ลักษณะของวิปัสสนาญาณเป็นอย่างไร


        ผู้ถาม ในชีวิตประจำวันก็พอจะรู้ได้ก็มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้นเอง แต่จากที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายลึกซึ้งในเรื่องวิปัสสนาญาณต่างๆ นี้ไม่สามารถเทียบเคียงได้เลยว่าสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของวิปัสสนาญาณเป็นอย่างไร

        สุ. กำลังรักษาตาที่บอดแต่ยังไม่เห็นใช่ไหม คนตาดีมองเห็นสิ่งที่คนตาบอดมองไม่เห็น นี่เป็นความต่างกันของการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกับเพียงฟังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏในสภาพที่เพียงปรากฏหรือว่ายังคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏว่าปรากฏได้เพราะว่ามีจักขุปสาท และรูป แล้วก็มีผัสสเจตสิกกระทบ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น คิดอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ หรือว่าในขณะนี้มีลักษณะของรูปกำลังปรากฏ ฟังเพื่อให้เข้าใจจนกว่าจะเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่าขณะที่คิดไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ปรากฏวันเดียว กี่วันๆ กี่ภพกี่ชาติก็ปรากฏอย่างนี้ แต่ไม่รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงก็จะรู้ความต่างของขณะที่คิดแล้วก็รู้ว่าแท้ที่จริงสิ่งที่ปรากฏเล็กน้อยมาก ต่อจากนั้นก็เป็นโลกของความคิดหมดไม่ว่าจะคิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือคิดถึงเสียง สิ่งที่ปรากฏทางอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รู้ความจริง แต่ละคนฟังให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูก จนเป็นความเข้าใจที่มั่นคง และต่อจากนั้นเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ การที่ค่อยๆ เข้าใจถูก ขณะนั้นก็คือสติสัมปชัญญะกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น เพราะเหตุว่าต้องเป็นเพียงเล็กน้อย เพราะเหตุว่ารูปปรากฏเพียงเล็กน้อยไม่ใช่ปรากฏนานเลย แล้วสติซึ่งเกิดดับพร้อมจิตแต่ละขณะก็ยิ่งมีอายุสั้นกว่ารูป นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนี้ แต่ปัญญาเมื่อไหร่จะสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่มีตัวเราไปพยายามอีกต่างหากทับถมความเป็นเรา แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้วด้วยความรู้จึงละหนทางอื่น ซึ่งไม่ใช่การค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าสามารถที่สิ่งนั้นจะปรากฏกับปัญญาที่แตงตลอดลักษณะนั้นทางมโนทวาร

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186


    หมายเลข 10277
    25 ม.ค. 2567