศล ผู้นั้นก็จะค่อยๆ เห็นโทษของอกุศล  แต่ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะว่าผู้ที่ไม่ใช่เพระอนาคามี แม้ว่าจะเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็ยังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่าจะประจักษ์การเกิดดับซึ่งไม่เที่ยง เป็นอนัตตา แต่ก็ยังเห็นว่างามเพราะเคยชินกับความติดข้องในสิ่งนั้น ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่ในสิ่งซึ่งติดข้องมานาน

    เพราะฉะนั้น ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาระดับไหน สามารถที่จะละอะไรได้ อย่างปัญญาขั้นการศึกษา เพียงขั้นฟัง ไม่สามารถที่จะทำลายหรือละอกุศลใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น แต่ก็เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ว่า หนทางที่จะรู้ขึ้น แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้นั้น มี ให้เข้าใจให้ถูกต้อง

    สุนาน  ถ้าอย่างนี้ เรายังไม่ได้ซาบซึ้งในคำว่า รู้เพื่อละ ก็ยังคงต้องเป็นไปตามที่

    ส.   ก็ต้องสะกิดใจกันบ่อยๆ หรือสะกิดใจตัวเองก็ได้ ถ้าเกิดจะต้องการผลอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นจากการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งดี ก็ให้ทราบว่าขณะนั้นไม่ได้ละเลย มีกุศลจิตที่จะเกิดทำเพียงเล็กน้อย น้อยมาก บางคนก็แค่ใส่บาตรนิดหน่อย ทำความดีนิดเดียว แต่ต้องการอานิสงส์  คือ ผลจากการกระทำนั้นมากมาย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเพื่อละ แต่ถ้าเราเข้าใจจริงๆ การศึกษาทั้งหมดเพื่อละความติดข้อง ละลาภ ละความติดข้องในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่สามารถจะเข้าใจพระธรรมได้ยิ่งขึ้น แล้วเห็นคุณค่าของพระธรรมว่า เพื่อละจริงๆ เพื่อให้เราพ้นจากความทุกข์ ซึ่งเกิดจากการติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แม้ว่ายังละไม่ได้ แต่ก็เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทางที่จะละได้ โดยการที่แสดงสภาพธรรมะให้ผู้ฟังพิจารณาจนเข้าใจถูก  แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น

    สุนาน  เป็นไปตามลำดับขั้นจนกว่าจะเข้าใจ ชัดเจนว่า รู้เพื่อละเป็นอย่างไร

    ส.   ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ อย่างกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  ถ้าเป็นปัญญาเป็นผู้รู้ จะไม่รู้ลักษณะของสติได้ไหม แล้วสติก็ไม่ใช่รูปธรรม

    เพราะฉะนั้น มีคำว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่เราทำเลย  ไม่ใช่ว่าเราต้องการที่จะรู้รูปนั้น หรือรู้รูปนี้ แต่ผู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว ทราบความหมายของคำว่า ธรรมะเป็นอนัตตา ไม่มีเรา ไม่มีเราจะทำอย่างนั้น อย่างนี้  หรือว่าจะไปรู้รูปนั้น รูปนี้ แต่ว่าสติเป็นสภาพนามธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เมื่อเป็นสัมมาสติก็คือขณะใดที่มีปัจจัยที่สติจะเกิดเป็นสัมมา คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่กาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรม  หรือคนนั้นคิดว่า เป็นตัวเราที่จะทำ แต่คนนั้นต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อกล่าวถึงคำว่า ธรรมะ ก็คือ ธรรมะ จะเป็นเราไม่ได้เลย ธรรมะก็คือจิต หรือเจตสิก หรือรูปนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน ก็คือขณะนั้นไม่ใช่เราทำ แต่ว่าเป็นสติที่เกิดระลึก เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ทั้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วยว่า สติขณะนั้นเป็นไปคือระลึกที่กาย หรือว่าระลึกที่เวทนา ความรู้สึก หรือว่าระลึกที่สภาพของจิต หรือว่าระลึกธรรมะอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องและเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ต้น ทิ้งไม่ได้เลย  คือถ้าเข้าใจถูกต้องในความหมายของคำว่า อนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับ เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาข้อความอื่นต่อไปก็ต้องสอดคล้องกันด้วย แม้แต่ในเรื่องของสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่เราจะทำ


    หมายเลข 10148
    17 ก.ย. 2558