เราเรียนเพื่อให้รู้อะไร


        ผู้ถาม ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าสภาพธรรมเพียงเกิด ระลึก แล้วก็ดับ

        สุ. สำหรับสภาพธรรมไหน

        ผู้ถาม ที่ปรากฏ

        สุ. สภาพธรรมไหนระลึก

        ผู้ถาม สติ

        สุ. เพราะฉะนั้นต้องรู้ด้วยว่าสภาพธรรมอย่างไหนก็เป็นอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ทำกิจอย่างนั้น จะไม่สับสนกันเลย สภาพธรรมที่เป็นเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์แต่ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวว่าสภาพที่ระลึก ขณะนั้นถ้าเป็นกุศล ก็เป็นสติเจตสิก แต่คนก็จะปนกับอกุศลที่เป็นวิตก เพราะว่าวิตกก็คิด บางคนก็เข้าใจว่าขณะที่คิดเราก็คิดเรื่องอะไรก็ได้ ระลึกทรงจำเรื่องอะไรก็ได้ เพราะมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ลักษณะความคิดที่ไม่ใช่สติก็คิดเป็นอกุศลได้ ในขณะที่กุศลจิตเกิดก็มีทั้งสติ และมีวิตกด้วย นี่คือความละเอียดที่จะเห็นได้ว่าเพียงหนึ่งขณะจิตเราไม่รู้อะไรบ้าง แต่ทำไมเราเรียน และเรารู้เพื่ออะไร เพื่อค่อยๆ สะสมความเห็นถูกว่าไม่มีเราเลย สักขณะเดียว เป็นสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็วมากขณะนี้ ไม่มีใครสามารถจะยับยั้งได้เลย เกิดดับสืบต่อเร็วอย่างนี้ ไม่ปรากฏการเกิดดับเลย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็จะเข้าใจความหมายที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก แม้แต่คำว่า “ขันธ์” ก็สามารถที่จะเข้าใจเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 180


    หมายเลข 10160
    28 ม.ค. 2567