สมถและวิปัสสนาภาวนาหมายความว่าอย่างไร


    ส.   ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้อง สมถะ โดยศัพท์ภาษาบาลี เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วหมายความว่า สงบ เพียงแค่นี้ไม่พอเลย คนก็ไปตีความอีกว่า นั่งคนเดียวเงียบๆ แต่นั่นไม่ใช่ค่ะ เพราะเหตุว่าสงบต้องสงบจากอกุศล สงบจากกิเลสจึงจะชื่อว่า สงบจริงๆ  ถ้าเราไปตามท้องนาไกลๆ ไม่มีผู้คนเลย มีต้นตาล มีต้นข้าว มีฟ้า มีน้ำ แล้วจะบอกว่า ที่นั่นสงบ ไม่ได้ค่ะ ใจของเราต่างหาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรามีโลภะ มีความต้องการอะไรหรือเปล่า มีโทสะ มีความขุ่นเคืองใจไหม มีอกุศลธรรมใดๆ บ้างหรือเปล่า มีความคิดนึกซึ่งเป็นอกุศล เป็นไปในการเบียดเบียน ประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า คิดเรื่องการงานยุ่งๆทั้งวัน จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็ต้องมีปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่สงบจากกิเลส

    การนั่งเฉยๆ อยู่ในห้อง ก็ไม่สงบจากกิเลส แต่สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จะสงบกิเลสได้ ก็คือปัญญา

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ปัญญา” ในพระพุทธศาสนา บางคนก็อาจจะคิดว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้ว แต่ถ้าจะศึกษาจริงๆ ก็จะรู้ว่า นั่นเป็นปัญญาที่เราคิดเอาเอง ปัญญาภาษาไทย ปัญญาในสมุดพก ปัญญาที่ครูเขียนมาว่า คนนี้มีสติปัญญามากน้อย แต่ไม่ใช่ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนี้คือปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาสามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ นั่นจึงจะชื่อว่า ปัญญา

    เพราะฉะนั้น ทุกคนมีจิตใจ แต่ไม่เคยพิจารณาจิต มีแต่ความต้องการ แม้แต่ได้ยินคำว่า “สมถะ” ยังไม่รู้ว่าอะไร ก็อยากจะทำแล้ว ความอยากขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ ความอยากมีหลายอย่าง บางคนก็ชอบรูปสวยๆ บางคนก็ชอบฟังเพลงเสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นน้ำหอม น้ำหอมจึงราคาแพงมากตามความนิยม หรือตามโลภะของเรา ถ้าเราต้องการกลิ่นนี้ แต่ราคาแพงมาก อันนั้นก็เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่า เราต้องการขนาดไหน ต้องการซื้อ หรือต้องการได้กลิ่นนิดหน่อย ก็พอ

    นี่แสดงให้เห็นว่า โลภะไม่เคยห่างไกลเรา ตั้งแต่เกิด ทางตาเห็นสิ่งที่สวยงาม ทางหูต้องการเสียงเพราะ ทางจมูกต้องการกลิ่นหอม ทางลิ้นต้องการรสอร่อย ทางกายต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย แม้แต่ในห้องนี้ เราก็ต้องการอากาศที่เย็นๆ สบายๆ เก้าอี้นุ่ม ๆ ไม่แข็งเกินไป นี่ก็เป็นความต้องการทางกาย ทางใจก็ยังต้องการเรื่องสนุกสนาน ดูทีวี ดูละคร นึกเรื่องนั้นเรื่องนี้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรามีแต่ความต้องการทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่องคำ เช่นคำว่า สงบ หรือคำว่า นิพพาน ยังไม่ทันรู้เลยว่า แปลว่าอะไร อยากจะได้เสียแล้ว อยากจะทำเสียแล้ว อยากจะถึงเสียแล้ว แล้วอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้อย่างไร แต่นี่เป็นโลภะในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุว่าโลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล ต้องการอยากจะได้ผลของกุศล อยากจะเป็นคนดี นั่นก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้ว ต้องรู้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

    ถ้ากำลังโกรธ สภาพที่โกรธมีจริงๆ ปัญญาสามารถเห็นความกระด้างของจิตใจที่กำลังโกรธ และรู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นและมีกิจหน้าที่ที่จะกระทำตามกำลังของความโกรธนั้นว่า โกรธมากหรือโกรธน้อยอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่คำว่า สมถะ หรือวิปัสสนา ขอให้มีปัญญาเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งทำ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจแล้วทำไม่ได้ สมถะคือสงบจากอกุศลทุกประเภท วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามความเป็นจริงในขณะนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ จะไปนั่ง แล้วจะไปเห็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่กิเลสก็ยังเยอะ คือเห็นแล้วกลัวบ้าง โกรธบ้าง ชอบบ้าง ถ้าเห็นนางฟ้า เทวดาก็ดีใจ เห็นนรกก็ตกใจกลัว ขณะนั้นไม่ใช่ของจริงเลย เพราะเหตุว่าเป็นการนึกคิดเหมือนความฝัน เวลาฝันจริงหรือเปล่า แต่เหมือนจริง ฉันใด ขณะที่กำลังเห็นเทวดา เห็นนรก เห็นอะไรต่างๆ เหมือนจริง แต่ไม่ใช่จริง เพราะเหตุว่าคือขณะนี้ที่กำลังเห็นโดยไม่ต้องไปนึกฝัน หรือว่าสร้างอะไรขึ้นมา

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆเจริญอบรมให้เข้าใจพระธรรมที่แท้จริงเสียก่อน แล้วจะไม่ถูกความต้องการของเราชักนำไปให้เข้าใจผิดๆ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นดิฉันคิดว่า จะมีประโยชน์มากถ้าเราจะเริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจเสียก่อน แทนจะไปคิดเรื่องการเจริญสมถะหรือวิปัสสนา ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงมาก สมถภาวนาสามารถทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างขณะที่ให้ทาน รักษาศีล ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ความสงบของจิตจะมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัญญาจริงๆ สติสัมปชัญญะปกติจริงๆ นั่นเป็นความสงบที่สามารถทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิได้ แต่ดับกิเลสไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงหนทางซึ่งผู้อื่นประพฤติปฏิบัติมาแล้ว คือ สมถภาวนา แต่ทรงแสดงหนทางให้รู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องวันสองวัน หรือชั่วโมง สองชั่วโมง เป็นเรื่องที่เราจะต้องตรงต่อตัวเราเองว่า การฟังแต่ละครั้งทำให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นสักนิดหน่อยหรือเปล่า หรือเพิ่มขึ้นมาก เพราะประโยชน์ของการฟัง คือ ความเข้าใจ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็คือต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงจะเป็นพระธรรม แต่ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเลย ขณะนั้นก็จะต้องฟังต่อไปอีก แล้วพิจารณาในเหตุผลนั้นต่อไปอีกว่า เป็นความถูกต้องหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระธรรมจริงๆ พิสูจน์ได้แม้ในขณะนี้ พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ


    หมายเลข 4699
    29 ส.ค. 2558