อนันตรูปนิสสยปัจจัยคือสภาพธรรมในขณะนี้นั่นเอง


    ย้อนกลับมาถึงขณะนี้  ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งธรรมดาเหลือเกินที่ทุกท่านเห็น  แต่ลองคิดจริง ๆ ว่า 

    ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด   จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้

    และถ้าภวังคุปัจเฉทจิตไม่เกิด  ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดไม่ได้   ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง  ภวังคุปัจเฉทจิตต้องเกิดขึ้นแล้วดับไป   ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเกิดได้

    ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องแล้วดับไป   จักขุวิญญาณจึงเกิดเห็นในขณะนี้ได้

    จักขุวิญญาณต้องแล้วดับไป   สัมปฏิจฉนจิตจึงเกิดรับอารมณ์  รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณได้

    สัมปฏิจฉนจิตต้องดับไป   สันตีรณจิตจึงเกิดขึ้นพิจารณารู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏได้

    สันตีรณจิตต้องดับไป  โวฏฐัพพนจิตจึงเกิดขึ้นตัดสินอารมณ์ที่เป็นกุศลจิต  หรืออกุศลจิตที่จะเกิดต่อ

    โวฏฐัพพนจิตต้องดับไป  ชวนจิตดวงที่ ๑  แล้วแต่จะเป็นกุศลหรืออกุศล  ต้องดับไป   ชวนจิตดวงที่ ๒  จึงเกิดขึ้นได้  ตลอดไปจนถึงชวนจิตดวงที่ ๗  และตทาลัมพนจิต  และภวังคจิตตามลำดับ

    เป็นอย่างนี้ในขณะนี้อย่างรวดเร็ว   โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้ง หรือหยุดยั้ง   หรือเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยได้เลย

    แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาจริง ๆ   แต่ขอให้ทราบว่า  แม้อนันตรปัจจัย  คือ  จิตและเจตสิกซึ่งเกิดก่อนแล้วดับไปนั่นเอง   เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังของจิตดวงต่อไป   

    ทุกท่านมีกุศลจิตในวันหนึ่ง   แล้วก็มีอกุศลมากในวันหนึ่ง  แต่ลืมพิจารณาว่า   ถ้าจิตดวงก่อน ๆ ไม่เกิด   กุศลจิตและอกุศลจิตในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้   

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องของการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า  สภาพธรรมใดเป็นอุปนิสสยปัจจัย   นอกจากอารมณ์เป็นอุปนิสสยปัจจัย   คือ  เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยแล้ว   อนันตรปัจจัย  สภาพธรรมของจิตและเจตสิกซึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย  คือเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยนั่นเอง 


    หมายเลข 4939
    28 ส.ค. 2558