เพราะไม่รู้จึงติดข้อง


        อ.อรรณพ พระองค์ท่านก็ได้ทรงเปรียบความไม่รู้คืออวิชชาเหมือนข้าศึกใหญ่ซึ่งขณะนี้เรายังไม่เห็นเลยว่ามีอวิชชา ยังไม่เห็นตัวข้าศึกเลย ยังไม่ต้องไปพูดถึงการที่จะชนะข้าศึกนั้นได้ สภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิดบ่อยขึ้นสะสมจนกระทั่งวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ เกิดก็เป็นผู้ที่ยิงไกล ก็คือรู้ในสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ที่ปรากฏ พระองค์ก็เปรียบอวิชชาเหมือนกับผ้าที่สกปรกมาก การที่จะกำจัดมลทินที่สกปรกจากผ้านั้นก็ต้องมีการซักล้างด้วยมรรคปัญญา อริยมรรคก็เริ่มตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐาน

        วิ. เรียนถามท่านอาจารย์ว่าที่ตรัสเรื่องอวิชชา และตัณหาเป็นประธานของวัฏฏะอันนี้ยังไงครับ

        สุ. เพราะความไม่รู้จึงมีความพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นเรื่องที่ใครก็จะเปลี่ยนแปลงการเกิดดับของจิตที่สืบต่อกันไม่ได้เลย เมื่อมีปัจจัยคือยังมีกิเลสอยู่ และก็มีกรรมที่จะทำให้มีปฏิสนธิ ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิใดก็ตามเพียงหนึ่งขณะ แล้วก็จะไม่มีจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเลย เพราะว่าปฏิสนธิกิจคือกิจของจิตซึ่งทำกิจเกิดขึ้นในภพต่อจากภพที่จุติจิตของชาติก่อนดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เพียงชั่วขณะเดียว แต่กรรมไม่ได้ทำให้จิตเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะคือปฏิสนธิ แต่ยังทำให้จิตขณะต่อไปสืบต่อเป็นผลของกรรมที่จะทำให้ดำรงอยู่ในภพชาตินั้นจนกว่าจะสิ้นกรรมที่จะทำให้ไม่เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป เมื่อมีปฏิสนธิ มีภวังค์ ก็ยังมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสโดยความไม่รู้ เช่นในขณะนี้ก็เกิดมาแล้วๆ ก็ไม่ได้เกิดมาชาตินี้ชาติเดียว เกิดมากี่ชาติ แต่กำลังเห็นขณะนี้ รู้ความจริงหรือเปล่าว่าเป็นธรรม แม้แต่จิตทุกคนก็ฟังเหมือนเข้าใจ ก็ยังมีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย ทุกคนมีจิต มีความคิดนึก มีการเห็น มีการได้ยิน แต่รู้หรือเปล่าว่าจิตเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีทั้งหมดด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ แม้ว่าจะเรียกชื่อ แม้ว่าลักษณะนั้นก็มี เช่น ความคิดนึก ทุกคนก็คิด แต่เป็นเราหมดเลยด้วยความไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วทำไมแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แลกกันไม่ได้เลย แม้แต่คนเดียว ขณะต่อไปจะคิดอะไรก็ไม่รู้เพราะเหตุว่าการคิดต้องเกิดเพราะการสะสมสัญญาความจำทำให้มีการตรึกนึกถึงสิ่งที่กำลังคิดถึงในขณะนั้นได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้นว่าแต่ละขณะเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ใครสักคนเดียว ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย และจะเลือกให้สิ่งนั้นเกิดสิ่งนี้เกิดก็ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ด้วยเหตุนี้เมื่อมีความไม่รู้จึงมีความติดข้องโดยไม่รู้ตัวด้วย ขณะปกติธรรมดาหลังจากที่เห็นแล้วทราบไหมว่าติดข้องแล้ว ไม่รู้ตัวเลย แล้วจะมากสักแค่ไหนถ้าลักษณะของความติดข้องนั้นไม่ปรากฏ แต่ว่าเวลาที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังมีความติดข้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเรื่องติดนี่เป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานว่าเมื่อมีความไม่รู้ก็ย่อมยินดีพอใจ อย่างจิตเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ยินดีในอารมณ์ ตัวจิต ไม่ใช่เป็นตัวเจตสิกซึ่งเป็นโทสะหรือโลภะ แต่ว่าจิตจะมีอะไรนอกจากอารมณ์ จิตเกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ขณะนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับจิตเองก็เหลือเพียงอารมณ์คือเป็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นที่มายินดีของจิตจนกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีความรู้ละเอียดที่จะสามารถละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ได้

        ผู้ถาม เพราะไม่รู้จึงติดข้อง แต่เหตุใดตัณหาจึงเป็นสมุทัย

        สุ. ถ้าคิดถึงสภาวธรรมที่ไม่รู้ๆ แล้วจะพอใจได้ไหมเพราะลักษณะไม่รู้มีอย่างเดียวคือไม่รู้เท่านั้นเอง ไม่ใช่ลักษณะของการติดข้อง แต่เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เมื่อติดข้องแล้วมีความขวนขวายไหม ที่เราแสวงหาสิ่งต่างๆ เพราะความติดข้องหรือเปล่า เราแสวงหาต่างๆ กันเพราะความติดข้องที่สะสมมาต่างๆ กัน บางคนแสวงหารูป บางคนแสวงหาเสียง ก็แล้วแต่ บางคนก็ชอบปลูกต้นไม้ บางคนก็ชอบทำอาหาร ก็เป็นเรื่องของความพอใจ ความติดข้องซึ่งอวิชชาไม่ได้ปรากฏเลยขณะนั้น แต่ความติดข้องปรากฏ มีไหมที่ขณะใดที่โกรธแล้วรู้ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้นมีอวิชชา ความไม่รู้ จึงได้โกรธ หรือขณะที่ติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่าเพราะอวิชชาจึงมีความติดข้องต้องการ แต่ลักษณะของความติดข้องปรากฏให้รู้ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209


    หมายเลข 10722
    25 ม.ค. 2567