พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 192


    ตอนที่ ๑๙๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ แม้แต่การสะสมที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ หรือจะเป็นเรื่องของความสงบของจิตใจ ขณะนั้นก็เป็นธรรมด้วย ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่ากี่ภพกี่ชาติก็ต้องมีความเป็นไปของสภาพธรรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นกุศลระดับอื่นซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งผลก็คือทำให้เกิดอีก แล้วก็เป็นอย่างนี้อีก แล้วก็ไม่รู้อีก จนกว่าจะเป็นกุศลที่สามารถจะทำให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมได้ นี่ก็เป็นความต่างกันของความไม่รู้กับความรู้

    ผู้ฟัง โดยสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวันจะขาดความเป็นตัวเรานั้นไม่มี แม้แต่ขณะฟังธรรม แต่เกิดความคิดขึ้นว่า สภาพธรรมที่เป็นตัวเราเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ คืออะไร สภาพนั้น

    ผู้ฟัง ความรู้สึกยินดี

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกยินดีเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่คุณสุกัญญาแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ แต่ในขณะที่ยินดี เราก็มีความรู้สึกว่าเรายินดี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าการที่จิตสามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ต้องอาศัยทางตา ๑ จึงเห็น อาศัยทางหูจึงได้ยิน อาศัยจมูกจึงได้กลิ่น อาศัยลิ้นจึงลิ้มรส อาศัยกายจึงรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส อาศัยใจจึงคิดนึก เพราะฉะนั้นขณะนั้นคือจิตที่คิดนึก เพราะฉะนั้นเราต้องมีความชัดเจนในการศึกษาธรรม มิฉะนั้นแล้วความเป็นเราก็จะแอบแฝงหรือปะปนอยู่ รวมๆ กันแล้วก็เป็นเรา ถ้าไม่สามารถที่จะแยกออกมาได้ว่าไม่ใช่เราเพราะอะไร เพราะว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ เช่น ขณะที่กำลังเห็น เป็นเรามานานแสนนาน แต่ต้องรู้ขณะจิตว่า จิตที่เห็นเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเพราะกรรม ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย จิตเห็นขณะนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุว่ากรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิด สำหรับที่จะกระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้ คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น สิ่งอื่นไม่สามารถจะกระทบกับจักขุปสาทได้ และสิ่งที่กำลังกระทบจักขุปสาทก็เลือกไม่ได้ด้วยว่า จะให้เป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เช่นนี้ก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าไม่ใช่เรา เพราะฟังอย่างนี้ ได้เข้าใจอย่างนี้ แต่ยังไม่ใช่การประจักษ์ในธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็น และในสภาพที่กำลังปรากฏซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงกระทบแล้วปรากฏแล้วก็ดับไป นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อเรามีความเข้าใจขั้นต้น ก็ยังต้องมีฉันทะต่อไปที่จะให้เข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น มิฉะนั้นเราจะปน ๖ ทางแล้วบอกไม่ได้ว่าเป็นเราเมื่อไร แล้วไม่ใช่เราเมื่อไร แต่ถ้าจะเป็นเราก็ทางไหน ทางคิดนึกที่กำลังคิดนึก เพราะว่าขณะนั้นคุณสุกัญญาบอกว่าความรู้สึกมี แล้วก็เริ่มคิดว่าความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นความคิด สิ่งที่มีจริงคือขณะที่สติปัฏฐานกำลังรู้ตรงลักษณะนั้นเท่านั้นในสังสารวัฏที่จะแสดงความจริงว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ นอกจากนั้นสิ่งอื่นดับไปหมดแล้วหรือยังไม่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรมก็มีสภาพที่เป็นปรมัตถ์กับสภาพที่เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ บัญญัติ ถ้าไม่คิดก็ไม่มี เพราะบัญญัติไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ไม่มีสภาวะลักษณะ เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่เกิดจากการทรงจำ เพราะฉะนั้นจิตก็คิดด้วยความจำ

    ผู้ฟัง สิ่งที่เราควรจะรู้ และก็เป็นความจริง สติที่จะระลึกก็คือปรมัตถธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง สิ่งที่เราเห็นแม้เราจะเอ่ยชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เรายังไม่ประจักษ์สภาพสิ่งที่ปรากฏทางตา เราพูดว่าสิ่งที่ปรากฎทางตา สิ่งนั้นก็คิดนึกซึ่งเป็นบัญญัติใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความจริงมี ๒ อย่าง สมมติสัจจะ กับปรมัตถสัจจะ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นสมมติสัจจะเพื่อให้เข้าถึงลักษณะของปรมัตถสัจจะ เพื่อให้รู้ว่าความจริงแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องราวที่คิดนึก แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดรู้ทางหนึ่งทางใดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วสืบต่อตลอดเวลาไม่ขาดสายทุกภพชาติ

    ผู้ฟัง ขณะที่เราเพลิดเพลินอยู่ ขณะนั้นก็ไม่มีความคิดว่าเป็นตัวเรา เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าโดยสภาพที่เป็นเราโดยตัณหา มานะ ทิฏฐิ สภาวะที่ยึดถือว่าเป็นเราด้วยตัณหา ขณะนั้นแม้จะไม่คิดว่าเป็นเรา ขณะนั้นก็มีความยึดถือว่าเป็นเราอยู่แล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่เราด้วยทิฏฐิ ตราบใดที่มีตัณหา มีความยินดีพอใจ ขณะที่ยินดีพอใจนั้นเป็นเราด้วยความพอใจ แต่ไม่ใช่เป็นเราด้วยทิฏฐิหรือความเห็นผิด

    ผู้ฟัง แม้ไม่คิดว่าเป็นเรา แต่โดยสภาวะก็ยึดถือแล้วว่าเป็นเราด้วยตัณหา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึง "เราด้วยตัณหา เราด้วยมานะ เราด้วยทิฏฐิ" คือ เราด้วยทิฏฐิ เราพูดว่ามีเรา แต่เวลาที่กล่าวถึงสภาพของจิต เฉพาะโลภมูลจิตเท่านั้นที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็มีต่างออกไป โลภมูลจิตต่างออกไปเป็น ๘ ประเภท คือ ๔ ประเภทเป็นโลภะล้วนๆ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ที่กล่าวว่าล้วนๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้ แต่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่ามีทิฏฐิเจตสิกหรือมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราทุกขณะไม่ได้ นี่คือการศึกษาอย่างละเอียด แต่มีโลภะ มีความยินดี เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสำหรับทิฏฐิ พระโสดาบันบุคคลละได้ แต่สำหรับโลภะซึ่งไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นไปในรูปเสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระอนาคามีบุคคลละได้ ถ้าไม่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระอรหันต์จึงละได้ เพราะฉะนั้นเห็นความต่างกัน ก่อนอื่นเรายังไม่ได้พูดถึงทิฏฐิเพราะจะต้องมีความตรง และชัดว่าขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกต้องเกิดจึงจะกล่าวว่ามีทิฏฐิ แต่ขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกไม่เกิด มีแต่โลภะ จะกล่าวว่ามีทิฏฐิเจตสิกไม่ได้ แต่ทิฏฐานุสัยยังไม่ได้ดับ แต่ไม่ได้เกิดทำกิจการงาน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องแยกกัน เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เป็นเราด้วยอะไรมากที่สุด

    ผู้ฟัง ด้วยตัณหา

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาเห็นความต่างแล้วระหว่างโลภะซึ่งเป็นเรา มีความยินดีพอใจในเรา แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ความยินดีพอใจในเรามากขนาดไหนตั้งแต่ตื่นมา ทั้งหมดตั้งแต่ตื่น แปรงฟัน ล้างหน้า รับประทานอาหาร แต่งตัว เส้นผม รองเท้า ทุกอย่าง เราด้วยโลภะ แต่ไม่ใช่เราด้วยทิฏฐิ เพราะฉะนั้นกว่าจะละความรักตัว ว่า ตัวนี้คือเรา ละความยึดถือโลภะที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นเรา ต้องถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

    แต่สำหรับความเห็นผิด ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราเพียงเหมือนกับว่ามีความเป็นเราด้วยความเห็นผิด แต่ความจริงไม่ใช่ ถ้าจะแยก ก็เป็นเราด้วยโลภะ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะรู้ลักษณะของทิฏฐิว่ามีจริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ ธรรมทุกประการที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดเป็นเรื่องทั้งหมด แต่ยังไม่ได้รู้จักตัวจริง เพราะเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด คือกำลังเป็นความจริง เพราะว่ามีลักษณะที่ปรากฏกับสติที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือเพราะว่าสภาพธรรมจะปรากฏได้ทีละทาง ลองคิดถึงความจริงในความมืดสนิท เพราะเหตุว่าไม่มีการเห็น ถึงแม้มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก ก็มืดสนิท ขณะนั้นอะไรอย่างหนึ่งที่ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้ เป็นเราหรือไม่ ที่ตัวนี่เป็นธรรมทั้งหมด จะหาธรรมไม่ต้องไปหาไกล ที่ตัวนี้มีครบ แต่เพราะรู้อย่างอื่นจึงเป็นเราที่เห็นสิ่งนั้นบ้าง ได้ยินสิ่งนั้นด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นด้วยโลภะ ด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ แต่ถ้าจะกล่าวถึงด้วยทิฏฐิจริงๆ ที่จะรู้ได้ด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่ออย่างอื่นไม่ปรากฏ แต่มีสภาพธรรมปรากฏ แข็งที่ตัว เคยกระทบสัมผัสใช่ไหม มีความรู้สึกว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิหรือเป็นเราด้วยโลภะ หรือว่าเป็นเราด้วยมานะ แข็งที่ตัวเฉพาะแข็ง หรืออ่อนก็ได้ อ่อนหรือแข็งที่ตัว เป็นเราด้วยโลภะ ดีไหม ผิวหนังนุ่ม ไม่หยาบกระด้าง ผิวใคร ผิวเรา เราด้วยโลภะ ถ้าเราด้วยมานะก็มีความสำคัญตนได้ ทุกอย่างที่ตัวก็สำคัญได้ ตาก็สำคัญได้ หูสำคัญได้ไหม คิ้ว ปาก จมูก ได้หมดทุกอย่าง แต่เราด้วยทิฏฐิ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีเลย แต่มีแข็งที่ตัวเหมือนเดิม เราใช่ไหม เรายังมีอยู่ใช่ไหม เรายังเหลือแข็งอยู่ใช่ไหม แข็งนั่นยังเป็นเราใช่ไหม ขณะนั้นคือทิฏฐิ

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะกล่าวตามที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่การรู้ความจริงต้องเป็นการที่มีลักษณะนั้นปรากฏกับสติสัมปชัญญะเท่านั้น เพราะอะไร เพราะเกิดแล้ว ดับแล้ว เร็วมาก และแม้แต่ขณะที่ปรากฏก็ไม่ใช่เพียงวาระเดียว จิตเกิดดับหลายวาระ ขณะใดที่ไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับก็จะไม่รู้ว่ากี่วาระเพราะว่าสืบต่อเร็วมาก ด้วยเหตุนี้การที่จะรู้ลักษณะของทิฏฐิจริงๆ ต้องด้วยสติสัมปชัญญะ และไม่ใช่แต่เฉพาะทิฏฐิอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ขณะนั้นก็ต้องด้วยสติสัมปชัญญะ เช่น ในขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กล่าวตามๆ กันมาใช่ไหมว่า รูปารมณ์ใช้คำภาษาบาลีด้วย เป็นรูปที่เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ซึ่งขณะนี้ก็มีจิตเห็น แล้วก็มีรูปที่ปรากฏทางตา ความเข้าใจของเราน้อยแค่ไหน เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์ว่า ดังนั้น แม้ขั้นการฟังก็จะต้องมีความมั่นคงที่จะรู้ว่าถ้ามีการเข้าใจจริงๆ ในธาตุที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งปรากฏ และดับไปอย่างรวดเร็ว จะมีความทรงจำเรื่องรูปร่างสัณฐานไหม จะมีความเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดไหม ก็ไม่มี แต่เพราะเกิดดับเร็วมากก็ไม่ปรากฏว่าตั้งแต่เช้ามา " เห็น" ดับไปตอนไหน เพราะว่าเห็นอยู่ตลอดเวลา แม้กระพริบตาก็ไม่ปรากฏว่าดับใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมจริงๆ เกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ แม้ว่ามีความเข้าใจจากขั้นการฟังว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ แล้วกำลังปรากฏด้วย และไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แต่หลังจากเห็นแล้วมีการคิด เราก็สามารถที่จะรู้ว่าค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่าไม่ว่าจะเห็นอะไรก็ตาม ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่มีเห็น หลับตาแล้วไม่มีเลย ก็ค่อยๆ ก้าวไปถึงที่ว่าขณะที่ได้ยิน เห็นก็ไม่มี ขณะที่ได้กลิ่น เห็นก็ต้องไม่มี แต่นี่เป็นการที่ปัญญาของเราจะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามความเป็นจริง และเป็นผู้ที่ตรงว่าขณะนี้ที่ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา เราไม่รู้สิ่งนี้ได้ไหม แล้วก็ไปรู้อริยสัจจธรรม หรือว่าจะไปดับกิเลส หรือว่าไปละความเป็นตัวตนให้ไม่มีอีกเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะไม่รู้ ถ้ามีความไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทั้งหมดก็ไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงคือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นก็ยังคงยึดถือสิ่งนั้นอยู่ แต่เมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ใช่ครั้งเดียว ในพระไตรปิฎกทรงแสดงซ้ำกี่ครั้ง จักขุวิญญาณ รูปารมณ์ ทรงแสดงตลอดเวลา ทั้งหมดเพื่อให้มีการระลึกได้ ให้เข้าใจว่าเราเข้าใจคำแปลของรูปารมณ์หรือเข้าใจลักษณะของธาตุที่สามารถกำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น ไม่ปรากฏในขณะที่ได้ยินหรือได้กลิ่นเลย ค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ด้วยวิริยะ ด้วยฉันทะที่จะรู้ว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งต้องประจักษ์ได้ ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคง และจริงใจต่อการที่จะศึกษา และเข้าใจธรรม แต่ถ้าไม่จริงใจ "มีเรา" ทำอย่างอื่นแน่นอน ไม่ใช่มีการที่จะรู้ว่า ไม่รู้อะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และไม่ว่าเราจะได้ยิน ได้ฟัง เรื่องของสิ่งที่ปรากฏ และจิตเห็นมากมายอีกต่อไปโดยปัจจัย โดยอะไรต่างๆ ก็เพื่อละคลายความเป็นเรา ให้รู้ว่าแท้ที่จริงก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และทุกขณะก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นก็มี ๒ อย่าง ความเป็นไปของจิตที่จะต้องเห็น ต้องได้ยิน และต่อจากนั้นก็จะเป็นความไม่รู้หรือความรู้ ส่วนอื่นไม่กล่าวถึง เพราะว่าผลก็คือว่าไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศลก็จะต้องทำให้เกิดความเป็นไปคือต้องเห็น ต้องได้ยินเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าสติระลึกว่านี่เป็นรูปธรรม นามธรรม แล้วจะลดละกิเลสอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิด ที่กล่าวว่าสติระลึกรู้ว่านี่เป็นนามธรรม รูปธรรม ขณะนั้นคิด แต่ลักษณะของสติสัมปชัญญะ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจก็รู้ว่าขณะนี้ ทุกขณะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับเร็วมากโดยที่ใครก็ไม่สามารถไปบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัจจัยพอที่จะเกิดสติสัมปชัญญะ แล้วสติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะนั้นโดยที่ไม่มีการที่ว่าเราไปคิดก่อน แต่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้นแล้วก็ดับ สติเองก็ไม่เที่ยง แต่อย่างน้อยก็รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ที่สำคัญที่สุดคือตามปกติ ถ้าผิดปกติคือไม่ใช่ ไม่ถูก ทำขึ้น ไม่เป็นความจริง

    ผู้ฟัง รุ่มร้อน หรือโทสะ นิดๆ หน่อยๆ รำคาญอยู่ในใจทั้งๆ ที่นั่งอยู่เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นชื่อธรรม แต่เป็นตัวธรรม สติปัฏฐานเกิดเมื่อไร รู้ตรงลักษณะนั้น เร็วมาก ตามรู้ทันทีทางมโนทวารสืบต่อกับทางปัญจทวาร ถ้าสามารถจะรู้ว่าทุกขณะนี้เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ความเป็นเราก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง เพราะรู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น ขณะนี้ไม่ว่าทางตาก็เป็นลักษณะหนึ่ง ทางหูก็เป็นลักษณะหนึ่ง จิตที่คิดก็เป็นธรรมอีกลักษณะหนึ่ง ทุกอย่างเป็นลักษณะของธรรมหมด ถ้ามีความเข้าใจในลักษณะของธรรมทั่ว และละเอียด ความเป็นเราก็จะไม่มี

    ผู้ฟัง คนละขณะจิตใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตเกิด ๑ ขณะ จะรู้อารมณ์อย่างเดียว จะรู้ ๒ อย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตได้ยินเกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ไม่ปรุงแต่งก็ไม่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ ใครปรุงแต่ง

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้จักจิตเลย เพราะฉะนั้นไปคิดเรื่องการปรุงแต่งโดยจิต ต้องรู้ลักษณะของจิตก่อน และปัญญาจะค่อยรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า สติปัฏฐานจะต้องมีเฉพาะปรมัตถ์ ไม่มีสมมติบัญญัติ แล้วถ้ามีเฉพาะปรมัตถ์ ไม่มีบัญญัติ แล้วจะไปรู้เรื่องอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกขณะปรุงแต่งแล้วเกิด "เห็น" ขณะนี้ปรุงแต่งแล้วเกิด"เห็น" "ได้ยิน" ปรุงแต่งแล้วจึงเกิด"ได้ยิน" "คิดนึก" ปรุงแต่งแล้วจึงเกิด"คิดนึก" ปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นที่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง เช่นที่คุณสุกัญญากล่าวว่า มีเราตลอดเวลา ตอนนั้นไม่ได้แยกว่าเป็นเราด้วยโลภะ หรือเป็นเราด้วยทิฏฐิ พอตื่นมาก็เป็นเราตื่น พอเห็นก็เป็นเราเห็น ใช่ไหม เพราะขณะที่เห็นดับไปแล้วก็ไม่รู้ความจริงว่าขณะนั้นมีความติดข้อง มีความไม่รู้

    ผู้ฟัง เมื่อเรารู้เรื่องราว ก็เป็นสภาพคิดนึกแล้วใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืมว่า จิตเห็นคิดไม่ได้ จิตได้ยินก็แค่ได้ยิน มีเสียงปรากฏ จิตได้ยินคิดไม่ได้ จิตได้กลิ่น จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเหล่านี้คิดไม่ได้ เพราะเป็นจิตที่รู้อารมณ์ เป็นจริยาความประพฤติเป็นไปของจิตที่เป็นไปตามกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด และรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดเป็นจิตเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง เวลาที่คิดก็คือเป็นจิตที่คิดนึก

    ท่านอาจารย์ ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ทางใจ

    ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวอย่างนี้แล้ว ไม่มีสักเวลาเดียวที่จะขาดจิตที่คิดนึก

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็น ไม่ใช่จิตคิดนึก ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่จิตคิดนึก แยกออกไปเลย พร้อมกันไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่โดยปัญญาของเราเอง เราจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง วิปัสสนาญาณไม่ใช่เพียงการฟัง แต่เป็นการอบรมด้วยสติสัมปชัญญะ ขณะนี้ถ้าจะกล่าวโดยปริยัติทุกคนก็รับรองใช่ไหมว่า เห็นไม่ใช่ได้ยิน ทั้งๆ ที่เสมือนว่าพร้อมกัน แต่จากการฟังก็เริ่มที่จะเข้าใจในเหตุผลว่าพร้อมกันไม่ได้ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ลักษณะต่างกันอย่างนี้ ปัญญาอบรมเจริญที่จะรู้อย่างนี้ สามารถจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ไหม ในเมื่อเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นปัญญาต่างขั้น ขั้นฟังกำลังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่ปัญญาสามารถที่จะอบรมจากปุถุชนจนถึงเป็นพระอริยบุคคล เมื่อรู้จริง เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน ไม่มีเราที่กำลังรู้จริง ทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์อธิบายถึงความต่างของ การเป็นเราด้วยตัณหา เป็นเราด้วยมานะ เป็นเราด้วยทิฏฐิ เป็นเราด้วยมานะ อีกครั้ง จากตัวอย่างเช่น ตาของเราสวย จมูกของเราสวย

    ท่านอาจารย์ สำคัญตน ตาเราสวยก็เป็นด้วยโลภะก็ได้ เป็นเรา ตาเรา

    ผู้ฟัง มานะที่สำคัญตนเป็นอย่างไร สูงกว่า เหนือกว่า

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามไม่ต้องเปรียบเทียบก็เป็นการสำคัญแล้ว เมื่อมีตนก็มีความสำคัญในตน เป็นอะไรสักอย่างที่สำคัญด้วย เช่นที่ คุณสุกัญญากล่าวว่า มีแต่การเป็นเราทั้งวัน รู้สึกอย่างนั้นหรือไม่ เราทั้งนั้นเลย แต่เรานั้นด้วยโลภะ หรือด้วยทิฏฐิ หรือด้วยมานะ ต้องแยกกัน ตอนตื่นมาเป็นเราหรือไม่ ด้วยอะไร ด้วยโลภะ ขณะใดที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นเราด้วยโลภะ และขณะใดที่มีมานะ ขณะนั้นก็เป็นเราด้วยมานะ

    ผู้ถาม แล้วทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิ ก็อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อสักครู่นี้ ต้องแยกให้ชัดเจน จะกล่าวรวมไปว่าทุกขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะว่าแม้แต่จิตก็ยังไม่รู้เลย รู้แต่เพียงว่าเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ลักษณะของจิตไม่ได้ปรากฏกับปัญญาโดยไม่มีสิ่งอื่นรวมอยู่ด้วยสักอย่างเดียว แม้แต่เจตสิกขณะนั้นก็ไม่ได้เป็นอารมณ์ เพราะว่าเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน นามธรรมจะต้องไม่มีรูปใด ขอบเขตใดมากั้นเลย นั่นก็คือการประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นแม้แต่จิตก็ยังไม่รู้แล้วจะไปรู้ขณะที่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยให้ชัดเจนว่าขณะไหนมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ขณะไหนไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่เรามีความเข้าใจจริงๆ มีความจริงใจที่จะเข้าใจธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567