เรื่องสญชัย


    พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า ๑๑๖

    เรื่องสญชัย

    ข้อความเบื้องต้น

    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภความไม่มาของสญชัย (ปริพาชก) ซึ่งสองพระอัครสาวกกราบทูล แล้ว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อสาเร สารมติโน" เป็นต้น. อนุปุพพีกถาในเรื่องสญชัยนั้น ดังต่อไปนี้:-

    ประวัติพระสารีบุตร และโมคคัลลานะ

    ความพิสดารว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ แล้วนั่นแล. ได้มีบ้านพราหมณ์ ๒ ตำบลคือ อุปติสสคาม ๑ โกลิตคาม ๑ ในที่ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์. ในสองบ้านนั้น ในวันที่นางพราหมณีชื่อสารี ในอุปติสสคามตั้งครรภ์นั่นแล. แม้นางพราหมณีชื่อโมคคัลลีในโกลิตคามก็ตั้งครรภ์. ได้ยินว่า ตระกูลทั้งสองนั้น ได้เป็นสหายเกี่ยวพันสืบเนื่องกันมาถึง ๗ ชั่วตระกูลทีเดียว. พราหมณ์ผู้สามีได้ให้พิธีบริหารครรภ์แก่พราหมณีทั้งสองนั้น ในวันเดียวกันเหมือนกัน. โดยกาลล่วงไป ๑๐ เดือน นางพราหมณีทั้งสองนั้นก็คลอดบุตร. ในวันขนานชื่อ พวกญาติตั้งชื่อบุตรของสารีพราหมณีว่า "อุปติสสะ" เพราะเป็นบุตรของตระกูลนายบ้าน ในตำบลอุปติสสคาม, ตั้งชื่อบุตรของโมคคัลลีพราหมณีว่า "โกลิตะ" เพราะเป็นบุตรของตระกูลนายบ้านในตำบลโกลิตคามนอกนี้. เด็กทั้งสองนั้นถึงความเจริญ แล้ว ได้ถึงความสำเร็จแห่งศิลปะทุกอย่าง. ในเวลาไปสู่แม่น้ำหรือสวนเพื่อประโยชน์จะเล่น อุปติสสมาณพมีเสลี่ยงทองคำ ๕๐๐ เป็นเครื่องแห่แหน, โกลิตมาณพมีรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๕๐๐ เป็นเครื่องแห่แหน, ชนทั้งสองมีมาณพเป็นบริวารคนละ ๕๐๐. ก็ในกรุงราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขาทุกๆ ปี. หมู่ญาติได้ยกเตียงซ้อนกันเพื่อกุมารทั้งสองนั้นในทีเดียวกันนั่นเอง. แม้กุมารทั้งสองก็นั่งดูมหรสพร่วมกัน ย่อมหัวเราะในฐานะควรหัวเราะ ย่อมถึงความสังเวชในฐานะที่ควรสังเวช ย่อมตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล. วันหนึ่ง เมื่อกุมารทั้งสองเหล่า นั้นดูมหรสพโดยทำนองนี้ ความหัวเราะในฐานะที่ควรหัวเราะ หรือความสังเวชในฐานะที่ควรสังเวช หรือตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล มิได้มี แล้วเหมือนในวันก่อนๆ เพราะญาณถึงความแก่รอบ แล้ว. ก็ชนทั้งสองคิดกันอย่างนี้ว่า "จะมีอะไรเล่า? ที่น่าดูในการนี้, ชนทั้งหมดแม้นี้ เมื่อยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี, ก็จักถึงความเป็นสภาพหาบัญญัติมิได้, ก็เราทั้งสองควรแสวงหาธรรมเครื่องพ้นอย่างเอก" ดังนี้ แล้ว ถือเอาเป็นอารมณ์นั่งอยู่ แล้ว. ลำดับนั้น โกลิตะพูดกะอุปติสสะว่า "อุปติสสะผู้สหาย ไฉน? ท่านจึงไม่หัวเราะรื่นเริงเหมือนในวันอื่นๆ , วันนี้ ท่านมีใจไม่เบิกบาน ท่านกำหนดอะไรได้หรือ?" อุปติสสะนั้นกล่าวว่า "โกลิตะผู้สหาย เรานั่งคิดถึงเหตุนี้ว่า "ในการดูคนเหล่านี้ หาสาระมิได้, การดูนี้ไม่มีประโยชน์, เราควรแสวงหาโมกขธรรมเพื่อตน," ก็ท่านเล่า เพราะเหตุไร? จึงไม่เบิกบาน." แม้โกลิตะนั้น ก็บอกอย่างนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น อุปติสสะ ทราบความที่โกลิตะนั้นมีอัธยาศัยเช่นเดียวกันกับตน จึงกล่าวว่า "สหายเอ๋ย เราทั้งสองคิดกันดี แล้ว, ก็เราควรแสวงหาโมกขธรรม, ธรรมดาผู้แสวงหา ต้องได้บรรพชาชนิดหนึ่งจึงควร, เราทั้งสองจะบรรพชาในสำนักใครเล่า?"

    สองสหายทำกติกากัน

    ก็โดยสมัยนั้นแล สญชัยปริพาชก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่. สารีบุตร และโมคคัลลานะทั้งสองนั้น ตกลงกันว่า "เราจักบวชในสำนักท่านสญชัยนั้น," ต่างส่งมาณพ ๕๐๐ ไป ด้วยคำว่า "ท่านทั้งหลายจงเอาเสลี่ยง และรถไปเถิด." พร้อมด้วยมาณพ ๕๐๐ บวช แล้วในสำนักของสญชัย. จำเดิมแต่เขาทั้งสองบวช แล้ว สญชัยก็ได้ถึงความเลิศด้วยลาภ และยศอย่างเหลือเฟือ. ทั้งสองเรียนจบ ลัทธิสมัยของสญชัยโดยสองสามวันเท่านั้น จึงถามว่า "ท่านอาจารย์ลัทธิที่ท่านรู้ มีเพียงเท่านี้ หรือมีแม้ยิ่งกว่านี้?" เมื่อสญชัยตอบว่า "มีเพียงเท่านี้แหละ, เธอทั้งสองรู้จบหมด แล้ว." เขาทั้งสองจึงคิดกันว่า "เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของท่านผู้นี้ก็ไม่มีประโยชน์ เราทั้งสองออกมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม, โมกขธรรมนั้น เราไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้ในสำนักของท่านผู้นี้, อันชมพูทวีปใหญ่นัก, เราเที่ยวไปยังคามนิคม ชนบท และราชธานี คงจักได้อาจารย์ผู้แสดงโมกขธรรมสักคนเป็นแน่." ตั้งแต่นั้น ใครพูดในที่ใดๆ ว่า "สมณพราหมณ์ผู้บัณฑิต มีอยู่" เขาทั้งสองย่อมไปทำสากัจฉาในที่นั้นๆ ปัญหาที่เขาทั้งสองถามไป อาจารย์เหล่าอื่นหาอาจตอบได้ไม่, แต่เขาทั้งสองย่อมแก้ปัญหาของอาจารย์เหล่านั้นได้. เขาสอบสวนทั่วชมพูทวีป อย่างนั้น แล้ว กลับมายังที่อยู่ของตน จึงทำกติกากันว่า "โกลิตะผู้สหาย ในเราสองคน ผู้ใดได้บรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอก (แก่กัน) ."

    เมื่อเขาทั้งสองทำกติกากันอย่างนั้นอยู่ พระศาสดาเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ โดยลำดับดังที่กล่าว แล้ว ทรงรับเวฬุวัน แล้ว ประทับอยู่ใน

    เวฬุวัน. ในกาลนั้น พระอัสสชิเถระ ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ระหว่างพระอรหันต์ ๖๑ องค์ ที่พระศาสดาทรงส่งไปเพื่อประกาศคุณพระรัตนตรัย ด้วยพระดำรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมากเถิด," กลับมายังกรุงราชคฤห์ แล้ว ในวันรุ่งขึ้น ท่านถือบาตร และจีวรไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่.

    สมัยนั้น อุปติสสปริพาชก ทำภัตกิจแต่เช้าตรู่ แล้ว ไปยังอารามของปริพาชก พบพระเถระ จึงคิดว่า "อันนักบวชเห็นปานนี้เรายังไม่เคยพบเลย, ภิกษุรูปนี้ (คง) จะเป็นผู้หนึ่งบรรดาผู้ที่เป็นพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุพระอรหัตมรรคในโลก. ไฉนหนอเราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ แล้วถามว่า "ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศเฉพาะใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน? หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร?"

    ทีนั้น ความปริวิตกนี้ได้มีแก่เขาว่า "กาลนี้มิใช่กาลควรถามปัญหากะภิกษุนี้แล, ภิกษุนี้กำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต, ถ้ากระไร เราเมื่อแสวงหาโมกขธรรมที่คนผู้ต้องการรู้ แล้ว ควรติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลังๆ ." เขาเห็นพระเถระได้บิณฑบาต แล้ว ไปสู่โอกาสแห่งใดแห่งหนึ่ง และทราบความที่พระเถระนั้นประสงค์จะนั่ง จึงได้จัดตั่งของปริพาชกสำหรับตนถวาย. แม้ในเวลาที่ท่านฉันเสร็จ แล้ว ก็ได้ถวายน้ำในกุณโฑของตนแด่พระเถระ. ครั้นทำอาจาริยวัตรอย่างนั้น แล้ว จึงทำปฏิสันถารอย่างจับใจกับพระเถระซึ่งฉันเสร็จ แล้ว เรียนถามอย่างนี้ว่า "ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก, ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง, ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศเฉพาะใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน? หรือท่านชอบใจธรรมของใคร?"

    พระอัสสชิแสดงหัวใจพระศาสนา

    พระเถระคิดว่า "ธรรมดาปริพาชกเหล่านี้ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา, เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพาชกนี้," เมื่อจะแสดงความที่ตนบวชใหม่ จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุ เราแลเป็นผู้ใหม่ บวช แล้วไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้, เราจักไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารก่อน." ปริพาชกเรียนว่า "ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ, ขอพระผู้เป็นเจ้ากล่าวตามสามารถเถิด จะน้อยหรือมากก็ตาม ข้อนั้นเป็นภาระของข้าพเจ้า เพื่อแทงตลอดด้วย ๑๐๐ นัย ๑,๐๐๐ นัย" ดังนี้ แล้ว เรียนว่า

    "จะมากหรือน้อยก็ตาม ขอพระผู้เป็นเจ้า จงกล่าวเถิด, จงบอกแก่ข้าพเจ้าแต่ใจความเท่านั้น, ข้าพเจ้าต้องการใจความ จะต้องทำพยัญชนะให้มากไปทำไม."

    เมื่อเขาเรียนอย่างนั้น แล้ว, พระเถระจึงกล่าวคาถาว่า

    "ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้."

    สองสหายสำเร็จพระโสดาบัน

    ปริพาชก ฟังเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อันถึงพร้อมด้วยนัยพันหนึ่ง, พระเถระยัง ๒ บทนอกนี้ให้จบลง ในเวลาเขาเป็นพระโสดาบัน. เขาเป็นพระโสดาบัน แล้ว เมื่อคุณวิเศษชั้นสูงยังไม่เป็นไปอยู่. ก็คาดว่า "เหตุในสิ่งนี้จักมี" จึงเรียนกะพระเถระว่า "ท่านขอรับ ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนายิ่งขึ้นไป เพียงเท่านี้ก็พอ พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ไหน?" พระเถระตอบว่า "ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ผู้มีอายุ." เขาเรียนว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอท่านโปรดล่วงหน้าไปก่อนเถิด ข้าพเจ้า มีเพื่อนอีกคนหนึ่ง และข้าพเจ้าทั้งสองได้ทำกติกากะกัน และกันไว้ว่า "ผู้ใดบรรลุอมตะก่อน ผู้นั้นจงบอกกัน" ข้าพเจ้าเปลื้องปฏิญญานั้น แล้ว จักพาสหายไปสำนักพระศาสดา ตามที่ท่านไป แล้วนั่นแล" ดังนี้ แล้ว หมอบลงแทบเท้าทั้งสองของพระเถระด้วยเบญจางค (๑) ประดิษฐ์ ทำประทักษิณ ๓ รอบ ส่งพระเถระไป แล้ว ได้บ่ายหน้าไปสู่อารามของปริพาชก แล้ว. โกลิตปริพาชกเห็นเขามาแต่ไกล คิดว่า "วันนี้สีหน้าสหายของเราไม่เหมือนในวันอื่นๆ เขาคงได้บรรลุอมตะ โดยแน่แท้" จึงถามถึงการบรรลุอมตะ. แม้อุปติสสปริพาชกนั้นก็รับว่า "เออ ผู้มีอายุ อมตะเราได้บรรลุ แล้ว" ได้ภาษิตคาถานั้นนั่นแลแก่โกลิตปริพาชกนั้น.

    ในกาลจบคาถา โกลิตะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้ว จึงกล่าวว่า "สหาย ข่าวว่า พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ไหน?"

    อุ. ข่าวว่า ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน สหาย ข่าวนี้ ท่านอัสสชิเถระ พระอาจารย์ของเราบอกไว้ แล้ว.

    ก. สหาย ถ้ากระนั้น เราไปเฝ้าพระศาสดาเถิด.

    สองสหายชวนสญชัยไปเฝ้าพระศาสดา

    ก็ธรรมดาพระสารีบุตรเถระนี้ ย่อมเป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ในกาลทุกเมื่อเทียว เพราะฉะนั้น จึงกล่าวกะสหายอย่างนี้ว่า "สหาย เราจักบอก อมตะที่เราทั้งสองบรรลุ แก่สญชัยปริพาชกผู้อาจารย์ของเราบ้าง, ท่านรู้อยู่ก็จักแทงตลอด, เมื่อไม่แทงตลอด, เชื่อพวกเรา แล้วจักไปยังสำนักพระศาสดา, สดับเทศนาของพุทธบุคคลทั้งหลาย แล้ว จักทำการแทงตลอดซึ่งมรรค และผล."

    ลำดับนั้น ทั้งสองคนก็ได้ไปสู่สำนักของท่านสญชัย. สญชัยพอเห็นเขาจึงถามว่า "พ่อทั้งสอง พวกพ่อได้ใครที่แสดงทางอมตะ แล้วหรือ?" สหายทั้งสองจึงเรียนว่า "ได้ แล้วขอรับ ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น แล้วในโลก, พระธรรมก็อุบัติขึ้น แล้ว, พระสงฆ์ก็อุบัติขึ้น แล้ว, ท่านอาจารย์ประพฤติธรรมเปล่า ไร้สาระ เชิญท่านมาเถิด เราทั้งหลายจักไปยังสำนักพระศาสดา."

    ส. ท่านทั้งสองไปเถิด, ข้าพเจ้าไม่สามารถ.

    สห. เพราะเหตุไร?

    ส. เราเทียวเป็นอาจารย์ของมหาชน แล้ว. การอยู่เป็นอันเตวาสิกของเรานั้น เช่นกับเกิดความไหวแห่งน้ำในตุ่ม, เราไม่สามารถอยู่เป็นอันเตวาสิกได้.

    สห. อย่าทำอย่างนั้นเลย ท่านอาจารย์.

    ส. ช่างเถอะ พ่อ พ่อพากันไปเถอะ, เราจักไม่สามารถ.

    สห. ท่านอาจารย์ จำเดิมแต่กาลแห่งพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มหาชนมีของหอมระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือไปบูชาพระองค์เท่านั้น, แม้กระผมทั้งสองก็จักไปในที่นั้นเหมือนกัน, ท่านอาจารย์จะทำอย่างไร?

    ส. พ่อทั้งสอง ในโลกนี้ มีคนเขลามากหรือมีคนฉลาดมากเล่า?

    สห. คนเขลามากขอรับ ท่านอาจารย์ อันคนฉลาดมีเพียงเล็กน้อย.

    ส. พ่อทั้งสอง ถ้ากระนั้น พวกคนฉลาดๆ จักไปสู่สำนักพระสมณโคดม, พวกคนเขลาๆ จักมาสู่สำนักเรา พ่อไปกันเถิด เราจักไม่ไป.

    สหายทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า "ท่านอาจารย์ ท่านจักปรากฏเอง" ดังนี้ แล้ว หลีกไป. เมื่อสหายทั้งสองนั้นไปอยู่. บริษัทของสญชัยแตกกัน แล้ว. ขณะนั้นอารามได้ว่างลง. สญชัยนั้นเห็นอารามว่าง แล้ว ก็อาเจียนออกเป็นเป็นโลหิตอุ่น. ในปริพาชก ๕๐๐ คน ซึ่งไปกับสหายทั้งสองนั้น บริษัทของสญชัย ๒๕๐ คนกลับ แล้ว. สหายทั้งสองได้ไปสู่พระเวฬุวัน พร้อมด้วยปริพาชก ๒๕๐ คน ผู้เป็นอันเตวาสิกของตน.

    ศิษย์สำเร็จอรหัตผลก่อนอาจารย์

    พระศาสดา ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ ทอดพระเนตรเห็นปริพาชกเหล่านั้นแต่ไกลทีเดียว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย

    ด้วยพระดำรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย สองสหายนั่นกำลังมา คือโกลิตะ และอุปติสสะ ทั้งสองนั่นจักเป็นคู่สาวกที่ดีเลิศของเรา." สองสหายนั้น ถวายบังคมพระศาสดา แล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. เขาทั้งสองได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิดพระเจ้าข้า." พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด, ธรรมเรากล่าวดี แล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด." คนทั้งหมดได้เป็นผู้ทรงบาตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ราวกะว่าพระเถระ ๑๐๐ พรรษา.

    ครั้งนั้น พระศาสดา ทรงขยายพระธรรมเทศนาด้วยอำนาจจริยาแก่บริษัทของทั้งสองสหายนั้น เว้นพระอัครสาวกทั้งสองเสีย, ชนที่เหลือบรรลุพระอรหัต แล้ว. ก็กิจด้วยมรรคเบื้องสูงของพระอัครสาวกทั้งสองมิได้สำเร็จ แล้ว.

    ถามว่า "เพราะเหตุไร."

    แก้ว่า "เพราะสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่."

    ต่อมาในวันที่ ๒ แต่วันบวช แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปอาศัยหมู่บ้านกัลลวาละ (๑) ในแคว้นมคธอยู่, เมื่อถีนมิทธะครอบงำ, อันพระศาสดาทรงให้สังเวช แล้ว บรรเทาถีนมิทธะได้ กำลังฟังพระธาตุกรรมฐาน ที่พระตถาคตประทาน แล้ว ได้ยังกิจในมรรค ๓ เบื้องบนให้สำเร็จ บรรลุที่สุดสาวกบารมีญาณ แล้ว.

    ฝ่ายพระสารีบุตร ล่วงได้กึ่งเดือนแต่วันบวช เข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์นั้นแหละ อยู่ในถ้ำสูกรขาตา กับด้วยพระศาสดา, เมื่อพระ-

    ศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตร (๑) แก่ทีฆนขปริพาชกผู้หลานของตน, ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระสูตร ก็ได้บรรลุที่สุดสาวกบารมีญาณ เหมือนผู้ที่บริโภคภัตที่เขาคดให้ผู้อื่น.

    มีคำถามว่า "ก็ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้มีปัญญามาก มิใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร จึงบรรลุสาวกบารมีญาณช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะ."

    แก้ว่า "เพราะมีบริกรรมมาก." เหมือนอย่างว่า พวกคนเข็ญใจประสงค์จะไปในที่ไหนๆ ก็ออกไปได้รวดเร็ว, ส่วนพระราชาต้องได้ตระเตรียมมาก มีการตระเตรียมช้างพระราชพาหนะเป็นต้น จึงสมควร ฉันใด, อุปไมยนี้ พึงทราบฉันนั้น.

    พวกภิกษุติเตียนพระศาสดา

    ก็ในเวลาบ่ายวันนั้นเอง พระศาสดา ทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสอง แล้วทรงแสดงพระปาติโมกข์.

    พวกภิกษุ ติเตียนกล่าวว่า "พระศาสดา ประทาน [ตำแหน่ง] แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยเห็นแก่หน้า, อันพระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชก่อน. เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระปัญจวัคคีย์เหล่านั่น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข, เมื่อไม่เหลียวแลถึงภิกษุเหล่านั่น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์. เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระพวกภัทรวัคคีย์เหล่านั่น ก็

    ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น, แต่พระศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นมีประมาณถึงเพียงนี้ เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกหน้าประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาทั้งหมด."

    ผู้เห็นผิดกับผู้เห็นถูกได้รับผลต่างกัน

    พระศาสดาทรงสดับคำนั้น แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สญชัย ถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่า "มีสาระ" และสิ่งที่มีสาระว่า "ไม่มีสาระ" เพราะความที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ส่วนเธอทั้งสอง รู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ และสิ่งอันไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ละสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสีย ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต" ดังนี้ แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

    ๘. อสาเร สารมติโน สาเร จาสารทสฺสิโน เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา. สารญฺจ สารโต ตฺวา อสารญฺจ อสารโต เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา.

    "ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่ประสพสิ่งอันเป็นสาระ. ชนเหล่าใด รู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสพสิ่งเป็นสาระ."

    แก้อรรถ

    บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อสาเร สารมติโน ความว่า สภาพนี้ คือ ปัจจัย ๔ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ธรรมเทศนาอันเป็นอุปนิสัยแห่งมิจฉาทิฏฐินั้น ชื่อว่าเป็นอสาระ, ผู้มีปกติเห็นในสิ่งอันไม่เป็นสาระ นั้นว่า "เป็นสาระ."

    บาทพระคาถาว่า สาเร จาสารทสฺสิโน ความว่า สภาพนี้ คือ สัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ธรรมเทศนาอันเป็นอุปนิสัยแห่งสัมมาทิฏฐินั้นชื่อว่า เป็นสาระ, ผู้มีปกติเห็นในสิ่งที่เป็นสาระนั้นว่า "นี้ไม่เป็นสาระ."

    สองบทว่า เต สารํ เป็นต้น ความว่า ชนเหล่านั้น คือผู้ถือมิจฉาทิฏฐินั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีความดำริผิดเป็นโคจร ด้วยสามารถแห่งวิตกทั้งหลาย มีกามวิตกเป็นต้น ย่อมไม่บรรลุสีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ วิมุตติสาระ วิมุตติญาณทัสสนสาระ และพระนิพพานอันเป็นปรมัตถสาระ.

    บทว่า สารญฺจ ความว่า รู้สาระมีสีลสาระเป็นต้นนั่นนั้นแลว่า

    "นี้ชื่อว่าสาระ" และรู้สิ่งไม่เป็นสาระ มีประการดังกล่าว แล้วว่า "นี้ไม่เป็นสาระ."

    สองบทว่า เต สารํ เป็นต้น ความว่า ชนเหล่านั้น คือบัณฑิต ผู้ยึดสัมมาทัสสนะอย่างนั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีความดำริชอบเป็นโคจร ด้วยสามารถแห่งความดำริทั้งหลาย มีความดำริออกจากกามเป็นต้น ย่อมบรรลุสิ่งอันเป็นสาระ มีประการดังกล่าว แล้วนั้น.

    ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. เทศนาได้เป็นประโยชน์แก่ชนผู้ประชุมกัน แล้ว ดังนี้แล.

    เรื่องสญชัย จบ


    หมายเลข 4236
    9 ม.ค. 2567