การเจริญสมถภาวนาควรจบลงด้วยการเห็นธรรมในธรรม


    .   มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะ สำหรับพุทธานุสติ ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจในพระธรรมแล้ว การระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาค ย่อมยาก เพราะฉะนั้น สำหรับ สมถภาวนา ที่เป็นอนุสติ มี ๑๐ คงยังไม่ลืมว่า สมถภาวนาทั้งหมดมี ๔๐ ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ แล้วก็อนุสติ ๑๐ ที่กำลังกล่าวถึง สำหรับต่อจากอนุสติ ๑๐ นั้นก็ ยังจะไม่กล่าวถึง สำหรับอนุสติ ๑๐ นี่คะ มีพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ มรณสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสติ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรที่จะทราบความเกี่ยวเนื่องกันของอารมณ์กรรมฐานทั้งหมดด้วย โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า สมถกรรมฐานทั้งหมดถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาเองโดยตรงจากพระไตรปิฎก หรือจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้น ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า สมถกรรมฐานทั้งหมดทุกประการ จบลงด้วย เห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย  เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการอบรมเจริญความสงบ  ไม่ใช่เพียงให้สงบ แต่ต้องพร้อมกับ การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ด้วย สำหรับพุทธานุสติก็ดี ธรรมานุสติ ซึ่งเป็นการระลึกถึงพระธรรม สังฆานุสติซึ่งเป็นการระลึกถึงคุณของพระอริยสาวก สีลานุสติ การระลึกถึงศีลของท่าน คือของตนเอง ถ้าเป็นผู้ที่ทุศีล นี่คะ จะนึกถึงศีลได้อย่างไรคะ ไม่เห็นคุณของศีล แล้วก็ไม่รู้ความผ่องใส่ ของการสามารถที่จะละเว้นจากทุจริตกรรมได้ แต่ว่าทั้งๆ ที่น่าจะทำทุจริตกรรม ยังสามารถที่จะละเว้นได้ ก็ย่อมจะเกิดความปีติผ่องใส่ ในกุศลที่สามารถที่จะละเว้นทุจริตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติรักษาศีล จึงจะสามารถระลึกถึงคุณของศีลของตนได้ สำหรับจาคานุสติก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้ที่เห็นคุณของการสามารถที่จะบริจาคได้ ในเมื่อสัตว์โลกทั้งหลายยากที่จะบริจาค เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่แล้วก็เป็นผู้ที่ติด ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีการบริจาคเนืองๆ มีความสามารถที่จะบริจาคบ่อยๆ การที่จะระลึกถึงจาคะ คือ การบริจาคของตน ย่อมทำให้เกิดจิตผ่องใสได้ที่ ตนสามารถที่จะเปลื้องตนเองได้จากความตระหนี่ ซึ่งละยาก แล้วสำหรับเทวตานุสติ  การระลึกถึงคุณของเทวดา ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกเท่านั้น ที่จะระลึกได้ เพราะเหตุว่าการที่บุคคคลใดจะได้เกิดในเทวโลกนั้น ต้องเป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้นั้นยังไม่ได้ดับอกุศลเป็น สมุจเฉท ในวันหนึ่งๆ นี่นะคะ มีอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต มีอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วก็ยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้น กรรมนั้น ย่อมสามารถที่จะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้ ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยะ นี่คะจะระลึกถึงคุณของเทวดาทั้งหลาย ที่เกิดในเทวโลกด้วยกุศลกรรมต่างๆ ได้ไหม ระลึกได้ แต่ว่าไม่มีปัจจัยพอที่จะให้เกิดความสงบ แล้วก็สำหรับพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ  เทวตานุสติ เฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยสาวกเท่านั้น ที่สามารถจะให้จิตสงบเมื่อระลึกถึงกรรมฐานเหล่านั้น สำหรับปุถุชนแล้วไม่สามารถที่จะถึงอุปจารสมาธิ แต่การระลึกถึงพระพุทธคุณก็ดี จนกระทั่งถึงการระลึกถึงคุณของเทวดาก็ดี ไม่สามารถจะให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ถึงขั้น อัปปนาสมาธิ ที่เป็นฌานจิตได้ แต่ว่าจุดประสงค์ของสมถภรรมฐานทุกบรรพ สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น อย่าลืมว่าเพื่อการเห็นธรรมในธรรม เพราะฉะนั้น แม้แต่อนุสติอื่นๆ อีก ๔ คือ มรณสติก็ตาม กายคตาสติก็ตาม อานาปานสติก็ตาม อุปสมานุสติก็ตาม เป็นเพียงเครื่องระลึกแล้วปัญญาก็ควรที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้ ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรม ที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน


    หมายเลข 5160
    19 ส.ค. 2558