ความเป็นเรา ลวงให้เพียรเพื่อที่จะได้ แต่ไม่ใช่เพื่อละ


        ผู้ถาม ให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความในเรื่องที่เกี่ยวกับโมหมูลจิตตรงนี้ก่อน ที่ท่านอธิบายโมหะว่าลวง ว่าสัมโมหะย่อมลวงเสมือนว่าเป็นการวางเฉยด้วยปัญญาในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์

        สุ. นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ความต่าง มิฉะนั้นก็จะถูกลวงต่อไป เพราะว่าโมหะไม่สามารถจะรู้ถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริงได้เลย ไม่รู้ความจริง แต่เวลาไม่รู้ และก็ได้ยินว่าอุเบกขา (ความวางเฉย) ก็เข้าใจว่าขณะที่ไม่รู้คือความวางเฉยซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นบางคนก็พยายามวางเฉย แต่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกต้อง เช่น ถ้าเห็นคนที่ได้รับทุกข์ ได้รับสุขใดๆ ก็ตามแต่ก็เหมือนกับว่าจะไม่ยินดียินร้ายกับใครทั้งนั้น เป็นผู้ที่วางเฉย หลอกลวงง่ายมาก และนอกจากจะหลอกลวงตัวเอง ยังหลอกลวงคนอื่นอีก ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าคนนี้ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์อย่างไรของใครทั้งสิ้นก็ไม่หวั่นไหวไม่เดือดร้อน แต่ความจริงขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นถูก ไม่ใช่กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเพราะไม่รู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของๆ ตน มีใครบ้างที่อ่านเรื่องราวตามข่าวหนังสือพิมพ์หรือวิทยุต่างๆ แล้วก็มีเรื่องร้ายบ้าง เรื่องดีบ้าง จะไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะที่ได้ยินได้ฟัง ก็เกิดโลภะบ้าง เกิดโทสะขุ่นข้องไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร แม้เรื่องลำไย เรื่องตลาด เรื่องการเมือง เรื่องอะไรก็แล้วแต่ พอได้ยินแล้วก็ต้องหวั่นไหวไปด้วยโลภะ โทสะ แต่คนที่คิดว่าต้องวางเฉย ทั้งๆ ที่ไม่รู้ธรรมอะไรเลยทั้งสิ้นก็ไม่สนใจ จะเป็นยังไงก็ไม่สนใจ แต่ว่าขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่เป็นความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่กระทบหู แล้วก็ต่อไปถึงใจ แล้วก็คิดนึก หรือว่าไม่ได้รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย ไม่มีใครเป็นผู้จัดการโลก มีไหม สักคนหนึ่ง ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้นก็ตาม เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ก็วางเฉย ไม่รู้ไม่ชี้ทั้งนั้น อะไรจะเกิดขึ้นทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ว่าคนนี้ไม่มีโลภะแล้ว ไม่มีโทสะแล้ว ไม่หวั่นไหวแล้ว แต่ความจริงเพราะไม่รู้ อันนี้ก็เป็นได้ ก็เป็นความหลอกลวงประการหนึ่ง

        ธิ. อย่างลักษณะของโลภะที่ประกอบกับอุเบกขาเวทนา ลวงได้ไหมว่าวางเฉยด้วย

        สุ. ด้วย แน่นอน สภาพที่หลอกลวงก็ต้องเป็นโลภะด้วย โมหะด้วย แต่ละลักษณะซึ่งเป็นอกุศล กุศลจะไม่หลอกลวง แต่ถ้าเป็นอกุศล ความเป็นเรา และก็ความเป็นมายาที่ต้องการจะให้คนอื่นเห็นเป็นอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ตัวเองไม่ยอมรับความจริง ขณะนั้นก็ลวงอีก โดยที่ว่าเพราะโมหะความไม่รู้ ไม่ใช่ความรู้ถูกต้อง ทำให้ลวงเข้าใจว่าตัวเองรู้แล้วก็ได้ เข้าใจว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกก็ได้

        ผู้ถาม การกระทำที่เป็นไปในกุศลมากๆ ก็เพียรที่จะทำให้กุศลจิต กุศลกรรมเกิดมากขึ้น ก็เรียกว่าตัวเองอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันโดยมีความเข้าใจว่าอันนี้เป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรที่หลอกลวงหรือเปล่า

        สุ. ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปเพื่อการละ ก็ลวงด้วยความต้องการ ด้วยความเป็นเรา ลวงให้เพียรเพื่อที่จะได้ แต่ไม่ใช่เพื่อละ เพื่อรู้ตามความเป็นจริง เพียรที่เกิดกับอกุศลจิตจะดีไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

        ผู้ถาม จะชี้ได้อย่างไรว่าขณะไหน

        สุ. ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด แม้โมหมูลจิตที่ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นด้วยความไม่รู้จึงเพียรด้วย ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ความเพียรนี่จะชื่อว่าเพียรดีหรือเพียรชอบไม่ได้ เพราะเพียรด้วยความไม่รู้ เป็นความเพียรที่ถูกต้องไม่ได้

        ผู้ถาม ในขณะที่เดินจงกมหรือนั่งสมาธิอย่างนั้นเป็นความเพียรชอบ

        สุ. ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่เฉพะแต่ความไม่รู้อย่างเดียว เพราะมีความเข้าใจผิดว่าหนทางนั้นจะทำให้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

        อ.อรรณพ ท่านกล่าวว่าอุทธัจจะย่อมลวงเสมือนการปรารภความเพียร

        สุ. อุทธัจจะเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท หมดความสงสัยเลยใช่ไหม

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198


    หมายเลข 10516
    28 ม.ค. 2567