สติปัฏฐาน กับ วิปัสสนาญาณ


    ธิดารัตน์ มี

    ผู้ฟัง ว่า ลักษณะของสติปัฏฐานเป็นอย่างไร และวิปัสสนาญาณเป็นอย่างไร มีความเกี่ยวเนื่องกันไหมระหว่างสติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณ เรียนท่านอาจารย์กรุณาช่วยอธิบายด้วยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ก็คงต้องพูดแล้วพูดอีก แต่ก็คงเป็นประโยชน์ เพราะถ้าพูดแล้วขณะนี้สติสัมปชัญญะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ย่อมเป็นไปได้ ขณะนี้หลงลืมสติหรือสติเกิด ถามเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็จำ แต่ขณะนี้จะรู้ได้ว่า ผู้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะที่เชียงใหม่ หรือที่นี่ก็ตามแต่ ขณะนี้รู้ด้วยตัวเอง ใช่ไหมคะว่า สติปัฏฐานเกิดหรือไม่เกิด แค่นี้ก่อนค่ะ

    ไม่เกิดก็มี เกิดบ้าง ไม่เกิดบ้างก็มี ถ้าไม่เกิด ไม่ได้หมายความว่า ไม่รู้เรื่องสติปัฏฐาน แต่ไม่มีปัจจัยที่แม้รู้แล้วสติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด ก็ได้ หรือผู้ที่เข้าใจแล้ว แล้วเป็นผู้ที่สติปัฏฐานเกิด ก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด ต้องเป็นปัญญา ต้องเป็นความเข้าใจ ต้องเป็นความรู้ ไม่ใช่ความจำ

    ถ้าได้ยินคำว่า “สติ” ภาษาไทยคงไม่ต้องพูดถึงแล้วว่า เอาคำภาษาบาลีมาใช้ไม่ตรง แต่สติเป็นโสภณธรรม ใช้คำว่า โสภณเจตสิกก็ได้ เป็นธรรมฝ่ายดี ต้องเกิดกับโสภณจิต เพราะฉะนั้น สติจะไม่เกิดกับอกุศลจิต การฟังธรรมก็ต้องฟังละเอียด เพราะมิฉะนั้นบางคนก็อาจจะคิดว่า ตอนที่กำลังเป็นอกุศล ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ แต่ความจริงเป็นคนละขณะ ถ้าเป็นสติเจตสิกต้องเกิดกับโสภณจิต

    สำหรับสติขั้นทานก็มี ขั้นศีลก็มี ซึ่งท่าน

    ผู้ฟัง ก็คงไม่สงสัยในขั้นนั้น แต่จะสงสัยในขั้นสติปัฏฐานว่า ต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร

    ปกติธรรมดาหลงลืมสติก็รู้อยู่แล้ว ใช่ไหมคะ แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ผิดปกติ ขอสมมติทางกาย แข็งก็กำลังปรากฏตามปกติของลักษณะที่แข็ง ทั้งๆ ที่มีแข็ง และมีจิตที่รู้แข็ง เหมือนกับมีจิตที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เหมือนกับจิตที่กำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ก็เป็นหน้าที่ของจิตที่จะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จิตไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ขณะนั้นจากการฟัง จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ จะตรงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ได้ ขณะนี้ ไม่ต้องเหลียวซ้ายแลขวาหาอะไรเลย สติเกิดรวดเร็วค่ะ สามารถที่รู้ตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือแข็งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ปกติธรรมดาอย่างนี้ แล้วก็มีการรู้ลักษณะที่แข็ง ซึ่งปกติก็มีการรู้ลักษณะที่แข็งด้วยจิตที่รู้แข็ง คือ กายวิญญาณ แต่เวลาที่จิตที่รู้แข็งดับไปแล้ว ธรรมดาเราจะทราบจากการศึกษาว่า เมื่อจิตทางปัญจทวารรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดในทวารหนึ่งทวารใน ๕ ทวารนั้นดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจะเกิดต่อรู้อารมณ์เดียวกัน เห็นความเร็วไหมคะว่า ไม่ได้ไกลไปไหนเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะจะเกิดทางมโนทวาร รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางปัญจทวารนั่นเอง ไม่แยกกันได้เลย สำหรับทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าเป็นปกติ และสติเกิดก็กำลังรู้ตรงลักษณะ เท่านั้นเอง แต่จะรู้ได้ว่าน้อยมากและไม่บ่อย

    เพราะฉะนั้น ก็จะมีความสงสัยเกิดขึ้น และจะมีความต้องการเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าอะไรที่สะสมมามากเท่าไร การคิดนึกเรื่องสภาพธรรมก็จะเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ปัญญาก็สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกว่า ขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะว่าถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ต้องมีลักษณะกำลังปรากฏ และขณะนั้นก็ไม่ได้คิดเรื่องคำ ไม่ได้คิดเรื่องชื่อ ไม่ได้คิดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏเลย เพราะเหตุว่ากำลังมีลักษณะนั้นปรากฏ และถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกัน ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นปกติ คือสามารถที่จะรู้การเกิดสืบต่อของสติ โดยที่ว่าไม่ได้ต่างมากมายมหาศาลอะไรเลย เหมือนธรรมดา แต่มีลักษณะของสติที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งนั้น


    หมายเลข 4446
    9 ต.ค. 2566