พุทธบริษัท คือใคร


    อ.อรรณพ พุทธบริษัท มีทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ แต่พุทธบริษัทที่เป็นบรรพชิต มีความสูงส่งเพียงใด ต่างกับคฤหัสถ์อย่างไร


    ท่านอาจารย์ พุทธบริษัทคือใคร เห็นหรือไม่ ทุกคำถาม จะต้องรู้จริงๆ จากคำตอบว่าคืออะไรก่อน พุทธะคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน บริษัทคือผู้ที่รวมกัน และก็เป็นผู้ที่ศึกษาธรรม คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถจะรู้ได้ แต่ถ้าไม่ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพุทธบริษัทหรือไม่ ไม่มี แต่ที่ใช้คำว่าพุทธบริษัทที่ต่างกัน ก็เพราะเหตุว่าบุคคลแต่ละคนมีอัธยาศัยต่างกัน

    ในครั้งพุทธกาล คนที่ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรม รู้ถึงเหตุที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะถึงความเป็นผู้ทรงตรัสรู้สิ่งที่ท่านเหล่านั้นกำลังฟัง โดยการขัดเกลากิเลส นานมาก และในเพศของบรรพชิตก็มี ในเพศของคฤหัสถ์ก็มี บรรพชิตคือผู้ที่สละ ละอาคารบ้านเรือน ความสะดวกสบายชีวิตอย่างคฤหัสถ์เหมือนเดิม เป็นผู้ที่ไม่มีความประพฤติอย่างคฤหัสถ์อีกต่อไป ทันทีที่บวช ต้องสำนึกแล้วเราไม่ใช่คฤหัสถ์ นี่แสดงความต่างกันแล้ว แต่ว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ผู้ใดที่ฟังสามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นอัธยาศัยอย่างไรก็ตาม แต่ในเมื่อคนที่ไม่ได้มีอัธยาศัยที่จะดำเนินตามรอยพระบาท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสละเพศของคฤหัสถ์ ท่านเหล่านั้นฟังธรรม เป็นพุทธบริษัทที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยเจ้าในเพศคฤหัสถ์ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เมื่อไรได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลส หมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นจึงบวช แสดงให้เห็นอะไร แสดงให้เห็นว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงในเพศใดก็ได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสที่สะสมมา ไม่สามารถจะสละอาคารบ้านเรือน ก็อบรมเจริญปัญญาในเพศคฤหัสถ์ ต่อเมื่อไร ดับกิเลสหมดแล้ว จึงไม่สามารถที่จะเป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป จึงบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย คำว่าภิกษุในธรรมวินัย หรือเพศของภิกษุสำหรับใคร ต้องสำหรับพระอรหันต์ ถ้าเป็นโสดาบันไม่บวชก็ได้ เป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ไม่บวชก็ได้ เป็นพระอนาคามีก็ไม่บวช เพราะยังมีกิเลสที่เพียงเล็กน้อย ที่ยังเหลืออยู่ แต่ก็ยังไม่ละเพศของคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต

    แสดงว่าการเป็นเพศบรรพชิตสูงส่งระดับไหน ไม่ใช่ใครสามารถที่จะไปถึงได้ เพียงด้วยการอยากบวช แล้วไม่รู้อะไรเลย ต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ ด้วยเหตุนี้คฤหัสถ์ทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ก็กราบไหว้พระภิกษุ เคารพในจิตใจที่สะสมมา ที่จะรู้อริยสัจจธรรมในเพศบรรพชิต อบรมเจริญปัญญาในเพศนั้น ต่างกับคฤหัสถ์มาก เมื่อคฤหัสถ์รู้อย่างนี้ มีหรือจะไม่เคารพกราบไหว้ ในคุณความดีของผู้ที่สะสมมา ที่จะสละอาคารบ้านเรือนเป็นพระภิกษุ แต่ต้องเป็นพระภิกษุในธรรมวินัย

    ด้วยเหตุนี้ให้รู้ความต่างกันมาก จิตใจก็ห่างกันมาก แต่ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงในเพศใดก็ได้ พระรัตนตรัยมี ๓ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ พระพุทธรัตนะมีองค์เดียว คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นรัตนะ ธรรมที่ทำให้เมื่อผู้ที่เข้าใจแล้วอบรมเจริญปัญญา สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ ธรรมเป็นธรรม ที่สามารถที่จะทำให้ถึงการดับกิเลส เป็นธรรมรัตนะ เมื่อดับกิเลสแล้ว บุคคลนั้นก็เป็นสังฆรัตนะ ไม่ว่าในเพศใดทั้งสิ้น ตั้งแต่พระโสดาบัน จนกระทั่งถึงพระอรหันต์ ก็ต้องเห็นความห่างกันมาก และเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจ สัจจบารมี

    เมื่อปฏิญาณตน ว่าจะประพฤติตามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต อุปสมบทโดยพระผู้มีพระภาคทรงประทานอนุญาต ไม่ใช่ว่าใครอยากจะบวชก็ไปบวชเลย แต่ต้องรู้ด้วยว่าบวชเองไม่ได้ อย่างไรก็บวชเป็นพระภิกษุในธรรมวินัยไม่ได้ ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้ เพียงคำว่าภิกษุ เข้าใจแล้วใช่ไหม พุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุเป็นใคร ต้องต่างกับคฤหัสถ์

    ในครั้งพุทธกาลผู้ที่เป็นผู้หญิง ที่สะสมมาที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์มีจำนวนมาก ก็ประทานอนุญาตให้สตรีอุปสมบท แต่ผู้หญิงที่ได้รับการอุปสมบทเป็นรูปแรก คือพระนางมหาประชาบดีโคตมี ซึ่งได้เลี้ยงดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่วัยเยาว์ ตั้งแต่พระมารดา ได้จากโลกนี้ไปแล้ว คุณก็มีมาก และยังมีคุณที่เป็นพระอรหันต์ในกาลข้างหน้าที่ได้ฟังพระธรรมด้วย ท่านเป็นผู้เดียวที่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุปสมบทพระนางด้วยพระองค์เอง มีเพียงรูปเดียวเท่านั้น ต่อจากนั้นมา พวกเจ้าหญิงศากยะทั้งหลายซึ่งติดตามไป สะสมมาที่จะบวชตามพระนางมหาประชาบดีโคตมี ก็ได้รับการอุปสมบทโดยภิกษุ ซึ่งต้องเป็นไปตามพระวินัย

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ให้เห็นความสูงยิ่งของผู้ที่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต กฎเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะเป็นภิกษุในธรรมวินัย ที่จะประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมาก ถ้าไม่ศึกษาไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็ต้องโทษ เพราะเหตุว่าจากการที่บอกว่า ปฏิญาณว่า จะดำเนินตามรอยพระบาท ก็หาได้ดำเนินตามรอยพระบาทไม่ พุทธบริษัท ๔ ในครั้งโน้น มีภิกษุ และภิกษุณี ซึ่งต่างกับคฤหัสถ์อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกาไม่ใช่คฤหัสถ์ที่ไม่ฟังพระธรรม แต่เป็นผู้ที่นั่งใกล้ สมัยโน้นถ้าไม่นั่งใกล้คงไม่ได้ฟัง เป็นผู้ที่ได้เข้าใจธรรม และก็รู้อัธยาศัย ก็ขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ มีทั้งอุบาสกที่เป็นผู้ชาย และอุบาสิกาซึ่งเป็นผู้หญิง พุทธบริษัทจึงมี ๔ ไม่ได้ตัดบริษัทหนึ่งบริษัทใดออกไปเลย ไม่ใช่ว่าอุบาสก อุบาสิกาไม่มีกิจศึกษาธรรม ไม่มีกิจขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ พระภิกษุไม่ใช่ไม่มีกิจศึกษาธรรม ไม่มีกิจขัดเกลากิเลส ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ใช่ภิกษุ กิจของภิกษุคือศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส ซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติ ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ กาย วาจา ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องเป็นไปตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ละเอียดยิ่ง ซึ่งถ้าใครไม่ประพฤติตาม แม้เพียงข้อเดียวก็ต้องโทษคืออาบัติ ซึ่งต้องปลงอาบัติ โดยสำนึกผิดว่า ตนเป็นบรรพชิตทำอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีการสำนึกผิดเลย ก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย กิจของภิกษุหรือพุทธบริษัทก็คือศึกษาธรรม ขัดเกลากิเลส แต่ต่างเพศ คือบรรพชิตหรือภิกษุต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยทุกข้อ ไม่ว่าเป็นใคร

    อ.กุลวิไล แสดงว่าถ้าจะเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ก็ต้องได้สดับพระธรรมคำสอน ที่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ พุทธะคืออะไร

    อ.กุลวิไล ผู้รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ศึกษาคำสอน จะรู้ได้อย่างไร รู้อะไร รู้มาจากไหน ในครั้งโน้นพระภิกษุเคารพในคุณธรรมของคฤหัสถ์หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล เคารพ

    ท่านอาจารย์ คฤหัสถ์เคารพในคุณธรรมของพระภิกษุ โดย ๒ ฐานะ คือในคุณธรรม ความรู้ ความเข้าใจ และในเพศบรรพชิต คฤหัสถ์ต้องกราบไหว้ภิกษุ ภิกษุณี เพราะเคารพ ไม่ใช่จำใจต้องกราบ แต่คุณธรรมต่างหาก ที่ทำให้คฤหัสถ์กราบไหว้บรรพชิต เพราะรู้คุณค่า ของการละอาคารบ้านเรือน มีการ (นาทีที่ ๘.๔๐ แก้เป็น..ความ) มั่นคง ที่จะประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้กระทำ ภิกษุทำได้หรือไม่ ขัดเกลากิเลสหรือเปล่า ถ้าทำ รับเงินทอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับเงินทองหรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วภิกษุเงินรับทองได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย กิจของภิกษุคือศึกษาธรรม เพราะต้องเข้าใจธรรมก่อนบวช มิฉะนั้นบวชทำไม ถ้าถามว่าจะบวช บวชทำไม ถ้าไม่เข้าใจธรรม แต่เพราะเข้าใจธรรม และก็รู้จักตนเอง เพราะเข้าใจธรรมจึงรู้จักตนเอง ว่าสามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ จึงขออุปสมบท ปฏิญาณตนว่าจะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ได้มีใครบังคับเลย ไม่มีการชักชวนให้ใครไปบวชด้วย แต่อัธยาศัยของบุคคลนั้นเอง ใครก็ยับยั้งไม่ได้ ถ้ามีอุปนิสัยที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต พุทธบริษัทก็ควรจะรู้จักภิกษุเป็นใคร ต้องศึกษาพระธรรม ต้องเข้าใจธรรมก่อนบวช และก็ถ้าจะเป็นการดี ก็น่าจะทดลองให้รักษาพระวินัยทั้งหมดก่อนบวช ว่าสามารถจะรักษาได้ไหม จึงบวช ถ้ารักษาไม่ได้ บวชทำไม ก็เป็นคฤหัสถ์ก็สามารถที่จะฟังธรรมได้ ดับกิเลสได้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ แม้แต่อุบาสก อุบาสิกา ถ้าไม่รู้ความหมาย และรู้ความจริงของครั้งพุทธกาล ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ยุคนี้จะบอกว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม กลายเป็นไม่ได้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ทำลายพระรัตนตรัย

    ท่านอาจารย์ ทุกคนที่ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ กำลังบูชาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด


    หมายเลข 11384
    17 มี.ค. 2567