จะเห็นโทษของธรรมเมื่อไหร่


        วิ. พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงว่า อกุศลจิตมีโทษ ไม่ว่าจะโดยลักษณะที่เดือดร้อนใจขณะนั้นหรือโดยผลของเขาเอง ก็ให้ผลเป็นทุกข์ ดูแล้วรู้สึกว่าเป็นขั้นการพิจารณา แต่ว่าโดยจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจแม้ลักษณะของอกุศลก็จะไม่เห็นโทษของการเกิดดับซึ่งเป็นโทษจริงๆ ของเขาเลย

        สุ. เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนต้องการอะไรตลอดชีวิต ชาตินี้ สุขเวทนาโสมนัสเวทนา ไม่มีใครต้อง การทุกข์กับโทมนัสเลย แต่ไม่รู้เหตุว่าทุกข์โทมนัสหรือสุขเวทนานั้นมาจากไหน แต่ถ้ารู้ก็จะเห็นได้ว่าต้องมาจากอกุศล ขณะใดก็ตามที่เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบเห็นสิ่งนั้น ไม่น่าดู ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ได้กลิ่นลิ้มรส และก็ขณะที่ทุกข์กายต่างๆ ก็ไม่มีใครชอบ ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะเห็นโทษเพียงแค่ของอกุศลกรรม และอกุศลจิต แต่ไม่ได้เห็นโทษว่าแม้กุศลก็ไม่เที่ยง มีขณะไหนบ้างที่เที่ยง ความสุขนิดๆ หน่อยๆ เกิดแล้วดับแล้ว จริงๆ แล้ว ขณะใดก็ตามที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด สภาพธรรมะนั้นไม่ได้ปรากฏกับปัญญา สภาพธรรมะนั้นแม้เป็นกุศลหรืออกุศลก็ดับอย่างเร็วมาก หมดแล้วทั้งนั้น อะไรสำคัญ ความสุขเมื่อวานนี้สำคัญไหม ความสุขเมื่อวานนี้ดับแล้ว ไม่มีความหมายเลย แต่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ที่กำลังปรากฏนี่แหละสำคัญ แต่ขณะนี้ก็ดับอีกเหมือนกัน เหมือนกับเมื่อวานนี้

        เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่เหลือเลย แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นเป็นสาระ เพราะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมะ และมีลักษณะให้รู้จริงๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงรู้แล้วก็ผ่านไป เหมือนสุขก็ผ่านไป ทุกข์ก็ผ่านไป ทั้งหมดผ่านไปหมด ไม่เหลือ แต่สิ่งที่มีที่สติสัมปชัญญะระลึก สิ่งนั้นเหลือที่สติสัมปชัญญะจะศึกษา และเข้าใจความจริงของสิ่งนั้น

        วิ. ทรงแสดงโทษของรูปต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในธรรมะที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีรูป อาการรูปต่างๆ ที่ออกมาก็จะไม่มี

        สุ. ธรรมะทั้งหมดที่เกิดไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็คือว่าเป็นโทษ เพราะเหตุว่า ไม่เที่ยง และติดข้องในสภาพที่ไม่เที่ยง อยากให้เที่ยงจะเป็นทุกข์ไหม นั่นคือ ความหมายของการรู้ทุกขอริยสัจจะซึ่งตามความจริงรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่แม้กระนั้นรูปที่นำมาซึ่งความยินดีพอใจที่ทำให้เกิดติดข้องก็มี และรูปซึ่งทำให้เกิดการไม่ยินดีก็ได้ เพราะฉะนั้นในภาษาไทยเราจะใช้คำสั้นๆ ว่าคุณ และโทษของรูป แต่รูปนั้นเองไม่ใช่สภาพรู้ แม้ว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่เมื่อมีรูป และมีจิตที่รู้รูปก็จะเห็นความน่าพอใจของรูปที่น่าพอใจ และก็เห็นความไม่น่าพอใจของรูปที่ไม่น่าพอใจ

        เพราะฉะนั้นรูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ความติดข้องของเรา ติดรูป พอใจรูป ตั้งแต่เกิดมาพ้นรูปได้ไหม ทั้งทางตาแสวงหาแล้ว ต้องแสวงหารูปที่ทำให้เกิดความน่าพอใจ ขณะนั้นคือคุณ หมายความถึงประโยชน์ คือไม่ได้ทำให้เกิดโทษคือโทสะหรือความโทมนัส แต่ไม่ใช่หมายความว่ารูปนั้นมีคุณหรือว่าเป็นกุศล เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่รูปทั้งๆ ที่ไม่ใช่สภาพรู้ จิต เจตสิก ซึ่งมีรูปก็สามารถที่จะเกิดความรู้สึกแช่มชื่นจากการได้รับรูปขณะใด ขณะนั้นก็กล่าวง่ายๆ สั้นๆ ว่า ขณะนั้นเป็นคุณของรูป เพราะทำให้จิตขณะนั้นเกิดความสุขโสมนัสแช่มชื่น เป็นอย่างนี้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กายหรือเปล่า ทางตาขณะนี้กำลังเห็นอยู่ใช่ไหม มีรูปที่ทำให้เกิดความแช่มชื่นเป็นคุณ สบายใจ ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อน ถ้าเป็นเสียงก็แล้วแต่ว่าจะชอบเสียงอะไร เสียงเพลง ใครร้อง ดนตรีวงไหน นั่นก็เป็นความแช่มชื่นซึ่งทำให้จิตขณะนั้นสบายใจ ทางจมูก กลิ่นหอมบางคนก็ชอบมาก รสตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา เด็กๆ ก็เลือกรส ไม่ใช่ว่าเด็กไม่เลือกรส เด็กแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนก็ชอบลำไย แต่ไม่ชอบข้าวเหนียวเปียกลำไย ชอบลำไยสดๆ ทั้งๆ ที่ก็ชอบลำไย

        นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดก็ตาม ทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่ในภพภูมิซึ่งเป็นไปกับรูป ไม่ใช่มีแต่เฉพาะนามธรรม แต่มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม และจิตก็เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น จิตนั่นเองสามารถที่จะรู้ทุกอย่างได้ สามารถเห็น แต่ต้องมีปัจจัยคือจักขุปสาท และธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาท เห็นจึงเกิด หลังจากนั้นก็คุณของรูป ถ้าเป็นรูปที่นำให้เกิดความแช่มชื่น ขณะนั้นก็เป็นคุณไม่ใช่โทษ นี่ก็คือทั่วๆ ไป แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมะใดก็ตาม ถ้ารู้เพียงว่ารูปไม่ควรเป็นที่น่ายินดีเลย ลักษณะของรูปจริงๆ ก็คือว่าเป็นสภาพที่ไม่งาม เช่นพวกอสุภะต่างๆ คิดถึงขนในลักษณะที่ว่ารูปร่างยังไง อยู่ที่ไหน ผม เล็บ ฟัน หนัง สุดแล้วแต่ว่าจะพรรณาหรือน้อมใจที่จะคิด แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่การรู้จักโทษจริงๆ คือการเกิดขึ้น และดับไป เพียงแต่ว่าขณะใดที่คิดหรือแม้แต่ฟัง บางคนบอกไม่อยากฟัง ขอฟังเรื่องดีๆ ได้ไหม อย่าพูดเรื่องสมอง อย่าพูดเรื่องโลหิต อย่าพูดเรื่องตับ ไต พวกนี้เลย นั่นก็เป็นเรื่องของอัธยาศัย

        เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะพรรณาโทษแต่ไม่ได้เห็นโทษตามความเป็นจริง การที่จะเห็นโทษของธรรมะก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมะ ไม่ใช่เพียงแต่คิดเรื่องราวของสภาพธรรมะ เพราะว่าสภาพธรรมะชื่อว่าตับ ลักษณะจริงๆ คืออะไร พ้นจากอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว สี กลิ่น รส โอชา ได้ไหม ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคำที่เราใช้เรียกรูปใดๆ ก็ตาม ก็แท้ที่จริงแล้วก็เป็นธาตุซึ่งอยู่รวมกัน เกิดพร้อมกัน แล้วก็แปรเปลี่ยนไปตามสีสันวัณณะที่ทำให้สมมุติเรียกตามส่วนสัดของธาตุนั้นๆ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 190


    หมายเลข 10370
    28 ม.ค. 2567