ค่อย ๆ เข้าใจทีละนิด ไม่จำเป็นต้องท่องเลย **


    ส. ชาตะ แปลว่าเกิด สหชาติ สหชาตะ ไม่ว่าสภาพธรรมใดที่เกิดพร้อมกันต่างก็เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน ซึ่งกันและกัน อย่างจิตเกิดก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยโดยสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ทั้งหมดก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต แล้วทีละหนึ่งก็แยกไปได้ เพราะฉะนั้นเจตสิกหนึ่งก็เป็นสหชาตะ คือ จิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกันด้วย

    ด. เพราะฉะนั้น จิตทีละดวง

    ส. กำลังพูดถึงจิต ๑ ดวงว่า แต่ละ ๑ ดวงมีปัจจัยอะไรที่จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้ ยิ่งเข้าใจเรื่องปัจจัยก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินชื่อ “กรรม” ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นปรมัตถธรรมอะไร ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นเจตสิก แล้วเจตสิกมี ๕๒ เจตสิกอะไรที่เป็นกรรม ก็ต้องได้แก่เจตนาเจตสิกประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นกรรม แล้วเมื่อเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้นจึงเป็นกัมมปัจจัย เพราะคำว่า “ปัจจัย” หมายถึงสภาพที่อุปการะเกื้อกูลสนับสนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิด หรือดำรงอยู่

    เพราะฉะนั้น ปัจจัยต้องมีปัจจยุบัน เพราะว่าปัจจัยนี้ทำให้อะไรที่เป็นปัจจยุบันเกิด หรือเวลาที่สิ่งนี้เกิดเป็นปัจจยุบันของปัจจัยอะไร ต้องคู่กันเสมอ จะมีปัจจัยโดยไม่มีปัจจยุบันไม่ได้ และจะมีปัจจยุบันโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย แม้แต่จิต ๑ ขณะก็ยังมีทั้งปัจจัยและปัจจยุบัน

    ด. ปัจจยุบันก็คือผลที่เกิดจากปัจจัยนั้น

    ส. ถ้าจะพูดถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบันของเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต เจตนาเป็นกัมมปัจจัย ในขณะที่เจตนาเจตสิกเกิดกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิต ยกขึ้นมาเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบัน ในจิตขณะนั้นที่เกิด ดวงเดียวนั้นแหละ จิตขณะนั้นเป็นปัจจยุบันและเจตสิกอื่นๆ ก็เป็นปัจจยุบันด้วย โดยเจตนาเจตสิกอันเดียวที่ยกขึ้นมาเป็นกัมมปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ขณะปฏิสนธิจิตเกิด เจตนาเจตสิกเป็นสหชาตกัมมปัจจัย เพิ่มคำว่า “สหชาตะ” ภาษาไทยคือเกิดพร้อมกัน จะพูดภาษาไทยก็ได้ว่า เกิดพร้อมกัน แต่ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็เป็นสหชาตกัมมะแก่ปฏิสนธิจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ปฏิสนธิจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจยุบันของเจตนาเจตสิก

    ค่อยๆ เข้าใจไป ไม่ต้องท่องเลย


    หมายเลข 4441
    9 ต.ค. 2566