อดีตเหตุ-ปัจจุบันผล ปัจจุบันเหตุ-อนาคตผล


        วิ. ขอถามเกี่ยวกับเรื่องของอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารๆ จะมี ๓ อย่าง โดยความเป็นอปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร ถ้าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่อปุญญาภิสังขาร โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต (อวิชชา) ก็เป็นปัจจัยแก่เจตนาในอกุศลธรรมเหล่านั้น แต่ถ้ากล่าวโดยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารคือเจตนาที่เป็นกุศลธรรม คืออวิชชาจะเป็นปัจจัยแก่เจตนาที่เป็นกุศลทุกครั้ง หรือว่าเป็นปัจจัยแก่เจตนาที่เป็นกุศลบางคราวเท่านั้น

        สุ. ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ อวิชชาก็เป็นสาธารณเหตุ ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม แต่ก็ยังมีอวิชชาที่ยังไม่ได้ดับอยู่นั่นเองเป็นปกตูนิสสยปัจจัย

        วิ. ที่ท่านแสดงเป็นปัจจัย ๒ อย่างคือโดยความเป็นอารมณ์หรือความเป็นปกตูนิสสยปัจจัย แต่มีความรู้สึกว่าบางคราว เราก็ไม่ได้ปรารภอวิชชาเลย

        สุ. เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของอวิชชาเลย จึงไม่ใช่อารมณ์ ถูกต้องไหม

        วิ. แสดงว่าถ้าตราบใดยังมีอวิชชาอยู่ก็ยังเป็นปกตูนิสสยปัจจัยให้มีการกระทำที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

        สุ. ยังไม่ออกจากสังสารวัฏ

        วิ ถ้ากล่าวโดยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร กับอุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพที่เป็นกรรมภพ จะมีความต่างกันไหม โดยกาลหรือว่าอย่างไร

        สุ. แล้วแต่นัย บางแห่งจะกล่าวว่าตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน หมายความว่าขณะแรกของชวนจิตเป็นปัจจัยแก่ตัณหาขณะที่สองซึ่งเป็นอุปาทาน นั่นก็ในขณะที่วาระเดียวกัน ก็แล้วแต่ปัจจัย

        วิ. ถ้ากล่าวโดยอุปาทานที่เป็นปัจจัยแก่ภพ กับอวิชชาซึ่งกรรมภพก็หมายถึงเจตนา

        สุ. กรรมภพหมายความถึงเจตนา

        วิ. จะเป็นนัยโดยเทศนาที่ว่ากล่าวโดยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารโดยในกาลที่เป็นอดีตใช่ไหมครับ แต่ถ้าเป็นอุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพคือปัจจุบัน

        สุ. เพราะเหตุว่าในขณะนั้นภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ อันนั้นเป็นชาติต่อไป เพราะฉะนั้นในขณะที่ไม่กล่าวถึงชาติต่อไปก็ต้องเป็นในชาตินั้น

        ผู้ถาม อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร และอุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ขอความชัดเจนอีกครั้ง เมื่ออุปาทานเป็นปัจจัยแก่กรรมภพ ปฏิจสมุปบาทครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่งเหมือนกัน ตัณหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ โดยไม่มีอวิชชาเป็นปัจจัยเลย และอวิชชานั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิจสมุปบาทในปัจจุบันที่จะส่งผลหรือเปล่า

        สุ. เวลาที่แสดงเรื่องของปฏิจสมุปบาทจะกล่าวถึงแต่ละองค์ และก็อธิบายโดยละเอียด อย่างที่จะพูดถึงอวิชชา ได้แก่ โมหเจตสิก พอพูดถึงสังขารก็ได้แก่เจตนาเจตสิกในขณะไหนบ้าง ขณะที่เป็นกามาวจรกรรมหรือว่ารูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กล่าวถึงแต่ละองค์ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงตัณหาก็หมายถึงโลภเจตสิกเกิด ไม่ได้เกิดขณะเดียว ขณะที่เป็นชวนะก็จะมีโลภมูลจิตซึ่งมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ในที่บางแห่งจะแสดงว่าขณะแรกเป็นตัณหา แต่ว่าขณะที่สองมีกำลังขึ้นเป็นอุปาทาน และเมื่อมีโลภะเกิดขึ้นแล้วมีความยึดมั่นก็จะเป็นเหตุให้กระทำกรรมซึ่งเมื่อมีกรรมเป็นกรรมภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติซึ่งเป็นชาติต่อไป เพราะฉะนั้นก็มีทั้งอดีตเหตุที่ได้กระทำแล้วซึ่งเป็นปัจจัยให้ปัจจุบันผลเกิดขึ้น และก็ปัจจุบันเหตุก็จะเป็นปัจจัยให้อนาคตผลเกิดขึ้น เพราะว่าการเกิดสืบต่อในสังสารวัฏ ไม่ใช่มีเพียงขณะเดียวหรือชาติเดียว แม้แต่ชาตินี้ก็มาจากอดีตเหตุคือสังขารขันธ์ที่เกิดจากอวิชชา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 200


    หมายเลข 10557
    25 ม.ค. 2567