พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 198


    ตอนที่ ๑๙๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ซึ่งก็ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมว่า จิตมีกี่ประเภท เป็นชาติอะไรบ้าง เป็นอกุศลเท่าไรก็มีหมด อกุศลทั้ง ๑๒ ไม่ได้ขาดเลย และอวิชชา จิตที่ไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังเป็นอกุศลเพราะเหตุว่ามีความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นการสามารถที่เราจะอบรมเจริญปัญญา รู้ด้วยตัวเอง ประโยชน์ของการฟังธรรมคือความที่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ต้องมีการเปรียบเทียบว่าคนอื่นเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่ทุกขณะที่ฟัง ประโยชน์ก็คือว่าแต่ละคนรู้ตามความเป็นจริงว่าได้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังซึ่งเป็นปรมัตถสัจจะ เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งก่อนการตรัสรู้จะไม่มีผู้ใดรู้เลยว่าสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์เท่านั้นที่จริง อย่างอื่นจะมีอะไรจริง ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงก็คือสภาพที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ และขณะนี้กำลังมี ด้วยเหตุนี้การอบรมจิตต้องไม่ท้อถอย แล้วก็มีฉันทะที่จะรู้ว่าเมื่อมีสิ่งที่มีจริง และมีผู้ที่แสดงหนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมนั้นได้ แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้ฟังเองที่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น เราก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “อบรม” มีใครจะทำอะไรให้ปัญญาเกิดได้ไหม นอกจากการอบรม เพราะว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏให้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าได้อบรมมาแล้วแค่ไหน ชาติก่อนจะเคยฟังธรรม จะเคยสนทนาธรรม จะเคยสอบถาม แต่ถ้าไม่มีการพิจารณาลักษณะของสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชาติก่อนๆ และแม้ในชาตินี้ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องของโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ก็เป็นการสะสมเพียงความเข้าใจเรื่องราว แต่ถ้าขณะใดไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็แสดงว่าสิ่งที่เราสะสมมายังไม่ถึงการอบรมความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นแต่เพียงการสะสมความเข้าใจถูกในเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็เป็นการที่แต่ละท่านก็จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าอบรมให้เข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจเป็นอวิชชา ถ้าเข้าใจก็เป็นวิชชา ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

    อ.วิชัย การศึกษาเรื่องของปริยัติก็เป็นปัจจัยให้มีความเข้าใจมากขึ้น เกื้อกูลต่อปัญญา ถ้าการฟังน้อย โอกาสที่จะมีการรู้ผิดเป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังน้อยแต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังแค่ไหน ทุกคนได้ฟังเท่ากัน ว่า " ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตตา " ทุกคนได้ยินเหมือนกัน แต่การพิจารณา การเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจะเท่ากันหรือไม่ ธรรมคือขณะนี้ บางคนได้ยินว่า ธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงก็บังคับบัญชาไม่ได้ ก็เท่านั้นสำหรับบุคคลนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไตร่ตรอง ธรรมอะไรที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนี้เป็นธรรมหรือไม่ ก็เป็นสิ่งซึ่งถึงแม้ว่าจะพิจารณาแล้ว แต่การที่จะรู้ลักษณะโดยการพิจารณาสังขารธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏมีหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ จะไม่สามารถเข้าใจลักษณะนั้นตามความเป็นจริง ก็ยังคงเป็นเราที่มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วนึกถึงเรื่องนั้นเหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏก็จริง แต่นึกเป็นเรื่อง เช่น ขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณ เป็นจิตเห็น และก็รู้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง

    อ.วิชัย มีความรู้สึกอย่างนี้คือปัญญาเกิดในขั้นที่สติระลึก และมีความเข้าใจเดิมจากที่เคยได้ยินได้ฟังด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย ไม่มีทางที่ใครจะรู้ลักษณะที่กำลังเห็นในขณะนี้

    อ.วิชัย แต่ก็ต่างกับขณะที่สติระลึก

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายขั้น ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ปัญญาที่สำเร็จจากการพิจารณาไตร่ตรอง ปัญญาที่สำเร็จจากการอบรม

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏส่วนมากก็ไม่ปรากฏ เข้าไม่ถึงอรรถ บางครั้งก็เข้าถึง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าจากการฟังทำให้มีความเข้าใจว่ากว่าปัญญาจะเจริญได้ต้องทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อดทน และก็มีฉันทะอย่างยิ่งในการที่จะสะสมอบรมความเห็นถูก แม้ในขั้นการฟัง ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นข้อความที่ค้านกัน เข้ากันไม่ได้ ไม่ตรงกัน นั่นก็คือว่าไม่ถูกต้อง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรอบคอบ และรู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ความจริงขณะที่ได้ฟังอย่างไร เวลาที่ปัญญารู้แจ้งลักษณะนั้นก็ตรงกัน จะผิดกันไม่ได้

    ผู้ฟัง ติดอยู่ที่นิมิตอนุพยัญชนะ ไปติดอยู่ตรงนั้น แต่ก็ลดละได้

    ท่านอาจารย์ ความเห็นที่ถูกต้องก็คือ ลดละโลภะ (ความต้องการ) ซึ่งแต่ก่อนคงจะมีความต้องการอย่างมาก บางคนก็ต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ ถ้าไม่ได้บางคนก็กล่าวว่า แค่นามรูปปริจเฉทญาณก็ยังดี นี่คือโลภะไม่ได้ลดละเลย แต่ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องรู้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องบังคับบัญชา แต่เป็นเรื่องปัญญาคือความเห็นถูกจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นหนทางเดียวที่จะละโลภะ เพราะว่าการศึกษาธรรมจะทำให้เข้าใจได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงที่เป็นพระธรรมที่ถูกต้องเป็นเรื่องของการละ ซึ่งโลภะนี้เห็นยากเพราะเหตุว่าคุ้นเคยกับโลภะมานาน และก็ทุกอย่างเป็นไปตามโลภะในชีวิตประจำวัน แม้การศึกษาธรรมก็จะค่อยๆ รู้จักโลภะตามความเป็นจริง แต่ต้องละเอียด และต้องรอบคอบด้วยว่าถ้าโลภะเกิดเมื่อใดมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเมื่อใด จะไม่มีความอดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขั้นของการฟัง และในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ นี่ก็เป็นการพิสูจน์ว่าการฟังต้องเป็นเรื่องละความไม่รู้ด้วยความอดทนจนกว่าจะดับโลภะที่ติดข้องยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง เมื่อได้อาศัยการศึกษาจิต เจตสิก ผมยกมือท่วมหัว ระลึกว่า พระพุทธองค์ท่านรู้มากถึงขนาดนี้ จิตเราก็โล่งโปร่งใส อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นโลภะ เป็นฉันทะหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขอให้ตอบเอง เพราะเหตุว่าการเรียนของเรา ถ้าเราไม่สามารถที่จะรู้ด้วยตัวเองก็คือเรายังไม่ได้เข้าใจ เช่น เวลานี้สงสัยใช่ไหม เป็นจิตประเภทใด เรียนมามีชื่อหมดทุกอย่าง แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏจริงๆ รู้ลักษณะนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่สงสัยเป็นจิตประเภทใดที่ได้เรียนแล้ว ข้อสำคัญคือเราเรียนมาก แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด ไม่รู้เลย ชื่อต่างๆ หายไปหมด แต่ว่าการที่จะเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพียงแค่ไม่ใช่เรายังไม่รู้ แล้วจะรู้ว่าจิตนั้นชื่ออะไร มีเจตสิกประกอบเท่าไร ทั้งๆ ที่เรียนมาแล้ว แต่ไม่มีเหลือในขณะที่กำลังไม่รู้ กำลังสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าจะถามถึงชื่อ คนที่ศึกษาแล้วก็สามารถที่จะบอกได้ว่าเป็นจิตอะไร ต้องเป็นอกุศลจิตแน่นอนใช่ไหม สงสัย เป็นอกุศลจิตประเภทใดโดยชื่อ

    ผู้ฟัง โดยชื่อก็เป็นโมหะ

    ท่านอาจารย์ โมหมูลจิตมี ๒ ประเภท วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย อีกประเภทหนึ่งไม่มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย เป็นจิตประเภทไหน ๒ ประเภทนี้ขณะที่กำลังสงสัย

    ผู้ฟัง สงสัยในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ความรู้สึกดีมาก โล่ง

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ สงสัยนี่ต้องมี เพราะผู้ที่ไม่มีคือพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงขณะที่สงสัยกำลังเกิด นั่นคือการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นบางทีเวลาที่ศึกษาธรรม ก็อาจจะเป็นอย่างที่ว่าคือพอใจที่จะรู้พยัญชนะมากๆ เพราะฉะนั้นเวลานั้นอาจจะนึกว่าแล้วนี่เป็นอะไรๆ นึกถึงชื่อ ไม่ได้นึกถึงลักษณะนั้นว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นเกิดการนึกถึงชื่อ ต้องการรู้ชื่อว่าชื่ออะไร เพราะฉะนั้นก็เกิดการคิดซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ที่ได้ศึกษามาแล้วจะไม่เกื้อกูลต่อการที่จะเข้าใจลักษณะของสังขารธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น การเรียนจึงมี ๒ อย่าง เรียนเพื่อที่จะจำชื่อ อาจจะนึกถึงว่าขณะนั้นเป็นวิจิกิจฉา เกิดกับโมหมูลจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าใด นึกยาวไปถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบตามความเป็นจริง การตั้งจิตก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นการสะสมความเห็นถูกว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การเรียนเพียงเพื่อให้เราได้สามารถที่จะไตร่ตรองได้ยินได้ฟังสิ่งที่เรียนว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และมีในชีวิตประจำวัน และสามารถที่จะค่อยๆ รู้ถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริง แต่การศึกษาตอนเริ่มต้น เรารู้ว่าเป็นธรรม แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด แม้เบื้องต้นของการศึกษาซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ขณะนั้นไม่รู้ว่า ขณะนั้น สิ่งนั้นเป็นธรรม นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะไปถึงตำรับตำราอีกมากมายที่เราผ่านไป เวลาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ก็คือเริ่มต้นที่จะต้องรู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งได้ศึกษามาแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้ว่าการศึกษาจะละเอียดมากมายก็เพื่อปรุงแต่งให้ถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด จึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าลักษณะนั้นตามปกติก็เป็นธรรม เช่น"แข็ง" เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะปรากฏแก่จิตซึ่งรู้ได้ทางกาย อาศัยกายปสาท แล้วก็ไม่มีใครทำ "แข็ง"ให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ที่"แข็ง"ปรากฏ รู้อย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าไปคิดถึงเรื่องกายวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร

    ด้วยเหตุนี้ขณะที่ฟังเพื่อให้ขณะแต่ละขณะที่ผ่านพ้นไปสะสมความมั่นคง เป็นสัจจญาณที่จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วจะได้ไม่ออกนอกทางที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพื่อที่จะเพียงจำ แต่ขณะที่ได้ยินได้ฟัง จำก็มี เข้าใจก็มี แต่เข้าใจเพียงในเรื่องราว ไม่ได้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็รู้ความต่างกันของปัญญาขั้นฟังกับปัญญาขั้นเข้าใจ กับปัญญาขั้นที่กำลังถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อาจารย์ถามว่าในขณะที่สงสัยก็เป็นโมหมูลจิตประกอบด้วยวิจิกิจฉาเจตสิก เพราะว่าศึกษามาแล้วก็ต้องรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้อย่างนี้ ขณะนั้นสามารถจะรู้ลักษณะของวิจิกิจฉาเจตสิกหรือไม่โดยที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมเลย นี่เป็นความต่างกันของขั้นฟัง ขั้นไตร่ตรอง และขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ชื่อทั้งหมดที่เข้าใจก็เป็นภาษาไทย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจชื่อ ความหมายของชื่อ และจำได้ด้วย แต่ว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรมใดที่ได้กล่าวถึงแล้ว เช่น วิตกเจตสิก ขณะคิดจะต้องมีวิตกเจตสิกเกิดแน่นอน ขณะนั้นรู้อะไร รู้วิตกเจตสิก หรือจำชื่อว่า ขณะที่คิดจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้จะไม่เห็นความต่างของการที่มีปัญญาขั้นฟังจากการไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจเรื่องราว กับการรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่เรารู้ว่ามีจากการฟัง เช่น วิตกเจตสิก รู้ว่ามีแน่ ขณะที่กำลังคิด แต่ขณะนี้ที่วิตกเจตสิกเกิดพร้อมจิต และดับไป รู้ลักษณะของวิตกเจตสิกหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็เหมือนรู้รวมๆ

    ท่านอาจารย์ รู้รวมๆ ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ในขณะนี้มีวิตกเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นี่คือจำ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของวิตกเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมจิต และดับในขณะที่กำลังคิดแต่ละคำ ไม่ได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด

    ผู้ฟัง นอกจากนี้แล้วก็อ่านเพิ่มขึ้นๆ ต่อไปเรื่อย อ่านจนกระทั่งถึงฌาณ และจิต เรื่องวิปัสสนาญาณ และนามรูปปริจเฉทญาณ และก็คิดว่าเข้าใจเพราะว่าพื้นฐานเข้าใจแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจสูงขึ้น ระดับสูงขึ้นๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องสมควรหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นขั้นฟัง เป็นผู้ที่รู้ความต่างของปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วเข้าใจว่ายังไม่ใช่การเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้แต่เพียงเรื่องราวทั้งหมดของสภาพธรรมนั้นๆ เช่นจักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ก็เข้าใจ แต่รู้ลักษณะของอะไรในขณะนี้ที่กำลังเห็น เข้าถึงลักษณะใดบ้าง ไม่มีเลยใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจถูกต้องว่าความรู้ขั้นฟัง ไม่ใช่ความรู้จากการอบรมที่รู้ และเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ที่ฟังมาเพื่อประโยชน์ เมื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่ต่างกับที่ได้ฟัง ต่างกันไม่ได้ เพราะเป็นธรรม เมื่อผู้ใดรู้แจ้งก็แสดงลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จะผิดกันไม่ได้ แต่ปัญญาขั้นฟังไม่ได้รู้ลักษณะ เพียงแต่จำเรื่องราวของสภาพธรรมต่างๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นขั้นการฟัง จำชื่อได้เท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมต่างๆ กัน ปรากฏเกิดขึ้น เข้าใจอย่างนี้ก็ยังดีกว่าที่จะคิดว่าตัวเองเข้าใจมาก เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่รู้เรื่องราวของสภาพธรรมจากการฟัง

    ผู้ฟัง แต่เรื่องราวนั้นก็เป็นเรื่องราวที่ถูกต้อง และก็ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แล้วเมื่อไรจะรู้ลักษณะ

    ผู้ฟัง จนกว่าสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานรู้ตรง

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐานเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะเริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏ เพราะว่าอย่างอื่นไม่สามารถที่จะทำให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้เลย มีหนทางเดียวที่ทรงแสดงไว้ ไม่มีหนทางอื่น สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในลักษณะซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความในเรื่องที่เกี่ยวกับโมหมูลจิตตรงนี้ก่อน ที่ท่านอธิบายโมหะว่าลวง ว่า " สัมโมหะย่อมลวงเสมือนว่าเป็นการวางเฉยด้วยปัญญาในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์"

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ความต่าง มิฉะนั้นก็จะถูกลวงต่อไป เพราะว่าโมหะไม่สามารถจะรู้ถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริงได้ ไม่รู้ความจริง แต่เวลาไม่รู้ และก็ได้ยินว่าอุเบกขา (ความวางเฉย) ก็เข้าใจว่าขณะที่ไม่รู้คือความวางเฉยซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นบางคนก็พยายามวางเฉย แต่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกต้อง เช่น ถ้าเห็นคนที่ได้รับทุกข์ ได้รับสุขใดๆ ก็ตามแต่ก็เหมือนกับว่าจะไม่ยินดียินร้ายกับใครทั้งนั้น เป็นผู้ที่วางเฉย หลอกลวงง่ายมาก และนอกจากจะหลอกลวงตัวเอง ยังหลอกลวงคนอื่นอีก ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าคนนี้ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์อย่างไรของใครทั้งสิ้นก็ไม่หวั่นไหวไม่เดือดร้อน แต่ความจริงขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นถูก ไม่ใช่กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเพราะไม่รู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของๆ ตน

    มีใครบ้างที่อ่านเรื่องราวตามข่าวหนังสือพิมพ์หรือวิทยุต่างๆ แล้วก็มีเรื่องร้ายบ้าง เรื่องดีบ้าง จะไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์นั้นๆ ในขณะที่ได้ยินได้ฟัง ก็เกิดโลภะบ้าง เกิดโทสะขุ่นข้องไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องลำไย เรื่องตลาด เรื่องการเมือง เรื่องอะไรก็แล้วแต่ เมื่อได้ยินแล้วก็ต้องหวั่นไหวไปด้วยโลภะ โทสะ แต่คนที่คิดว่าต้องวางเฉย ทั้งๆ ที่ไม่รู้ธรรมอะไรทั้งสิ้นก็ไม่สนใจ จะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ แต่ว่าขณะนั้นเป็นเรา ไม่ใช่เป็นความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่กระทบหู แล้วก็ต่อไปถึงใจ แล้วก็คิดนึก หรือว่าไม่ได้รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีใครเป็นผู้จัดการโลก มีไหมสักคนหนึ่ง ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้นก็ตาม เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ก็วางเฉย ไม่รู้ ไม่ใส่ใจทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ว่าคนนี้ไม่มีโลภะแล้ว ไม่มีโทสะแล้ว ไม่หวั่นไหวแล้ว แต่ความจริงเพราะไม่รู้ สิ่งนี้ก็เป็นได้ ก็เป็นความหลอกลวงประการหนึ่ง

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของโลภะที่ประกอบกับอุเบกขาเวทนา ลวงได้ไหมว่าวางเฉยด้วย

    ท่านอาจารย์ ลวงด้วยแน่นอน สภาพที่หลอกลวงก็ต้องเป็นโลภะด้วย โมหะด้วย แต่ละลักษณะซึ่งเป็นอกุศล ซึ่งกุศลจะไม่หลอกลวง แต่ถ้าเป็นอกุศล ความเป็นเรา และก็ความเป็นมายาที่ต้องการจะให้คนอื่นเห็นเป็นอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ตัวเองไม่ยอมรับความจริง ขณะนั้นก็ลวงอีก โดยที่ว่าเพราะโมหะความไม่รู้ ไม่ใช่ความรู้ถูกต้อง ทำให้ลวงเข้าใจว่าตัวเองรู้แล้วก็ได้ เข้าใจว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกก็ได้

    ผู้ฟัง การกระทำที่เป็นไปในกุศลมากๆ ก็เพียรที่จะทำให้กุศลจิต กุศลกรรมเกิดมากขึ้น ก็เรียกว่าตัวเองอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันโดยมีความเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรที่หลอกลวงหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปเพื่อการละ ก็ลวงด้วยความต้องการ ด้วยความเป็นเรา ลวงให้เพียรเพื่อที่จะได้ แต่ไม่ใช่เพื่อละ เพื่อรู้ตามความเป็นจริง เพียรที่เกิดกับอกุศลจิตจะดีไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จะชี้ได้อย่างไรว่าขณะไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด แม้โมหมูลจิตที่ไม่มีวิจิกิจฉาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นด้วยความไม่รู้จึงเพียรด้วย ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ความเพียรนั้นจะชื่อว่าเพียรดีหรือเพียรชอบไม่ได้ เพราะเพียรด้วยความไม่รู้ เป็นความเพียรที่ถูกต้องไม่ได้

    ผู้ฟัง ในขณะที่เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอย่างนั้นเป็นความเพียรชอบ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ความไม่รู้อย่างเดียว เพราะมีความเข้าใจผิดว่าหนทางนั้นจะทำให้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ ท่านกล่าวว่าอุทธัจจะย่อมลวงเสมือนการปรารภความเพียร

    ท่านอาจารย์ อุทธัจจะเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท หมดความสงสัยเลยใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567