ทบทวนปัจจัย - อุปนิสสยปัจจัย


    ปัจจัยที่ ๕  คือ  โดยอุปนิสสยปัจจัย  ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้น  แต่ว่าสำหรับอุปนิสสยปัจจัยนั้นเป็นสภาพที่เป็นปัจจัย  โดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน   

    นี่เป็นความต่างกัน   

    อุปนิสสยปัจจัย  ถ้าโดยการทบทวน   ก็คงจะไม่ลืมว่ามี ๓  คือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๑   อนันตรูปนิสสยปัจจัย ๑   และปกตูปนิสสยปัจจัย ๑ 

    โดยนัยของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย  โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง   โดยเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิตขณะต่อ ๆ ไป   ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า   ถ้ามีความชอบใจ  หรือมีความพอใจในความเห็นผิดอย่างไหน   มักจะคิดถึงความเห็นผิดนั้นอีก   แล้วก็มีความโน้มเอียงที่ต้องการ   ที่พอใจ  ที่ติด  ที่ยึดในความเห็นนั้นอีก   

    นี่ก็เป็นของธรรมดา   เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่เกิดขึ้นขณะหนึ่ง   เป็นที่พอใจในความเห็นผิดนั้น  ถึงแม้ว่าจะดับไปแล้วก็จริง  แต่ก็ยังเป็นอารมณ์ที่จะทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดต่อไปข้างหน้าได้

    สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย  ก็โดยนัยเดียวกันกับอนันตรปัจจัย   คือ การดับไปของโลภมูลจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย   โดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง   ทำให้โลภมูลจิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อในชวนวิถี   และสำหรับดวงสุดท้ายที่เป็นชวนวิถี   ก็เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนะเกิด   หรือว่าภวังคจิตเกิด   ตามวิถีจิต  เท่านั้นเอง

    สำหรับโดยนัยของปกตูปนิสสยปัจัย   เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้กระทำ  คือ สะสมไว้   

    เป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ   โลภมูลจิตขณะหนึ่งเกิดแล้ว  ดับไป  ไม่สูญหาย   สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อ ๆ ไป   เคยกระทำไว้  เคยคิดอย่างนั้น   เคยเห็นอย่างนั้น  เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะสมที่มีกำลังที่จะทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์อย่างนั้นเกิดอีก   

    ถ้าไม่กล่าวถึงโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์   คือเกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิด   จะเห็นได้จากชีวิตประจำวันจริง ๆ ว่า  แต่ละท่าน ที่มีความพอใจ  หรือว่ามีอัธยาศัยต่าง ๆ กันไป   ในสิ่งที่เห็นทางตา   ในเสียงที่ได้ยินทางหู   ในกลิ่นต่าง ๆ   ในรสต่าง ๆ   ในเสื้อผ้า   ในวัตถุ  ในเครื่องใช้   ในเรื่องราวต่าง ๆ ที่สนใจ  ที่สนุกสนาน  แม้แต่การเล่น   ก็จะเห็นได้ว่า  เพราะได้เคยพอใจอย่างนั้น  เคยสะสมมาอย่างนั้น  เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว   

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย   เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง  โดยปกติที่ได้เคยกระทำสะสมไว้แล้ว

    ซึ่งสำหรับเรื่องในอดีตที่เป็นชาดกนี้   จะเห็นได้ว่าการที่พระผู้มีพรtภาคทรงแสดงชาดก   ก็เพราะเหตุว่าได้เกิดการกระทำและเหตุการณ์นั้น ๆ ขึ้น   ที่พระวิหารเชตวันบ้าง   ที่กรุงสาวัตถีบ้าง   ที่เมืองพาราณสีบ้าง   เมื่อมีเหตุการณ์นั้นๆ   หรือการกระทำของบุคคลนั้น ๆ เกิดขึ้น

    เป็นที่น่าแปลกใจว่า   ทำไมแต่ละบุคคลนั้นจึงกระทำสิ่งนั้น ๆได้   เพราะฉะนั้นเมื่อได้ไปเฝ้าแล้วก็กราบทูลพระผู้มีพระภาค   พระองค์จึงได้ทรงแสดงชาดก   คือ  เหตุการณ์ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นอย่างนั้น ๆ มาแล้วแก่บุคคลนั้น ๆ ในอดีต   

    เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็ลองพิจารณาตนเอง  จะคิด  จะพูด  จะทำ  จะชอบ  จะไม่ชอบ สิ่งหนึ่งสิ่งใดนี้   ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว   แต่ว่าต้องเคยคิด   เคยทำ  เคยพูด  เคยชอบ  เคยไม่ชอบอย่างนั้น ๆ มาแล้วอดีต   จนกระทั่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดคิด  พูด  หรือทำในขณะนี้  เป็นอย่างนี้  ไม่ว่าจะเป็นด้วยกุศลจิต  หรืออกุศลจิตประเภทใดก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า  โดยปกตูปนิสสยปัจจัย


    หมายเลข 6047
    26 ส.ค. 2558