เครื่องกั้นคือกิเลส


        แม้ไม่มีกรรม และวิบากเป็นเครื่องกั้น แต่ทำไมยังฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ก็ต้องเพราะกิเลสโดยเฉพาะความยึดมั่นถือมั่น หรืออุปาทาน ในสภาพธรรมที่เป็นที่ยึดถือ หรืออุปาทานขันธ์ ซึ่งปัญญาที่เข้าใจถูกในสภาพธรรมเท่านั้นจึงจะละคลายความยึดถือได้


        ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ ฟังแล้ว กำลังฟัง คิดเรื่องอื่น กิเลส หรือเปล่าที่พาให้คิดเรื่องอื่น แทนที่ข้อนี้ว่าอย่างนี้ เรื่องนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ก็ไตร่ตรองให้เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังด้วยความมั่นคงว่า เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม เรื่อง “อนันตริยกรรม” เรื่องวิบาก ก็คือให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรมะ แต่ไม่ได้ฟังอย่างนี้ ฟังแล้วกิเลสก็พาไปคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วจะเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยิน หรือเปล่า
    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่กำลังฟังแล้วไม่เข้าใจ รู้ได้เลยว่า ไม่ใช่กรรมเป็นเครื่องกั้น ไม่ใช่วิบากเป็นเครื่องกั้น แต่กิเลสนั่นเองเป็นเครื่องกั้น ฟังแล้วถามว่า แล้วเมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อะไรเป็นเครื่องกั้น ฟังแล้ว แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะมีวิธีอย่างไร จะตรึกตรองอย่างไร นั่นก็คือไม่ได้เข้าใจธรรมะ ก็มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น กิเลสมีมากพร้อมที่จะกั้น แม้ขณะที่ฟัง ก็ไม่ได้ฟังด้วยการคิดว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะเป็นพระพุทธพจน์ เป็นคำจริงซึ่งคนอื่นไม่ต้องไปเสียเวลาคิดเอง ซึ่งคิดอย่างไรก็คิดไม่ถูก จะคิดถูกได้อย่างไร คิดไปว่าเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ แต่ความจริงตามที่ทรงแสดงไว้คือ ให้รู้ความจริงว่า ไม่ใช่เพราะเรา แต่เพราะธรรมะ เพราะเป็นธรรมะทั้งหมด

        อ.อรรณพ ความเห็นผิดที่ดิ่ง เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิกั้น

        ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดกั้นแน่ ถูกไหมคะ ไม่ฟัง และถึงฟังก็ไม่เข้าใจ ยังคงเห็นผิดต่อไป นั่นคือความเห็นผิดดิ่งมั่นคง ไม่เปลี่ยน แต่คนที่ยังไม่ถึงระดับนั้น แต่ฟังไม่เข้าใจ เพราะอะไรคะ เพราะกิเลสนั่นเองที่ทำให้ไม่เข้าใจ

        อ.อรรณพ กิเลสก็กั้นในระดับที่น้อยกว่า เช่น ความอยาก

        ท่านอาจารย์ เวลานี้ทุกคนมีทิฏฐิไหมคะ

        อ.อรรณพ แล้วแต่จะเกิด หรือไม่เกิด

        ท่านอาจารย์ แต่มีไหม

        อ.อรรณพ มี

        ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดก็ตามที่เข้าใจว่าเป็นเรา ขณะนั้นเข้าใจธรรมะ หรือเปล่า

        อ.อรรณพ ไม่เข้าใจ

        ท่านอาจารย์ อย่างละเอียดยิ่ง แม้แต่ขณะนั้นที่เป็นเรา เพราะฉะนั้น กว่าจะไม่ใช่เราที่ไม่มีความเห็นผิด แม้จะไม่ใช่ความเห็นผิดอื่น แต่เห็นผิดว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เที่ยง ไม่เห็นดับเลย เกิดก็ไม่เห็น ดับก็ไม่เห็น ทั้งๆ ที่กำลังเกิดดับ ฟังแล้วเข้าใจไหม ถ้าไม่เข้าใจเพราะกิเลสกั้น หรือเปล่า ยังมีความเป็นเราที่อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ไม่สามารถจะสละ ละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏด้วยการเข้าใจความจริงของสิ่งนั้น เช่น เห็นขณะนี้มีใครเคยคิดบ้างไหมว่า สามารถรู้ความจริงของเห็นตามที่ได้ฟัง แต่กลับไปสนใจเรื่องอื่น อยากไปทำอย่างอื่นให้หมดกิเลส หรือให้ปัญญาเกิด โดยไม่ละคลายการยึดถือเห็นขณะนี้ว่าเป็นเรา แม้แต่ตรัสว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์ คือสิ่งที่ขณะนี้กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อ แต่ละ ๑ เป็นขันธ์

        เพราะฉะนั้น อุปาทานขันธ์แต่ละ ๑ ที่ปรากฏ เอาไปทิ้งไว้ที่ไหน เดี๋ยวนี้มีเห็น ถ้าถามคนที่ศึกษาปริยัติธรรม อภิธรรม เรียกชื่อได้ว่า เห็นขณะนี้เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ประเภทที่เป็นวิญญาณขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่สังขารขันธ์ แต่ตอบได้ว่า เป็นวิญญาณขันธ์ แล้วทรงแสดงไว้ด้วย อุปาทานขันธ์ ขันธ์นี้แหละเป็นที่ตั้งของการยึดถือ แล้วเดี๋ยวนี้แหละ เห็นไหมคะ ตามความเป็นจริง รู้ตัวไหมว่า ยึดถืออะไร และยึดถือขันธ์ไหน ยึดถือทุกขันธ์ แล้วแต่ขันธ์ใดปรากฏก็ยึดถือขันธ์นั้นแหละ เช่น กำลังมีเห็นในขณะนี้ ก็เป็นเราเห็น

        เพราะฉะนั้น ฟังธรรมะที่จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น ก็คือต้องฟังด้วยการรู้ว่า กำลังฟังธรรมะ ไม่ใช่ฟังว่า เรากำลังจะทำอะไรให้รู้เร็วๆ แต่กำลังฟังความจริงว่า ธรรมะเป็นอย่างนี้ และเมื่อเห็นเกิดแล้วดับไป ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย จะรู้ไหมว่า แท้ที่จริงแล้วเห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมะที่ไม่ใช่ใคร และไม่ใช่ของใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าเข้าใจอย่างนี้มั่นคง ก็จะเข้าใจคำว่า “อุปาทานขันธ์” มั่นคง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย และไม่ต้องถามใครเลยด้วย และรู้หนทางว่า หนทางที่จะละอุปาทานขันธ์ หรือดับอุปาทานขันธ์ ความยึดมั่นว่าขันธ์เป็นเราได้ ก็ต่อเมื่อเข้าใจละเอียดขึ้น เพิ่มขึ้นตามปกติ ตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่า “ตามปกติ” ก็แสดงชัดเจนว่า เป็นอนัตตา บังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลย ทุกคำต้องสอดคล้องกัน เป็นปกติคือเดี๋ยวนี้เกิดแล้ว ไม่มีใครทำเลย แล้วตราบใดที่ยังคงยึดถือเห็นว่าเป็นเรา นั่นคือเริ่มเข้าใจในคำที่ได้ยิน ไม่ใช่เพียงแต่จำคำ แต่รู้ว่า ความจริงแล้วเห็นเดี๋ยวนี้แหละเป็นอุปาทานขันธ์ ที่ตั้งของการยึดถือ

        เพราะฉะนั้น ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ละ เพื่อให้ดับอุปาทาน ความเห็นผิด คือ ทิฏฐุปาทาน ที่ยึดมั่นคงว่าเป็นเรา

        เพราะฉะนั้น ทุกคำก็ต้องสอดคล้องกันที่จะฟังด้วยความเข้าใจ ถ้าขณะนี้เข้าใจ ไม่มีเครื่องกั้น แต่ถ้าไม่เข้าใจเมื่อไร ขณะนั้นก็เพราะกิเลส


    หมายเลข 10293
    18 ก.พ. 2567