ไม่เกิดก็ไม่ทุกข์


    เรณู   ยังมีคำถามที่เนื่องจากพระสูตรเมื่อเช้านี้ ข้อที่ ๑ การเกิดในปฐมสูตรนี้ หมายถึงอะไร มีอะไรบ้าง ข้อที่ ๒ ความหนาว ความร้อน ความหิวเป็นต้น เป็นการเกิดได้อย่างไร ช่วยกรุณาอธิบายให้พอเข้าใจ กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ค่ะ

    ส.   ข้อความในอรรถกถาก็อธิบายว่า ปริพาชกถามท่านพระสารีบุตรถึงสุข ทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูล วัฏฏะ คือการเกิดวนเวียนชาติแล้วชาติเล่า แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราจะคิดให้สั้นกว่านั้น คือ คิดถึงขณะจิต เพราะว่าเวลาที่คิดถึงเรื่องจิต บางท่านอาจจะเข้าใจว่าจิตเที่ยงเป็นเวลานาน คือเมื่อเกิดแล้ว ก็เป็นจิตนั่นแหละอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย  คือ ขณะที่จากโลกนี้ไป แต่ว่าผู้ที่ตรัสรู้แล้วทรงแสดงเรื่องของจิตละเอียดมากว่า จิตเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เช่น ขณะที่เสียงกระทบ ขณะนั้นจิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่เราคิดว่าเราได้ยิน ความจริงก็เป็นสภาพของจิตที่สามารถที่จะได้ยินเสียง สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะคิดนึก ก็เป็นลักษณะของจิตประเภทต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้น ในที่นี้มุ่งหมายการเกิดซึ่งก็วนเวียนไปในภพต่างๆ หรือแม้ในชาติ หนึ่งก็วนเวียนไปทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ไม่หยุดเลย เพราะฉะนั้น การที่จะดับทุกข์จริงๆ ก็คือต้องกับการเกิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเกิดแล้วทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี

    เรณู   ยังมีต่อเนื่องอีก ข้อ ๑ อย่างไรที่เรียกสัมผัสท่อนไม้ จึงเป็นทุกข์ ข้อ ๒ การเกิดเป็นทุกข์ หมายถึงว่ามีลูกก็เป็นทุกข์ใช่ไหม แล้วคนที่ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์ใช่ไหม

    ส.   ไม่ได้พูดถึงลูก หรือไม่ลูก แต่หมายความว่าการเกิดขึ้นต้องเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดแล้ว มีไหนที่จะไม่รักไม่ชัง ที่จะไม่โกรธ ที่จะไม่โลภ ที่จะไม่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้น ถ้าไม่ติดข้องจะไม่ทุกข์ แต่ว่าห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ถึงสมุฏฐานของการเกิดว่า เกิดมาเพราะอะไร และที่จะไม่เกิดนั้น เพราะอะไร

    เรณู   ข้อที่ ๓ คงได้ตอบกันหลายครั้งแล้ว ช่วยอธิบาย ๑ การเกิด ๒ เกิดทุกข์ เกิดสุข ให้ถามที่ละคำถาม จะมีอะไรเพิ่มเติม ท่านอาจารย์ คะ

    ส.   ทุกคนก็มีสุข มีทุกข์เป็นประจำ ต้องบอกว่าเป็นประจำจริงๆ  และก็แถมอุเบกขา ซึ่งไม่ค่อยจะรู้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ มีความรู้สึก จริงๆ แล้วก็ คือ เวทนาเจตสิก ๕ ประเภท เป็นสุขทางกาย ๑ เป็นทุกข์ทางกาย ๑ เป็นโสมนัส คือ สบายใจหรือสุขใจ ๑ เป็นโทมนัสคือทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจ ๑  และอุเบกขา คือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็มีอีกชื่อหนึ่ง คือ อทุกขมสุขเวทนา หมายความว่า เป็นสภาพเวทนาซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ อะไรจะมีมากว่ากันในวันหนึ่งๆ สำหรับความรู้สึก  เมื่อมีชีวิตแล้วจะไม่มีความรู้สึกไม่ได้ เมื่อจิตเกิดที่ใดต้องมีความรู้สึกเกิดร่วมกับจิตนั้นทุกครั้ง เพียงแต่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ ส่วนใหญ่เราจะรู้เมื่อเป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นโสมนัส หรือเป็นโทมนัส แต่อุเบกขานี้เราจะไม่รู้เลย

    เพราะฉะนั้น จากการตรัสรู้ก็ทรงแสดงสภาพความจริงของสภาพธรรมะโดยละเอียดว่า จะพ้นจากเวทนาไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต ไม่มีการเกิด เวทนาก็จะเกิดกับจิตนั้นไม่ได้ด้วย ไม่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ อีกต่อไป


    หมายเลข 10256
    18 ก.ย. 2558