ขันติวาทีดาบส


    เรื่องขันติวาทีดาบสมีว่า

    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อกุณฑะ ในกรุงพาราณสี บวชเป็นดาบสอยู่ในหิมวันต์ประเทศเป็นเวลานาน เพื่อจะเสพของเค็มและของเปรี้ยวจึงไปสู่กรุงพาราณสี อันเสนาบดีบำรุง พักอยู่ในพระราชอุทยาน

    ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาทรงพระนามว่า กลาปุ เสวยน้ำจัณฑ์มึนเมา เสียพระสติ มีพวกนักฟ้อนห้อมล้อม เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ได้ทรงนิทรา ทอดพระเศียรลงบนตักของหญิงซึ่งเป็นที่รักและพอพระหฤทัยคนหนึ่ง

    ครั้งนั้น หญิงพวกอื่นต่างพากันทอดทิ้งพระราชาเสีย เที่ยวไปใน พระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่โคนไม้รังซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง จึงไหว้ท่าน แล้วนั่งฟังธรรมอยู่

    พระราชาทรงตื่นบรรทมขึ้น เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นหญิงเหล่านั้นจึงกริ้ว ทรงถือพระขรรค์เสด็จไป ทีนั้นหญิงที่ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่งได้คว้าเอาพระขรรค์จากพระหัตถ์ของพระองค์ไปเสีย

    พระราชาตรัสถามว่า

    สมณะ ท่านมีปกติกล่าวอะไร

    ขันติวาทีดาบสตอบว่า

    มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร

    พระราชาตรัสว่า

    ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร

    ขันติวาทีดาบสกล่าวว่า

    คือ ความไม่โกรธในเมื่อคนอื่นด่าอยู่ ประหารอยู่ และดูหมิ่นอยู่

    พระราชาตรัสว่า

    บัดนี้ เราจะเห็นความที่ขันติของท่านมีอยู่

    พระองค์รับสั่งให้เรียกคนฆ่าโจรมา แล้วตรัสว่า

    เจ้าจงฆ่าดาบสชั่วคนนี้ให้ล้มลงบนแผ่นดิน ให้การประหารสัก ๒,๐๐๐ ครั้ง ในทั้ง ๔ ข้าง คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และในข้างทั้งสอง

    เขาได้ทำตามรับสั่งแล้ว พระราชาตรัสถามอีกว่า

    ท่านมีปกติกล่าวอะไร

    ขันติวาทีดาบสทูลว่า

    มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมาภาพหรือ ขันตินี้ไม่ได้มีในระหว่างหนังนี้ แต่ขันตินี้ตั้งอยู่ภายในหทัยอันลึกของอาตมาภาพ

    พระราชาตรัสว่า

    เจ้าจงตัดมือและเท้าของดาบสนี้

    ซึ่งเขาก็ได้ทำตามรับสั่งแล้ว พระราชาจึงตรัสถามแม้อีก ขันติวาทีดาบสก็ได้กล่าวว่า

    มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมาภาพหรือ ขันตินี้ไม่มีที่ปลายมือปลายเท้านี้

    พระราชารับสั่งให้ตัดหูและจมูกของดาบส ซึ่งเขาก็ได้ทำตามรับสั่ง แล้ว พระราชาก็ได้ตรัสถามอย่างนั้นอีก และขันติวาทีดาบสได้ทูลโดยนัยดังกล่าวแล้ว พระราชากริ้วมาก เอาพระปราษณี คือ ส้นพระบาท กระทืบลงตรงกลางอกของ พระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จหลีกไป ถูกแผ่นดินสูบที่ประตูพระราชอุทยานนั่นเอง เกิดในอเวจีแล้ว

    ก็เมื่อพระราชานั้นพอเสด็จหลีกไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตของพระโพธิสัตว์ พยุงให้นั่งลงแล้ว เรียนอย่างนี้ว่า

    ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีประสงค์จะโกรธ ก็พึงโกรธต่อพระราชาผู้ทำความผิด ในท่านเท่านั้น อย่าโกรธต่อผู้อื่นเลย

    ขันติวาทีดาบสได้ฟังคำนั้นจึงกล่าวคาถานี้ใน ขันติวาทีชาดก ใน ทุติยวรรค จตุกนิบาต มีข้อความว่า

    พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเราแล้ว ขอพระราชาพระองค์นั้น จงทรงดำรงพระชนม์ชีพตลอดกาลนานเถิด เพราะคนเช่นเราหาโกรธไม่

    ต่างกันแล้ว ใช่ไหม การสะสมความไม่โกรธซึ่งเป็นขันติ สามารถที่จะไม่โกรธได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งคงจะเป็นอีกนานแสนนานของแต่ละชีวิตของแต่ละท่าน แต่ถ้าเริ่ม เริ่มเดี๋ยวนี้ที่จะรู้สึกว่า เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะคนอื่น แต่เป็นเพราะกิเลสของท่านเองเท่านั้น และที่จะดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท ก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน


    หมายเลข 4471
    19 ก.ย. 2566