วิหารธรรมของอริยสาวกผู้ทราบชัดในพระศาสนา


    ส. ยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ สำหรับสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังก็จะได้ทราบแล้วจากใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ซึ่งครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้เสด็จ เข้าไปเฝ้า ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผล ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมชนิดไหนเป็นส่วนมาก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผล ทาบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ เป็นส่วนมาก คือ อริยสาวกในศาสนานี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ซึ่งภาษาบาลีคือ อิติปิโสภควา พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ภาษาบาลีคือ อรหัง ตรัสรู้เองโดยชอบ สัมมาสัมพุทโธ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ วิชชา จรณะสัมปันโน เสด็จไปดีแล้ว สุคะโต ทรงรู้แจ้งโลก โลกะวิฑู เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า อะนุตตโร ปุริสะธรรม สาระถิ เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย สัตถาเทวมนุส สานัง เป็นผู้เบิกบานแล้ว พุทโธ เป็นผู้จำแนกธรรม ภควา ท่านผู้ฟังระลึกอย่างนี้ หรือเปล่า คะหรือสวด ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารถพระตถาคต ย่อมได้ ความซาบซึ้ง อรรถ ย่อมได้ความซาบซึ้งธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจประกอบด้วย มีปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้ อาตมาภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อย ในเมื่อหมู่สัตว์ ยังไม่สงบ เรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ ต่อไป ก็เป็นการระลึกถึงพระธรรม เป็นธรรมานุสติ พระสงฆ์ เป็นสังฆานุสติ ศีลเป็นสีลานุสติ จาคะเป็นจาคานุสติ และเทวดาคือ เทวตานุสติ ตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรมหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผลแล้ว ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ เป็นส่วนมาก นี่เป็นปกติชีวิตประจำวัน ของพระอริยสาวก เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนา คือการอบรมเจริญความสงบ เป็นเรื่องที่ควรเจริญ แต่ว่าต้องถูกต้องด้วย มิฉะเช่นนั้นแล้วก็ ไม่ใช่ความสงบ แต่ก็อาจจะคิดว่าสงบ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยสาวก ผู้ที่ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟัง ที่ต้องการความสงบ หรือต้องการที่จะเจริญสมถภาวนา จะปฏิบัติอย่างไรคะ เพราะแม้แต่พระอริยสาวก ท่านก็เป็นผู้ที่เจริญความสงบ โดยการระลึกถึงพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวดานุสติ


    หมายเลข 5151
    20 ก.พ. 2567