ความเป็นตัวตนพยายามที่จะปรุงแต่งอยู่เสมอเพราะคิดว่าถูกหนทาง -พฐ.208


        สุ. สภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดซึ่งเกิดแล้วดับไม่เที่ยงเลย เป็นของเราเมื่อไหร่ อันไหน หมดไปแล้วๆ เวลาเกิดก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เป็นหนทางที่จะดับทุกข์เพราะรู้สมุทัย อวิชชา และโลภะทำให้มีความติดข้อง แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ถ้าศึกษาประวัติของพระสาวกที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองทุกคนก็ทราบ เป็นองค์ที่ยิ่งด้วยปัญญารู้แจ้งเป็นอริยสัจธรรม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทุกคนก็ทราบ ถ้าเป็นองค์ที่ยิ่งด้วยปัญญาก็ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ๆ นี่ต้องพูดไหม ไม่ต้องไปคิดถึงเลยเพราะว่าอยู่มาแล้วเกิน ๑ กัปป์มาเรื่อยๆ ทีละหนึ่งขณะผ่านไปเรื่อยๆ ผ่านมาแล้วเรื่อยๆ แล้วก็จะผ่านต่อไปอีกเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ใครจะดับเหตุของทุกข์ได้เพราะว่าเกิดมาเพียงเพื่อจะเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพลิดเพลินไปในแต่ละวัน แต่ไม่มีอะไรเหลือเลยสักขณะเดียว แม้ในขณะนี้ก็ผ่านไปทีละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นก็จะต้องฟังด้วยความเข้าใจ และเห็นคุณของพระธรรม ถ้าไม่มีพระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาทรงแสดงไว้ให้พุทธบริษัทได้ศึกษาได้เข้าใจ ใครคิดเองได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นมั่นคงที่สุดก็คือไม่ต้องสนใจกับสิ่งที่เกิดแล้ว เรามักจะคิดว่าเราจะพยายามไม่ให้เกิด เช่นจะไม่ดูโทรทัศน์ นี่ยังไม่ได้ดู คิดว่าจะไม่ดูเลย แต่ว่าขณะนี้เห็นแล้ว ถึงไม่ใช่โทรทัศน์ก็เห็นแล้วๆ ควรจะรู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้ว หรือพยายามไปจำกัดขอบเขตด้วยความเป็นเรา แล้วก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ก็คือไม่รู้จักหนทางหรือหนทางที่เข้าใจถูกนั้นคือผิด เพราะว่าไม่ได้ทรงแสดงเลยว่าปุถุชนจะสามารถที่จะละความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ แม้พระโสดาบันก็ละไม่ได้ ต้องถึงความเป็นพระอนาคามี ข้อสำคัญที่สุดก็คือความเป็นเรา ความเป็นตัวตน พยายามที่จะปรุงแต่งอยู่เสมอโดยที่ว่าคิดว่าถูกหนทาง แต่ไม่รู้หรอกแม้แต่ขณะที่คิดก็คือสภาพธรรมที่เกิดแล้วคิดอย่างนั้น ชั่วขณะที่คิด ขณะอื่นไม่เห็นคิดอย่างนี้เลย เป็นครั้งเป็นคราว คิดบ้างไม่คิดบ้างซึ่งความจริงแล้วก็คือว่าผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลคือผู้ที่มีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะคือไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าสติสัมปชัญญะเป็นธรรมต่างกับธรรมอื่นอย่างไร ต่างกับวิตกเจตสิก ต่างกับผัสสเจตสิก ต่างกับเจตนาเจตสิกเพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดทางฝ่ายอกุศลเลย ถ้ามีอกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นจะกล่าวว่าเป็นสตินี่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ความไม่รู้ก็อาจจะคิดว่าเป็นสติแต่ความจริงไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้นสติที่เป็นโสภณธรรมก็จะเป็นธรรมฝ่ายดี ในขณะที่ระลึกเป็นไปในการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นเนกขัมมะ สละความติดข้องในกามคือในวัตถุที่จะให้ นี่เพราะสติเกิดเป็นไปในการให้ ถ้าเป็นการวิรัติทุจริตก็เป็นสติที่ระลึกได้ที่จะไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยแก่บุคคลอื่นทั้งกาย และวาจาด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะกาย แต่วาจาก็ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ นั่นก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่สติจึงสามารถที่จะกระทำอกุศลกรรมหรือว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นทำให้มีกาย วาจาที่เป็นไปในอกุศล เพราะฉะนั้นสติก็จะเป็นไปตามการสะสมที่ได้สะสมมาแล้วเป็นทานุปนิสัยหรือเป็นสีลุปนุสัย หรือเป็นภาวนุปนุสัย แต่ภาวนาหรือการอบรมต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ทุกขณะที่มีความเข้าใจ ขณะนั้นกำลังอบรมความเห็นถูกต้องในสภาพที่เป็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล แต่การอบรมนั้นก็มี ๒ อย่างคืออบรมความสงบของจิตอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งคืออบรมเจริญความรู้ถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ อันนั้นก็ไม่ใช่เพียงความสงบแต่ว่าเป็นการสามารถที่ปัญญาจะรู้แจ้งชัดประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้นจะศึกษาอะไร ต้องให้เป็นความเข้าใจจริงๆ และก็ต้องรู้จริงด้วยว่าอนัตตาเปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่ยังไม่เกิด พยายามไปไม่ให้เกิด แต่ไม่รู้สิ่งที่เกิดแล้วคือความคิดในขณะนั้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 208


    หมายเลข 10698
    25 ม.ค. 2567