โล่งใจที่พ้นมาจากความต้องการที่จะให้สติปัฏฐานเกิด


        วิ. ขอเรียนถามท่านอาจารย์ย้อนกลับไปตรงที่ท่านอาจารย์ถามว่า ตัวเรามีอะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร ก็เลยคิดถึงเรื่องการเจริญสติคล้ายๆ ว่าก่อนที่จะมีความเข้าใจก็มีการฟังจากที่อื่นๆ ว่าให้ดู ให้พิจารณา เพราะเสมือนว่าตัวเราที่ไปดูว่ามีเวทนาความรู้สึกบ้าง ว่าโกรธ โลภ ต่างๆ บ้าง พอมีความเข้าใจมากขึ้นก็รู้ว่าไม่ใช่ให้ตัวตนไปดู แต่ว่าเป็นสติที่เกิดรู้ แต่ความเหนียวแน่นที่เป็นตัวเรา บางครั้งก็รู้สึกยินดี แต่ความเข้าใจที่มากขึ้นรู้สึกจะค่อยๆ ละคลายในส่วนนั้นลง คือคล้ายๆ มีความรู้สึกว่าการจะเดินดูเหมือนจะยากตรงที่ว่าไม่ให้เป็นตัวเรา ที่ว่าแม้สติเกิดแต่ความยึดถือยังมี

        สุ. ความละเอียดมี ๒ อย่าง คือถ้าได้รับคำบอกเล่าให้ดู นี่อย่างหนึ่งแล้วที่ต่างกัน การที่ให้ค่อยๆ เข้าใจว่าความจริงแล้วสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อย่างไหนเป็นพื้นฐาน ที่จะทำให้มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ตามความเป็นจริง คือถ้าไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ไม่มีใครที่ดู แล้วจะไปรู้อะไรได้ถูกต้องจนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ก็มีความเป็นตัวเราแน่นอนที่กำลังดูนี่อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นแม้แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกหรือผิดระดับไหนก็ต้องรู้ แต่ว่าที่สำคัญจริงๆ คือพื้นฐานของคนที่มีความเข้าใจธรรม เมื่อได้ยินได้ฟังก็สามารถที่จะอย่างน้อยที่สุดไม่ลืมว่าแม้สติก็เป็นอนัตตา มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรไปเกื้อกูลให้รู้ว่าขณะนั้นมีความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้แม้แต่การที่จะได้ยินได้ฟังคำพูดก็ต้องพิจารณาว่าคำพูดนั้นทำให้เรามีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน หรือว่ามีความเป็นตัวตนที่คิดว่าบุคคลนั้นสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมได้โดยไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น โดยเป็นความนิยมที่จะไปดูสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ปัญญาเกิดนี่อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแล้วถูกต้อง มีการที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ความเป็นเรามากมาย แล้วก็โลภะฉลาด แต่ไม่ใช่ปัญญา คือสามารถที่จะมาได้ทุกโอกาสที่จะทำให้เข้าใจผิดเห็นผิดสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นฟังระดับหนึ่งจริงๆ ถ้าจะเทียบกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ก็ยังมีความเป็นเรามากมายเพราะเหตุว่าการที่จะค่อยๆ ละคลายไปได้ไม่ได้เพียงการฟังสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะต้องมีการรู้ที่ถูกต้องด้วยในขณะที่สภาพธรรมเกิด เช่น เวลาที่ฟังก็คงจะมีบางท่านที่มีการจงใจให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความรวดเร็ว มีแข็ง รู้แข็ง ตรงแข็ง ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นจะมีความจงใจเกิดขึ้นอย่างเร็วมากที่จะรู้ตรงแข็งก็เป็นได้นี่หนึ่ง เมื่อได้ฟังต่อไปอีกมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น อันนี้สำคัญที่สุดที่จะว่าแม้ขณะนั้นก็ยังสามารถที่จะรู้ว่ามีความจงใจเกิดขึ้นแล้วที่จะรู้ตรงแข็ง ทีนี้ผู้นั้นก็จะต้องเข้าใจว่าการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละโดยตลอด หนทางที่จะปลอดภัยจากโลภะคือรู้ว่าเป็นเรื่องละ แต่เรื่องละนี่ต้องยากสักแค่ไหน ในเมื่อก่อนนั้นไม่เคยเป็นเรื่องละเลย เป็นแต่เรื่องจะเอาหมด จะได้หมด ไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือแม้แต่ผลของการที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็มีโลภะที่จะนำไปให้ประพฤติอย่างนี้ จะได้อย่างนั้น ทำอย่างนี้จะประจักษ์แจ้งหรือว่าจะรู้เร็วให้นั่ง หรือว่าให้เดิน ให้รับประทานน้อยๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งคิดว่าขณะนั้นเป็นอุบาย เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ก็ผิดทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้แต่เป็นความหวัง และก็ทำให้มีความประพฤติตามความหวังนั้นด้วย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความละเอียดต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ ไม่มีใครพ้นโลภะไปได้ง่ายๆ แม้แต่เพียงขั้นฟังที่จะให้พิจารณาว่าหนทางใดถูก หนทางใดผิด โลภะจะปล่อยให้ไปรู้ว่าเป็นเรื่องของการสะสม เป็นอนัตตา มีความอดทนไหมที่จะเป็นปกติ วันนี้สติปัฏฐานไม่เกิดก็ถูกต้อง เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลงลืมสติ ถ้าอยากเมื่อไหร่ ทำเมื่อไหร่ จะรู้ไหมว่านั่นไม่ใช่หนทาง เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้ว่าความอดทนที่นี่มหาศาลระดับไหน และก็จะเห็นได้ว่าถ้าเพียงแต่จะออกจากโลภะ ความอยาก และก็มีความเห็นถูก และเปิดโอกาสไม่มีความอยากจะมาควบคุม มีปัจจัยที่สติสัมปชัญญะเกิด ผู้นั้นจะโล่งใจที่จะพ้นมาจากความต้องการที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่าขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดแล้ว อย่างขณะนี้ก็อาจจะสลับกันได้ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมมาเพียงพอ เพราะเหตุว่าเมื่อมีปัจจัยสติปัฏฐานก็เกิด และก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โลภะก็ตามมาอีกได้ ที่อยากจะให้สติเกิดอีก นี่ก็เป็นเรื่องที่ตลอดของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละโลภะกับความเห็นผิด ต้องเป็นเรื่องที่เห็นโลภะ และจึงจะค่อยๆ จะละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก่อน ไม่ใช่ไปละเรื่องอื่น ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ละเอียด และก็ด้วยเหตุใดที่พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรัสรู้จึงไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เป็นเรื่องที่เป็นธรรมดาแต่ต้องอดทน ขณะนี้กำลังเป็นบารมีที่มีปัญญาบารมีเริ่มที่จะเข้าใจถูกต้อง มีความอดทน มีสัจจะ มีความมั่นคงคืออธิษฐานที่จะรู้ว่าไม่มีหนทางอื่นเลยนอกจากหนทางนี้ ถ้าเป็นปกติแล้วสติเกิดได้ จะดีกว่ากำลังต้องการให้สติเกิด และก็คิดว่าสติเกิดนาน แล้วเดี๋ยวก็รู้นั่นรู้นี่ แต่ว่าเป็นเราตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่เทียบกันไม่ได้ระหว่างมิจฉาสติกับสัมมาสติ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเรื่องละ และก็เป็นเรื่องรู้ และก็ทุกอย่างเกิดขึ้นก็เพราะเหตุปัจจัย ถึงแม้ว่าสติจะเกิดก็คือสติ ดับแล้วก็คือดับไป ก็มีปัจจัยที่จะให้ไม่ติด และไม่มีความเป็นตัวตนที่แทรกเข้ามา แต่ห้ามยากเพราะเหตุว่ามาเสมอ แต่ปัญญานั่นเองที่จะเป็นลักษณะที่เข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นไม่ใช่หนทางเพราะว่าโลภะกำลังที่จะทำให้เปลี่ยนจากหนทางที่ถูกไปสู่หนทางที่ผิด ต้องรู้ว่าเป็นธรรมดาที่โลภะจะแทรกเข้ามาเมื่อไหร่ ก็คือธรรมดาเพราะเหตุปัจจัยที่ให้โลภะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204


    หมายเลข 10674
    25 ม.ค. 2567