บ้านธัมมะ ม.ค. ๒๕๕๒ ตอนที่ 31


    สนทนาธรรมที่บ้านธรรม เชียงใหม่

    ๑๓-๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง เรื่องราวของลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นอย่างไร เช่น คำว่า สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน หรือที่สนทนาธรรมเมื่อ ๒ วันก่อน จะมีศัพท์ทางธรรมเยอะมาก วิปัสสนากัมมัฏฐาน กายสังขาร อายตนะ ที่ผู้ศึกษาธรรมจะต้องได้ยินศัพท์เหล่านี้ ซึ่งเมื่อถูกท่านอาจารย์ถาม เมื่อ

    ผู้ฟัง ตั้งคำถาม ยกตัวอย่างว่า ต้องนั่งสมาธิก่อน ปัญญาถึงเกิด เมื่อท่านอาจารย์ย้อนถามว่า แล้วสมาธิคืออะไร เท่าที่ฟังส่วนใหญ่ก็จะตอบกันไม่ได้ ซึ่งก่อนที่หนูจะมาศึกษากับท่านอาจารย์ ก็ได้ยินสิ่งเหล่านี้แล้วก็ทำตามที่บอกให้ทำ โดยที่ไม่ทราบว่า สิ่งเหล่านั้นคืออะไร ปัญญารู้อะไร อนัตตาคืออะไร แต่เมื่อกี้นี้ที่ฟังท่านอาจารย์อธิบายจบไป แล้วท่านอาจารย์ก็บอกว่า คงไม่ถามแล้วใช่ไหมว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติเกิด ซึ่งผู้นั้นเท่านั้นจะรู้เอง ซึ่งผู้นั้นจะรู้เองได้ คือ ต้องมีพื้นฐานในการเข้าใจเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรมที่มั่นคงเพียงพอ เป็นสัญญาที่มั่นคง จึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้ปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมเกิด โดยที่ไม่ใช่คนอื่นมาบอก หรือตัวเองไปถามใคร ก็ไม่สามารถที่ใครจะไปยืนยันให้ได้

    เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาเอง ศึกษาเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า เช่น คำว่า “สติ” อาจเคยคิดว่า จะข้ามถนนต้องมีสติ แต่จริงๆ เมื่อมาฟังก็ทราบว่า สติเป็นโสภณเจตสิกเกิดในทาน ในศีลก็ได้ แต่ถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็จะทำให้เข้าใจ รู้ลักษณะตรงตามที่ศึกษา

    อันนี้จะขอสนทนาตรงนี้ว่า การที่จะมีปัญญารู้ ให้เข้าใจธรรม คือ ศึกษาอย่างที่ท่านอาจารย์พร่ำสอนพวกเราเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ รู้แค่นี้ก็ไม่พอ ใช่ไหมคะ รู้มากกว่านี้ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะเป็นอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง จนกว่าจะรู้ยิ่ง รู้ทั่ว

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง แต่ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเห็นความลึกซึ้งของธรรมด้วย โดยมากมักจะต้องการผู้ตัดสิน และมักจะถามว่า อย่างนี้ใช่ไหม อย่างนี้ หรือเปล่า แต่ใครจะรู้ สภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว และไม่ได้เกิดกับบุคคลใด คนอื่นจะรู้ได้ไหม ถ้าไม่ใช่บุคคลนั้นเอง อย่างเวลาได้ยินคำว่า “เมตตา” หมายความถึง มิตร เพื่อน หวังดีพร้อมที่จะทำประโยชน์เกื้อกูล

    เพราะฉะนั้นเราก็สามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าสภาพที่หวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูลเป็นอกุศลไม่ได้ แต่ความละเอียดของธรรม ผิวเผินไม่ได้เลย รักลูก หรือว่าเมตตาลูก ทำทุกอย่างให้ลูกเลย เหมือนหวังดีที่สุด ไม่มีใครหวังดีเท่าพ่อแม่ ใช่ไหมคะ แต่ขณะที่กำลังทำนั้นๆ เมตตา หวังดี หรือว่ารัก ติดข้อง

    ธรรมเป็นธรรม ถ้าไม่มีการฟัง ไม่สามารถรู้ความเป็นจริง และอาจจะหลงเข้าใจผิดได้ อย่างใครๆ ก็รักลูกกันทั้งนั้นเลย เวลาที่บอกว่า เมตตาเป็นความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูลทำประโยชน์แก่บุคคลนั้น เวลาที่ทำประโยชน์กับลูก เหมือนกับเวลาที่ทำประโยชน์กับบุคคลอื่น หรือเปล่า บอกว่าพ่อแม่รักลูก หวังดีต่อลูก และเวลาที่เป็นกุศล ก็คือความเมตตา เป็นมิตรแท้จริงๆ ไม่ประทุษร้าย ไม่คิดถึงในการทำร้ายเบียดเบียน และเป็นผู้หวังดี พร้อมจะทำประโยชน์เกื้อกูล เสมือนว่าแม่มีเมตตาต่อลูก แต่ว่าตามความเป็นจริง ความละเอียดก็คือว่า ขณะที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเมตตา แต่ความจริงเป็นโลภะ เป็นความติดข้อง หรือว่าเป็นเมตตา

    ผู้ฟัง ตอนเช้าท่านอาจารย์ก็กรุณาอธิบายเรื่องเมตตากับโลภะว่า ที่ไม่ใช่เมตตา เป็นโลภะ อย่างไร และพยายามถาม เพราะอยากจะให้สติสัมปชัญญะเกิดบ่อยๆ แต่พอพี่แอ๊วกรุณาเอาซุปมาให้ สิ่งแรกที่คิดได้ก็คืออร่อยมาก ไม่ได้คิดถึงคนอื่น ถ้าใครมาขอเราตรงนั้น ก็มีเรื่องแน่ ก็คิดว่า เมตตาฟังง่ายๆ แต่ทำไมเกิดยาก ก็เลยคิดว่า สติที่ปรารถนา ท่านอาจารย์ก็พูดบ่อยๆ เนืองๆ แต่ก็เป็นไปได้ยากจริงๆ อยากให้ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องการมีสติกับการหลงลืมสติอีก เพราะว่าเมื่อกี้ก็ลืมไปแล้ว ขอให้อธิบายใหม่อีกทีค่ะ

    ท่านอาจารย์ พูดอีกก็เหมือนเดิม ใช่ไหมคะ คงจะไม่ต่างจากเดิม แต่มีความเข้าใจที่มั่นคง ฟังเมื่อไร ก็ไม่ลืมว่า ขณะนี้มีธรรมที่กำลังปรากฏ รู้แน่ๆ เลย ใครๆ ก็ต้องรู้ว่า ขณะนี้มีธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เข้าใจถูกตามความเป็นจริงในความเป็นธรรมนั้น หรือเปล่า แต่ละอย่าง เพราะเหตุว่าเราคิดว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้มีสาระ หรือมีความสำคัญมาก เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เพียงมีปัจจัยเกิดแล้วดับ สำคัญ หรือคะ แล้วสำคัญสักแค่ไหน แต่เพราะความไม่รู้ ก็ยังยึดถือ และมีความต้องการสิ่งที่ปรากฏร่ำไป คือ ตั้งแต่อยากเห็น ไม่มีใครอยากตาบอด เห็นแล้วก็ยังชอบ พอใจในสิ่งที่เห็น ชอบพอใจในสิ่งที่เห็นแล้วก็ยังแสวงหาจนกระทั่งได้มา ได้มาแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ในการรักษาสิ่งนั้น ไม่ให้เสียหายไป แล้วเป็นประโยชน์อะไรกับเพียงการได้เห็นสิ่งที่เพียงสามารถปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อละความติดข้อง ละความไม่รู้ และเห็นโทษของความไม่รู้ว่า ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้อยู่ ขณะนั้นจะเป็นกุศลได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเมื่อไม่รู้ ก็ย่อมติดข้องในสิ่งนั้น ก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ เพื่อจะไม่ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สามารถเข้าใจถูก และเห็นถูกได้จริงๆ ช้า หรือเร็ว ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก จะไปเห็นถูก เข้าใจถูกในธรรมที่ไม่ปรากฏได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังมีนี่แหละเท่านั้น ที่ปัญญาสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้

    ผู้ฟัง ก็มองเห็นอวิชชาของตัวเอง แต่เสบียงเยอะ ของฝากเยอะ คิดว่าเมื่อเขาให้ก็ยื่นมือรับทันที กระเป๋าก็มี กาแฟจากพี่แอ๊ว ก็รับไว้ ก็เลยคิดถึงคำว่า “เสบียง” เราได้รับของ เหมือนมีของเยอะ เสบียงก็คือสิ่งที่จะต้องติดตามเราไปในสังสารวัฏฏ์ เราฟังธรรม ไม่ว่าจะมีโลภะ โทสะเกิดขึ้น เราก็มีความอยากว่า ไม่อยากให้มันเกิด ทีนี้เมื่อเราฟังธรรมแล้วก็คิดว่า ถ้าเราไม่เห็นโลภะที่เป็นสาเหตุทำให้เราเร่าร้อน ก็ไม่สามารถเป็นปกติได้ แต่ก็เข้าใจว่า ตัวเองก็มีกิเลสมากมาย การเดินทางไปในสังสารวัฏฏ์ ที่จะต้องเจอสิ่งต่างๆ เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงจะไม่อยากได้อย่างไร ก็ต้องอยากได้ อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า การฟังธรรมเพื่อเป็นเสบียงไปในสังสารวัฏฏ์ สิ่งสำคัญที่สุดคืออะไรคะ

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วมีใครไม่อยากได้สิ่งที่ดีๆ บ้างคะ

    ผู้ฟัง ก็คงไม่มีใคร

    ท่านอาจารย์ และสิ่งที่ดีๆ ที่ทุกคนหวังจะได้ ได้กันทุกคน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ทำไมบางคนได้ บางคนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็อยากจะได้

    ผู้ฟัง ทุกคนก็อยากจะได้สิ่งที่ดีๆ อยากได้ แต่ไม่ทราบจะทำอย่างไรถึงจะได้

    ท่านอาจารย์ ได้แล้ว หรือเปล่าคะ ขณะนี้

    ผู้ฟัง ได้ค่ะ แต่ยังไม่ค่อยพอใจ รู้สึกว่ายังไม่ค่อยดีเท่าไร

    ท่านอาจารย์ อยากจะให้ดีแค่ไหน

    ผู้ฟัง เท่าที่เห็นคนอื่น ของตัวเองไม่ค่อยดี ของคนอื่นดี

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ยังมีคนอื่น คนอื่น ที่ดีกว่าคนอื่น คนอื่น ที่อยากจะได้อีก หรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ก็เลยขอท่านอาจารย์อธิบายว่า เสบียงจริงๆ เป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ เพราะลืมว่า มีสิ่งที่กำลังได้แล้ว จึงคิดอยากจะได้สิ่งที่ยังไม่ได้ ใช่ไหมคะ แต่ทุกขณะที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ได้แล้วแน่นอน เพราะว่ามีจริงๆ และเกิดแล้วด้วย

    เพราะฉะนั้นบางคนพอทำกุศล แล้วก็อธิษฐานขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เกิดบนสวรรค์ ขอให้เป็นเศรษฐี เป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์คหบดีมหาศาล กำลังได้อยู่ หรือเปล่า จะเกินเห็น เกินได้ยิน เกินได้กลิ่น เกินลิ้มรส เกินสิ่งที่กระทบสัมผัสได้ไหม ไม่ว่าจะหวังอะไรก็ตาม ที่ว่าดี ก็เพียงแค่เห็น แค่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ความจริงน่าจะคิดว่า ชาติก่อนๆ เคยอธิษฐานอย่างนี้ หรือเปล่า และชาตินี้ได้แล้ว คือ ได้เห็นแน่ๆ และได้ยินด้วย ได้กลิ่นด้วย ยังไม่พอใจ ยังอยากได้สิ่งอื่นเพื่อที่เพียงเห็น เหมือนเดิมค่ะ แค่เห็น เท่านั้นเอง จะปรารถนาอะไรสักเท่าไร ก็ไม่เกินกว่านี้ และจริงๆ แล้วก็ลืมว่า ได้แล้วด้วย หรือใครยังไม่ได้คะ ผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็น มีการได้ยิน ได้ฟังสิ่งที่สามารถทำให้เข้าใจธรรมได้ ควรจะได้สิ่งนี้ หรือเพียงให้เห็น ให้ได้ยินเท่านั้นในสิ่งที่พอใจ โดยที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วควรหวังอะไรคะ หวังเพียงแค่ได้ยิน หรือหวังที่ได้ยินแล้วก็เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ได้ยิน ก็แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วปกติที่ว่า หวังได้ หวังได้กิเลส หรือหวังได้การละกิเลส ก็ไม่รู้ตัวเลย และไม่รู้ด้วยว่า ได้แล้วตามที่เคยหวังว่าจะได้ แต่ว่าจะได้มากได้น้อยแค่ไหน ตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม

    ผู้ฟัง เพิ่งทราบความจริงว่า อยากจะได้ ก็ได้แล้ว ก็คงต้องอยากต่อไป แล้วก็ได้อีก

    ผู้ฟัง ขอเพิ่มนิดหนึ่งครับ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ได้แล้ว ผมก็ยังอยากอยู่ อยากได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น อันนี้ไม่ทราบว่า ท่านอาจารย์เห็นเป็นอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังนี่ได้ หรือยังคะ

    ผู้ฟัง ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ และจะได้อีก ต่อเมื่อฟังอีก

    ผู้ฟัง แต่ได้ก็ยังเล็กๆ น้อยๆ จะว่าเป็นโลภะเกิดก็ไม่เชิง แต่ว่ามันเป็นเรื่องของปัญญา รู้สึกว่า บางครั้งฟังไปเหมือนจะเข้าใจเพิ่มขึ้น บางครั้งก็เหมือนยิ่งฟังก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง นี่เป็นความที่เรายังไม่มั่นคง หรือปัญญาของเรายังไม่เกิด หรือเกิดก็เกิดเพียงเล็กน้อย ท่านอาจารย์ก็บอกว่า อุปมาเหมือนด้ามมีด ก็ปลอบใจว่าเป็นเหมือนด้ามมีด ก็ฟัง แต่ตัวโลภะมันมาคอยกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงไม่ชอบโลภะ รังเกียจโลภะ ไม่อยากมีโลภะ ในเมื่อโลภะก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เสมอกับธรรมอื่นๆ คือ ไม่ใช่ของใคร แต่เพราะไปเอาธรรมมาเป็นของเรา ไปเอาโลภะมาเป็นของเรา ก็เลยไม่อยากมีโลภะ โลภะก็เป็นธรรม ก็เรื่องของธรรม เป็นเรา หรือเปล่าคะ แล้วเดือดร้อนทำไม

    ผู้ฟัง ที่เดือดร้อน เพราะว่าปัญญามันเกิดช้า อันนี้ก็พูดด้วยความจริงใจ กระผมก็ไม่อายว่ามันเกิดช้า ก็อยากให้เกิดเร็วๆ ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ อยู่ที่การสะสม มานึกถึงในครั้งพุทธกาล ผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยเจ้า ท่านสะสมมาเป็นเวลานาน ไม่ต้องไปคิดเลยว่ายาวนานแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ อยากให้มีปัญญามากๆ กำลังอยากนั้นเป็นปัญญา หรือเปล่าคะ


    หมายเลข 6075
    8 ม.ค. 2567