รู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทวารโดยทั่วและก็โดยคลายด้วย


        วิ. ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องของการที่อยากจะรู้แข็ง ใช้สติระลึกรู้ที่แข็งก็เอื้อมมือไปจับ แล้วก็ให้เกิดความรู้สึกแข็งขึ้นมา อันนั้นก็คือไม่ใช่อย่างนั้น บางครั้งแต่ก่อนก็มีความรู้สึกว่า อย่างเช่นสติเกิดจากเหตุปัจจัย ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมมากๆ ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิด ก็รู้สึกว่าต้องฟังมากๆ ก็เลยมีความสงสัยว่าจะเป็นตัวตนหรือเปล่า แต่พอฟังมากๆ ก็รู้สึกว่าเป็นปกติมากขึ้น คือไม่คำนึกถึงตรงจุดนั้น

        สุ. รอหรือเปล่า รอสติไหม ฟังมากๆ ฟังมากๆ แล้วก็รอด้วยหรือเปล่า หรือว่าเข้าใจมากขึ้นแล้วสติก็เกิด แล้วจะรู้เลยว่าการที่เราเป็นอิสระจากโลภะไปแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย สภาพธรรมจริงๆ ที่จะปรากฏต้องเป็นความชัดเจนอย่างยิ่งเพราะไม่มีอะไรเคลือบหรือว่าปิดบัง แต่ทีนี้ส่วนใหญ่ เรามีความเป็นเรามานานแสนนานมาก ที่จะไม่ให้มีความเป็นเราเป็นไปไม่ได้เพราะว่าสติยังไม่ได้เกิดพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทวารโดยทั่ว และก็โดยคลายด้วย ต้องมีการคลายเพราะความรู้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ สามารถที่จะจากไม่รู้แล้วไปประจักษ์โดยที่ไม่มีการคลายความไม่รู้เลย ที่พิสูจน์ได้ขณะนี้คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ฟังมานานมากเลย เป็นธรรมมีจริง เป็นวัณณธาตุ เวลาที่ปรากฏก็ปรากฏลักษณะของวัณณธาตุนั่นเอง คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และขณะนี้วันหนึ่งๆ สัมมาสติที่จะค่อยๆ เข้าใจเพราะขณะนั้นต้องเป็นสติที่มีการระลึกได้ จึงกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปใช้คำว่าสติปัฏฐานไหน หรืออะไรทั้งสิ้น แต่ว่าขณะใดที่มีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามปกติ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เริ่มเกิดเป็นปกติ มิฉะนั้นแล้วจะมีการสับสน และจะมีการพยายาม และจะมีการปกปิดยิ่งขึ้นเพราะว่าหนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูก แต่กว่าจะเห็นผลของการที่พ้นจากโลภะจนกระทั่งปรากฏว่าลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่มีโลภะเป็นเครื่องกั้น เพราะเหตุว่ามีความอาจหาญร่าเริงหรือที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงธรรมที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้อย่างช้ามาก เกือบจะไม่เห็นผลเหมือนการจับด้ามมีด แต่ผลต้องมีเพราะมีความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดซึ่งเป็นสติปัฏฐานกับขณะที่หลงลืมสติ ความต่างโดยเหตุมีแล้ว เพราะฉะนั้นความต่างโดยเหตุที่มีก็ย่อมนำไปสู่ผลที่ต่างกัน แต่ต้องอดทน

        วิ. ก็มีความรู้สึกว่าเข้าใจมากขึ้น ก็จะรู้ว่าขณะใดที่มีความหวังซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นความเข้าใจถูก อย่างต้องการฟังมากๆ ก็เป็นเพียงแค่การต้องการจะฟัง แต่ไม่ใช่ขณะที่ฟังแล้วเป็นปัจจัยให้สติเกิด

        สุ. เพราะฉะนั้นการที่เราพูดถึงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ จะเป็นเครื่องเตือน เพราะยิ่งพูดถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางหู ลักษณะทุกอย่างปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเป็นประจำ ถ้าพูดถึงลักษณะ เน้นถึงลักษณะบ่อยๆ สติก็จะเกิดรู้ลักษณะ ตรงลักษณะนั้น แต่ถ้าไม่พูดถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะให้สติเกิดไปรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าเป็นลักษณะที่มีจริง สติรู้ได้เพราะว่ากำลังปรากฏ ขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยพอที่สติจะค่อยๆ เกิดเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ แต่หนทางอื่นที่จะเป็นหนทางลัดไม่มีเลย เพราะหนทางลัดก็คือหนทางผิด ลัดคือไม่รู้ แต่นี่เป็นการค่อยๆ ละความไม่รู้ซึ่งสะสมมานานมาก นับไม่ถ้วนเลยในแสนโกฏิกัปป์ ทำให้เกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้เมื่อนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการได้ฟังพระธรรม และก็เป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงถ้าปัญญาเริ่มเข้าใจแม้ในขั้นการฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้มีการค่อยๆ รู้ลักษณะ ระลึกถึงลักษณะ เพราะว่ากล่าวถึงลักษณะบ่อยๆ ว่าไม่มีเรา แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏทั้งวันทางหนึ่งทางใดที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 204


    หมายเลข 10676
    25 ม.ค. 2567