บ้านธัมมะ ม.ค. ๒๕๕๒ ตอนที่ 34


    สนทนาธรรมที่บ้านธรรม เชียงใหม่

    ๑๓-๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๒


    อ.นิภัทร สมาธิที่รู้แจ้งต้องเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่อยู่กับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยเฉพาะ แต่มีความมั่นคงในอารมณ์ที่ตัวระลึก นั่นแหละคือสมาธิในสัมมาสมาธิ สมมติว่าจักขุวิญญาณเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือรูปารมณ์ วัณณรูปมีลักษณะอย่างไร สมาธิเขามั่นคงในสิ่งที่รู้นั้นว่า เป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่อย่างอื่น นี่แหละคือสมาธิในสัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธินั่งโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย สมาธิที่นั่งไปโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ใช่สมาธิที่ประสงค์ในที่นี่ เพราะว่าสมาธิอย่างนั้น ขณะที่นั่งรู้สึกว่าไม่มีกิเลสเกิดขึ้นเลย แต่พอออกมาแล้วก็ไม่รู้ไหลมาจากไหนเต็มไปหมด ใจที่ตั้งมั่นก็เหมือนกันก็มีที่ให้ตั้ง อย่างสติปัฏฐาน เป็นฐานที่ใจจะตั้ง มีกาย เวทนา จิต ธรรม

    ผู้ฟัง เป็นคนที่ชอบอ่านพระสูตรเหมือนกัน บางทีศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็งงๆ ไม่เข้าใจ มีพระสูตรหนึ่งที่ฟัง และอ่านบ่อยมาก ตอนฟังก็คิดพิจารณาด้วย ก็คิดว่า เข้าใจบ้าง แต่ทีนี้ไม่อยากจะคิดเอง เพราะกลัวจะเป็นการศึกษาที่ผิวเผิน และไม่เข้าใจจริงๆ

    ข้อความในพระสูตรก็มีอยู่ว่า โลกถูกชราครอบงำ โน้มไป เอียงไปในชรา โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่ โลกไม่มีอะไรเป็นของของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป โลกไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ตกเป็นทาสของตัณหา

    ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยอนุเคราะห์แสดงแจกแจงให้ชัดเจนครับ

    อ.ธิดารัตน์ โลกในทีนี้ก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับ โลกะ ก็ไม่พ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นที่ว่าไม่อิ่ม ตัณหา ความยินดีพอใจ ท่านมีอุปมาไว้เยอะมาก เหมือนมหาสมุทร คือ ไม่มีทางที่จะเต็ม ไม่พอ จึงไม่อิ่ม เพราะว่าตัณหาก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่เกิดขึ้นก็ติดข้องยินดีพอใจทุกครั้ง ไม่เคยพอ และสิ่งที่จะครอบงำทุกอย่าง ท่านแสดงว่า ตัณหาครอบงำทุกอย่างก็มี ในบางสูตรก็แสดงว่า นาม ชื่อ หรือบัญญัติครอบงำทุกอย่าง เพราะจริงๆ แล้วติดในชื่อ เมื่ออ่านพระสูตร ลองอ่านอรรถกถาที่ต่อจากพระสูตรที่ขยายความพระสูตร ก็จะทำให้เข้าใจคำอธิบายของแต่ละสูตรนั้น และไม่ใช่อ่านเพียงสูตรเดียว ต้องกว้างขวางหลายๆ สูตร จริงๆ แล้วก็คือสภาพธรรม ทุกๆ สูตรท่านแสดงเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม โดยนัยต่างๆ นั่นเอง ไม่ทราบมีอะไรถามเพิ่มไหมคะ

    ผู้ฟัง โลกถูกชราครอบงำ โน้มไป เอียงไปสู่ชรา โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่

    อ.ธิดารัตน์ ก็อะไรจะต้านทานได้ เมื่อเกิดแล้วต้องดับ และโน้มไปสู่ความชรา มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ดับ

    ผู้ฟัง ทุกอย่างต้องดับครับ โลกไม่มีอะไรเป็นของของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

    อ.ธิดารัตน์ ก็เป็นอนัตตา มีอะไรเป็นของของเรา แม้สภาพธรรมก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งความจริงความหมายของอนัตตา ปฏิเสธความเป็นตน ไม่สามารถบังคับบัญชา ไม่มีใครที่มีอำนาจทำให้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับ เมื่อเกิดแล้วต้องดับ แล้วสภาพธรรมที่จะเกิดก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากมาย จึงไม่อยู่อำนาจของใครๆ เลย ก็แสดงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั่นเอง

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ท่านอาจารย์พูดถึงความสำคัญของความคิด และก็จะทราบความจริงของความคิด ปกติคนเราบางครั้งก็มีความคิด บางครั้งก็รู้สึกเหมือนไม่ได้คิด จริงๆ แล้วความจริงนั้นคืออะไรคะ

    อ.นิภัทร ที่ไม่คิดไม่มี หลับสนิทเขาก็มีคิด แต่ไม่ได้คิดเรื่องราวของโลกนี้ หลับสนิท ไม่ฝัน เรียกว่า ภวังค์ ก็มีความคิด มีอารมณ์ ขึ้นชื่อว่าจิต ที่จะไม่คิดไม่มี ไม่อย่างนั้นจะไม่เรียกว่า”จิต” ที่ว่าคิดคือรู้อารมณ์ เขาต้องมีอารมณ์ให้คิดอยู่เสมอ อารมณ์เป็นปัจจัยให้จิตคิด ไม่มีว่าง แต่พอฝัน ฝันนี่ไม่หลับแล้วนะครับ ฝันนี่ตื่นแล้ว แต่ใจตื่น ตา หู จมูก ลิ้น กายหลับ แต่ใจตื่น ทำไมถึงเรียกว่าใจตื่น ก็สามารถรู้เรื่องราวของโลกนี้ได้ ไม่เคยฝันเรื่องราวของโลกที่ผ่านมาแล้ว ฝันเรื่องที่เคยรู้เคยเห็นมาแล้วทั้งนั้น ฝันเรื่องราวของโลกนี้ สิ่งที่เคยเห็นมาแล้ว สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ฝัน

    ผู้ฟัง เมื่อกี้สงสัยอยู่นิดหนึ่งค่ะ ถ้าหลับสนิทมีคิดด้วย หรือคะ

    อ.นิภัทร หลับสนิทมีจิต หรือเปล่าครับ

    ผู้ฟัง มีจิตค่ะ

    อ.นิภัทร ขึ้นชื่อว่า “จิต” แล้วต้องคิดครับ คือรู้อารมณ์ แต่ไม่ใช่คิดเรื่องราวของโลกนี้ คิดเรื่องราวของชาติที่แล้ว ก่อนจะตายมีอารมณ์อย่างไร ตอนหลับสนิทก็คิดเรื่องนั้น อารมณ์เดียวกับก่อนจะตาย

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์กับคิดเหมือนกันไหมคะ

    อ.นิภัทร อันเดียวกันครับ คือ ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่ารู้อารมณ์ เพื่อจะให้เรารู้ว่าคิดคืออะไร ท่านก็บอกให้ชัดเจนไปว่า อธิบายว่า คือรู้อารมณ์ อรรถกถาว่าไว้อย่างนี้

    ผู้ฟัง ผมสงสัยว่า ภวังคจิตรู้อารมณ์ของชาติที่แล้วก่อนจะตาย ก็หมายถึงว่าอารมณ์ชาติที่แล้วก็รู้ ทีนี้เรามาเข้าใจอีกคำที่ว่า ระลึกชาติได้ จะเป็นลักษณะอย่างไรครับ มันต่างกันอย่างไร ระลึกชาติได้ก็ระลึกชาติที่ผ่านมาด้วยปัญญา แต่ว่าจิตคิดถึงชาติที่แล้ว หมายความว่าไม่มีปัญญาใช่ไหมครับ หมายความว่าจิตที่เป็นภวังค์

    อ.นิภัทร ไม่ทราบว่าใครระลึกชาติได้ มีคนมาพูดให้ผมฟังเหมือนกันว่า คนนั้นคนนี้ระลึกชาติได้ แต่ก็เป็นการเล่าต่อกันมา คนที่ระลึกชาติได้จริงๆ มาพูดให้ฟังต่อหน้าต่อตา ผมก็ไม่เคยเห็น เกิดมาก็ ๘๐ กว่าแล้วยังไม่เคยเห็น ที่ระลึกชาติได้ ไม่ใช่ว่าไม่มี ก็มี แต่ทำอย่างไรถึงจะระลึกชาติได้ ผู้ที่จะระลึกชาติได้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปฐมยาม ในยามต้น ทรงบรรลุปุพเพสานุสสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ ระลึกเท่าไรๆ ก็ไม่มีจบสิ้น ทำไมท่านถึงระลึกได้ เพราะท่านได้ฌานทั้ง ๘ ทั้งรูปฌาน อรูปฌาน และได้อภิญญาด้วย เชี่ยวชาญ อภิญญาเกิด ก็มีทิพยจักขุ ทิพยโสต ตาทิพย์ หูทิพย์ รู้จักจิตของคนอื่น ระลึกชาติหนหลังได้ ต้องมีเครื่องมือให้รู้ ไม่ใช่ว่าระลึกเอาเองนะ คนที่อยากจะระลึกชาติได้ ก็ต้องทำอย่างนี้ให้เกิด ให้มีอยู่ เป็นโลกียะก็ได้ หมายถึงไม่สำเร็จมรรคผล แต่ในอภิญญา ๕ ขาดอยู่อันเดียวเท่านั้น ถ้าไม่หมดกิเลส ขาดอาสวขยญาณ นอกนั้นปุถุชนก็ได้ ในปฐมยามพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ปุพเพสานุสสติญาณอย่างนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตรัสรู้ รู้อย่างนี้ยังไม่ถือว่าได้ตรัสรู้ ในมัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ ญาณที่ระลึกรู้ว่า สัตว์ที่มาเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน นอกจากรู้ตัวเอง แล้วยังรู้คนอื่นด้วย รู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอปัจฉิมยาม ยามสุดท้าย ธรรมทั้งหลายปรากฏเฉพาะต่อหน้าพระองค์ คือ ปฏิจจสมุปปาท อาสวขยญาณเกิด ตอนนี้แหละเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามสืบเนื่องมาจากที่คุณชุมพรถามเรื่อง ความจริงของคิด และคุณลุงก็ตอบว่า จิตมีสภาพที่คิด และบอกว่า ภวังคจิตก็คิด ทีนี้ตามความเข้าใจ พอฟังแล้วไม่กระจ่างชัด ความคิดความเข้าใจนี่คิดว่า จิตมี ๑๔ กิจ จิตเห็นไม่ได้คิด จิตที่ทำหน้าที่ต่างๆ ไม่ได้คิด ฟังแล้วงงมากขึ้น ต้องขอรบกวน ฟังแล้วไม่เข้าใจความจริงของคิด ตามคำถามของคุณชุมพรว่าคืออะไร

    อ.นิภัทร ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เป็นวิบากจิต เป็นวิถีมุตตจิต เป็นจิตที่พ้นจากวิถี คือ ไม่รู้วิถีทางทวารทั้ง ๖ ภวังคจิตไม่มีทวาร ไม่มีทางรู้อารมณ์ ถึงบอกว่าไม่รู้อารมณ์โลกนี้ไง แล้วจิตเกิดได้อย่างไร ภวังคจิตไม่ได้เกิดดวงเดียวแล้วหายไป ถ้าหลับนานก็ภวังค์ๆ ๆ ๆ อยู่นั่นแหละ แต่อารมณ์อะไรที่เป็นอารมณ์ของภวังค์ คือเราอย่าไปติดคำว่า “คิด” อย่างเดียว เพราะว่าพระอรรถกถาจารย์ท่านก็บอกแล้วว่า ขึ้นชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่าคิด คนก็จะไปติดว่า คิดอย่างไร คิดก็คือรู้อารมณ์ ท่านขยายให้ชัดเจนไปว่า คือรู้อารมณ์ของชาติก่อน ก่อนจะตายมีอารมณ์อะไร ก็คิดอารมณ์นั้นแหละ คิดลึกไป ผมว่ามันจะวุ่นวายนะครับ เอาแค่นี้ หยุดแค่ตรงนี้ เพราะเราก็ไม่สามารถรู้ได้ ท่านอาจารย์จะช่วยสงเคราะห์อย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็ต้องศึกษาโดยละเอียด โดยกว้างขวางด้วย เพราะพอเริ่มศึกษาใหม่ๆ เราก็จะได้ยินได้ฟังไม่ครบถ้วน เพียงเล็กน้อย เพียงบางประการ แต่เวลาที่ศึกษามากขึ้น ก็จะมีคำอธิบายที่กว้างขวางขึ้นอีกตามลำดับ เพราะเหตุว่าการที่จะกล่าวถึงธรรมโดยตลอด โดยถี่ถ้วน โดยครบถ้วนทั้งหมดแม้แต่ในสูตรเดียว หรือพยัญชนะเดียว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การฟังตามลำดับ ก็จะทำให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้แต่คำอธิบายก็ตามลำดับด้วย อย่างที่คุณนิภัทรกล่าวถึง หมายความว่าจิตเป็นสภาพคิด และอธิบายว่า หมายถึงรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจิตประเภทใดก็ตามที่เกิดต้องรู้อารมณ์ จะคิด หรือจะหลับ หรือจะตื่น หรือจะทำอะไรก็ตาม เมื่อเป็นจิตซึ่งเป็นนามธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะมีจิตโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้เลย


    หมายเลข 6078
    8 ม.ค. 2567