พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 202


    ตอนที่ ๒๐๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ในบางกาล บางเทศกาล ก็มีการชักชวนกันที่จะให้รักษาศีล ๘ นุ่งขาวห่มขาว แต่ว่าในขณะนั้นอกุศลมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ก็มีศรัทธาชั่วขณะที่ถูกชักชวนให้ไปรักษาศีล ๘ และก็เห็นว่าศีล ๘ นี่ก็ดีทั้ง ๘ ข้อ ก็ไปรักษา แต่ผลคือขณะนั้นได้อะไร เป็นอกุศล หรือ เป็นความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม นี่ก็เป็นความละเอียดประณีตขึ้นของกุศลธรรมตามลำดับขั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีแต่ไม่พอ เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก มีความรู้ มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะศีลอย่างเดียวโดยที่ว่าอย่างอื่นไม่มี

    อ.วิชัย ฉะนั้นความเป็นผู้ว่าง่ายพร้อมกับการมีกัลยาณมิตร หมายถึงว่าต้องมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่น้อมใจเชื่อนั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ทุกคนตั้งแต่เกิดมาได้อะไรจากโลกนี้ที่จะไปสู่ภพหน้า ถ้าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้ไปเลย แต่ได้โลภะความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้โทสะ ได้อกุศลมากมายตลอดที่ไม่เข้าใจความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัจจัยที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรม ประโยชน์สูงสุดคือฟังแล้วพิจารณา ไม่พิจารณาไม่ได้ เพราะว่าพระธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก เมื่อพิจารณาแล้วเป็นความเข้าใจของเรายิ่งขึ้น นั่นคือประโยชน์สูงสุดที่จะได้ไปจากโลกนี้ ไม่อย่างนั้นอะไรๆ จากโลกนี้ก็ไม่ได้ติดตามไปเลย ถ้าเป็นความเห็นผิดยิ่งแย่ ก็ได้ความเห็นผิดสืบต่อไป เพราะฉะนั้น ในชาตินี้จะเอาความเห็นถูกต้องไปหรือจะเอาความเห็นผิดไป เพราะอย่างไรๆ ก็จะต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน และไม่ใช่ไปแต่เฉพาะชาติหน้าชาติเดียว ชาติต่อๆ ไปความเห็นผิดก็งอกงามสะสมต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง โยนิโสมนสิการหรือการพิจารณาโดยแยบคายโดยถูกต้องก็เพื่อให้มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ถ้าไม่เข้าใจก็สอบถามโดยละเอียดได้ ด้วยเหตุนี้ที่จะให้หมดความสงสัยก็คือโดยการสอบถาม ไม่ใช่เก็บไว้แล้วคิดว่าพระธรรมก็คือพูดไม่ได้ ถามไม่ได้ เกรงใจ หรือกลัวว่าคำตอบนั้นอาจจะไม่ตรงกับอัธยาศัย สิ่งนั้นก็คือเป็นผู้ว่ายาก

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงกัลยาณมิตรโดยบุคคล ก็จะมีทั้งเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ถ้ากล่าวกัลยาณมิตรโดยสภาพธรรม ก็รู้สึกจะตรงกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามิตรก็คือผู้ที่มีความหวังดีต่อกัน แต่ผู้ที่มีความหวังดีต่อกัน มีกุศลหรือมีอกุศลด้วย ตราบใดที่ยังไม่ใช่ผู้ที่หมดจากกิเลส เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นโทษของบุคคลนั้นเอง ไม่เป็นโทษแก่บุคคลอื่น ก็คืออกุศลของตนเอง แต่ส่วนความดีที่มีก็เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง และกับผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่เป็นกัลยาณมิตรคือผู้ที่มีความหวังดีที่จะให้ผู้อื่นไม่ได้เดือดร้อน แต่ว่าผู้ที่ได้รับความหวังดีนั้นต้องรู้ด้วย ต้องเป็นผู้ฉลาด พระพุทธศาสนาสอนให้มีปัญญา สิ่งนี้ลืมไม่ได้เลย มีการพิจารณาโดยละเอียดจึงจะสามารถเข้าใจพระธรรมได้โดยถูกต้องชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าใครเป็นเพื่อนที่ดี หรือเขากล่าวว่าเป็นเพื่อนที่ดี หวังดี จะบอกอะไร จะเตือนอะไร จะพูดอะไร เราก็พิจารณาสิ่งที่เขาพูดได้ว่าเขาเห็นผิดหรือเขาเห็นถูกทั้งๆ ที่เขามีความหวังดีที่เขากล่าวว่าเป็นความหวังดี แต่ความเห็นของเขาถูกหรือผิด ก็เป็นแต่ละบุคคลซึ่งมีโอกาสได้ฟังพระธรรมก็จะได้พิจารณาให้ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องยากมาก ผู้ที่ไปคบหาสมาคมกับผู้อื่น และก็คิดว่าเขาเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกแล้ว แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นผู้เห็นผิด ตรงนี้จะทำอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าเขาเห็นถูกหรือเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องตรง ข้อความก็มีปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ก็มีผู้อ้างบอกว่าอย่าเชื่ออาจารย์ จะมีคำพูดอย่างนี้ แต่คนที่พูดกำลังบอกให้คนนั้นเชื่อตัวเองหรือไม่ แล้วถ้าคนนั้นเชื่อ คนนั้นก็คืออาจารย์ของคนที่ถูกบอก ก็แปลว่าเขาเชื่ออาจารย์โดยการฟังจากคำว่า “อย่าเชื่ออาจารย์” คือเปลี่ยนตัวอาจารย์มาเป็นคนที่บอกให้ไม่เชื่ออาจารย์ แต่ให้เชื่อคนนั้น นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ว่าผู้ที่ฟังต้องรู้ว่าทรงแสดงว่าให้เชื่อในเหตุ และในผล ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะปัญญา สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ถ้าใครสามารถที่จะทำให้มีความเข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงตรงกับคำพูดของผู้นั้นที่ทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องขึ้น จากการที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจเลย

    เพราะฉะนั้นที่จะกล่าวว่ายาก ว่าจะเชื่อ ว่าใครพูดถูกพูดผิด ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏตลอดชีวิต แล้วไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจเลย แต่เมื่อไรที่เริ่มมีความรู้ขึ้น นั่นก็คือว่าตรงกับสภาพธรรมที่ทรงแสดง ตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ไม่ใช่สอนให้เราไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่มีในชีวิตประจำวันแท้จริงเป็นอะไร ไปเอาข้อความหรือความคิด หรืออะไรก็ได้ที่จะทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อให้เห็นถูกรู้ถูก รู้อะไรถูก เห็นอะไรถูก รู้ถูกเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสิ่งนี้เกิดแล้วจึงปรากฏ ไม่ให้คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะไม่สามารถจะไปรู้ความจริงของสิ่งที่เกิดแล้ว ดับแล้ว แล้วไม่กลับมาอีก แล้วสิ่งที่ไม่มาถึงก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้นขณะนี้อะไรกำลังปรากฏจากที่ไม่เคยเข้าใจเลย ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่างนี้จะผิดไหม จะเป็นคำสอนที่ผิดหรือไม่ ถ้าทำให้สามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้

    อ.กุลวิไล ดิฉันได้สนทนากับสหายธรรมที่มีเพื่อนที่ป่วยพักฟื้นอยู่ แต่เนื่องจากความที่เขาเป็นคนค่อนข้างที่จะมีความเชื่อในเรื่องที่คนไทยเชื่อกันมานานเรื่องของความกลัวในความตาย และเวลาที่ป่วยขึ้นมา ก็จะเหมือนมีลางสังหรณ์ให้เห็นทางตา ซึ่งเขาก็จะครุ่นคิดไปถึงเรื่องที่ว่าจะเห็นเหมือนกับมีนิมิตที่ปรากฏทางตา และเห็นว่าเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะมาพรากชีวิตเขาไป มิตรสหายที่ศึกษาที่มูลนิธิก็อยากจะเกื้อกูลให้เขามีความเข้าใจถูกง่ายๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ และมั่นคงในเหตุ และผล กราบเรียนท่านอาจารย์ที่จะเป็นแนวทางให้สหายธรรมสามารถที่จะไปอธิบายเพื่อนให้เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าทำให้คนที่ไม่รู้อะไรเลยสามารถที่จะหมดความกลัวได้ ก็คงต้องเก่งมาก แล้วจริงๆ แล้วทุกเหตุการณ์เราไม่จำเป็นที่จะต้องยกธรรมขึ้นมาทั้งหมด หรือว่ายกข้อความที่เป็นธรรมขึ้นมาแล้วก็ให้เขาเข้าใจ อย่างเหตุการณ์ในโลกนี้ทั้งหมดมีใครบ้างที่ไม่รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลง ความไม่คงที่ ความไม่แน่นอนของชีวิต จะมีข่าวคราวเสมอ ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย ภาคหนึ่งภาคใด ภาคใต้ ภาคเหนือ ก็แล้วแต่ หรือแม้แต่วงศาคณาญาติ รถชน อุบัติเหตุทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ถ้าให้เขามีความเข้าใจพื้นฐานว่า แม้ว่าเราอยากจะมีความสุข แต่ความสุขก็ไม่ได้เกิดเพราะความอยาก ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์เลย แต่ความทุกข์ก็ต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ค่อยๆ ให้เขาเข้าใจความจริง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการปลอบใจ แต่ว่าเป็นความจริงแท้ก็คือว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาอะไรได้ และทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าจะคงที่อยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เขาเข้าใจถูกว่าเขาคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ที่จะคิดว่ามีอะไรก็ตามที่ทำให้เป็นไปอย่างนั้น แล้วถ้าอย่างนั้นตอนฝันทุกคืนเป็นอย่างไร ก็ฝันอยู่แล้ว นิมิตหรือเปล่า แล้วจะทำให้เกิดอะไรขึ้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนที่ไม่ได้มีพื้นฐานของความเข้าใจธรรมจะหมดความกลัวได้ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว เพราะยังมีความเป็นเรา และความเป็นตัวตน ซึ่งเรื่องนี้ยากที่จะเข้าใจ แต่ว่าเป็นความจริง

    เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่มีฉันทะ มีศรัทธาที่ได้ฟังพระธรรมมาแล้ว จะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเห็นความน่าอัศจรรย์ของสิ่งซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรามาตลอด แท้จริงไม่เหลืออะไรเลยสักขณะเดียว และก็เป็นสิ่งซึ่งเราก็ควรจะสนทนากับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจแล้วให้เข้าใจขึ้น แต่สำหรับคนที่กลัวแล้วก็ยังไม่มีเหตุผล ก็ต้องค่อยๆ สนทนาให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเห็น เมื่อไรจะทำให้เป็นความจริงอย่างนั้น เขาบอกได้ไหม

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เขากลัวนิมิตใช่ไหม

    อ.กุลวิไล ใช่

    ท่านอาจารย์ นิมิตนั้น เขาคิดว่าจะเป็นความจริงใช่ไหม

    อ.กุลวิไล ก็ตามความเชื่อ

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะเกิดจริงขึ้นมาสักที ก็มีตั้งหลายวันแล้ว บอกได้ไหมว่าเมื่อไร ก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นแต่เพียงความคิด จะเกิดหรือไม่เกิดก็ยังไม่รู้ เหมือนความฝัน นิมิตก็คือความฝัน สิ่งที่เขาเห็นในฝันกับสิ่งที่เป็นนิมิต ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าความฝัน เขาเชื่อความฝัน เขาก็เชื่อนิมิตนั้น เพราะฉะนั้นนิมิตนั้นก็คือเท่ากับความฝันหรือเหมือนกับความฝันซึ่งเขาไปผูกใจคิดว่าต้องเป็นจริง ถ้าเขาเชื่อในนิมิตว่าต้องเป็นจริง เขาก็ต้องเชื่อฝันว่าเป็นจริงด้วยซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็คงจะพูดได้ทีละเล็กทีละน้อย

    อ.ธิดารัตน์ ตามปัญหาของท่านผู้ถาม ถ้าหากจะอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเป็นความคิดจากความกลัวของเขาอย่างนั้นได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ได้ ทุกอย่างที่จะช่วยทำให้เขาเข้าใจขึ้นว่านั่นไม่ใช่ความจริง แล้วจะเป็นจริงได้อย่างไร มีเหตุอะไรที่จะทำให้เป็นจริงไปได้ ถ้านิมิตนั้นสามารถจะทำให้เป็นจริงได้ ความฝันทุกคนก็ทำให้ทุกคนต้องเป็นไปตามฝัน ซึ่งก็ไม่จริงใช่ไหม ก็เสียเวลาไปคิด ถ้าทำอย่างนี้อาจจะทำให้เขาเข้าใจได้ว่าเขาเสียเวลาที่จะไปคิดเรื่องนิมิตที่ทำให้เขากลัว

    อ.ธิดารัตน์ คือตรงนี้ก็ย้อนกลับมาให้เห็นประโยชน์ว่าถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม เข้าใจในเหตุ และผลของธรรม และก็มั่นคงในกรรม และผลของกรรม ความกลัวจนเกิดนิมิตหลอน หรือกลัวตายจนเนึกถึงภาพต่างๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าผู้ที่มั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม ก็จะไม่ประมาท และทำความดี และก็จะไม่หวั่นไหวเพราะไม่ว่าจะกลัวอย่างไรก็ต้องตาย

    ท่านอาจารย์ และนิมิตนั้นหมายความว่าอย่างไร นั่งๆ อยู่อย่างนี้ก็เห็นหรืออย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ คงเป็นจากความคิด

    ท่านอาจารย์ ก็นั่นสิ ก็ไม่เข้าใจว่านิมิตของเขานี่เมื่อไร อย่างไร เห็นอะไร

    อ.กุลวิไล เช่น คิดว่าสามีที่ตายแล้วจะมา เมื่อตัวเองป่วย และความเชื่อของชาวไทย ที่ว่าเวลาใกล้ตายอาจจะพบคนที่ล่วงลับไปแล้วเขามาปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วเขาใกล้ตายหรือยัง ทุกคนที่ไม่เข้าใจธรรมก็กลัวตายทั้งนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการได้ฟังธรรม และการสนทนาธรรม และการสอบถามซึ่งกัน และกันก็จะทำให้เข้าใจในเหตุผลยิ่งขึ้น และก็ไม่ข้ามความละเอียดในพยัญชนะที่ได้ยินได้ฟัง ไม่เผิน เช่น ขณะนี้ก็ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะได้มีความมั่นคงในความไม่มีเราเลย มีแต่สภาพธรรมว่า ขณะที่กำลังนั่งมีตัวหรือไม่ คุณวิชัยจะช่วยตอบแทนได้ไหม

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวโดยปรมัตถธรรมก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ามีอะไรที่มีที่เข้าใจว่าเป็นตัวใช่หรือไม่

    อ.วิชัย ก็มีทั้งร่างกาย

    ท่านอาจารย์ ฟังอย่างนี้แล้ว และเดิมทีเดียวทุกคนมีตัวทั้งนั้นเลย ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงมานั่งที่นี่ แต่ถ้าถามว่าขณะนี้ที่ตัวมีอะไร

    อ.วิชัย ก็ได้ยินเสียงท่านอาจารย์ และก็เห็นต่างๆ
    สุ. เฉพาะที่ตัวหาเจอไหม นี่คือการที่เราได้ฟังธรรมแล้วเราจะได้รู้จริงๆ เพราะฉะนั้น ที่ว่าไม่ข้าม ได้ยินบ่อยๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่สิ่งนี้จะทำให้สามารถที่จะรู้ความจริงได้จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าเข้าใจความจริงว่าขณะนี้ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมดตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าเหมือนมี ทุกอย่างเหมือนทั้งนั้น แต่ความจริงมีเมื่อไร ไม่มีเมื่อไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่ว่าเหมือนมีเพราะอาศัยการจำไว้เป็นอัตตสัญญา แต่ความจริง จริงๆ ขณะนี้ที่ว่ามี สิ่งที่ว่ามีนั้นมีลักษณะอย่างไรที่ตัว ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ใช่ใครบอกอะไรก็เชื่อ ทำเพื่อที่จะได้รู้ "กายในกาย " หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะไตร่ตรอง การพิจารณาโดยแยบคาย เป็นเหตุให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ที่ไม่คลาดเคลื่อน เพราะว่าเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ไม่ละเลยที่จะพิจารณา แม้แต่คำถามที่ว่าขณะนี้ที่ตัวมีอะไร มีปอด มีหัวใจ อย่างกายคตาสติหรือปฏิกูลมนสัญญาหรือเปล่า จริงๆ เลยที่ตัวขณะนี้มีอะไร นี่คือสัจธรรม ถ้ารู้

    เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างได้ฟังแล้วพิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่านี่เป็นการรู้ถูกต้อง ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ ถ้ายังหาไม่ได้ ก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่ไปหาที่อื่นเลย ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้นั่นเอง

    ผู้ฟัง มีรูปธรรมกับนามธรรม

    ท่านอาจารย์ และขณะนี้จริงๆ มีอะไรตรงไหน นี่จะนำไปสู่ความเห็นถูก สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว และปรากฏทีละลักษณะ เพราะฉะนั้นที่คุณหมอว่ามีนามธรรมกับรูปธรรมตามตำรา นี่แน่นอน คือไม่ผิด แต่เดี๋ยวนี้ลักษณะของรูปอะไร ลักษณะของนามอะไรที่ตัว ถ้าไม่พบก็คือว่าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้เห็นจริงๆ ว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม เช่น คำตอบ ที่ตอบว่ามีแต่นามธรรมกับรูปธรรม นี่เป็นคำตอบที่ถูกแต่ไม่พอ

    อ.วิชัย มีเห็นกำลังดับ

    ท่านอาจารย์ มีเห็น ขณะที่เห็นเคยยึดถือว่าเป็นตัวตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าหรือไม่ หรือว่ายึดถือเห็นว่าเป็นเราเห็น ขณะที่กำลังเห็น มีตัวไหม ไม่มี นี่แสดงให้เห็นว่าจริงๆ มีตัวหรือไม่ ในขณะที่เห็น ต้องไม่มี สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทีละหนึ่งอย่าง จะปรากฏพร้อมๆ กันหลายอย่างไม่ได้ แม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิด แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ปรากฏ สภาพนั้นๆ ที่เกิดแล้วก็ดับไปแล้วไม่ได้ปรากฏ ด้วยเหตุนี้แม้เห็นในขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏหรือยัง หรือว่าเพียงเห็นก็ไม่รู้ เราต้องรู้ว่าอวิชชาคือไม่รู้อะไร และวิชชานั้นรู้อะไร มิฉะนั้นสิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมดก็เป็นแต่เพียงชื่อ เรื่องของโมหะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะเป็นสภาพที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏมานานแสนนาน ทำให้เกิดอกุศลมากมายหลายประเภทสะสมไว้มากมายในจิตใจ แล้วปัญญาที่จะเกิดเทียบส่วนแล้วจะน้อยสักแค่ไหน แล้วก็ไม่ใช่เพียงขั้นระดับการฟังเท่านั้นด้วย ถ้าเป็นขั้นการฟังจะละการยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่าเป็นเราเป็นตัวตนไม่ได้เลย เพราะว่าเพียงฟัง ในขณะนี้ฟังว่าที่ตัวมีนามธรรม และรูปธรรมก็ยังละไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ ว่าไม่มีอะไรนอกจากนามธรรมที่เกิดขึ้น และรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทีละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็น ขณะนั้นต้องมีความเข้าใจในเห็นจึงจะรู้ว่าไม่มีตัว และไม่มีเรา แต่มีเห็นกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะตัวซึ่งเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นเวทนาความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นธรรมทั้งหมด ก็คือเป็นธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏได้แต่ละทาง สิ่งที่ปรากฏทางตาจริง ขณะนี้ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางหูจริง เมื่อกำลังปรากฏทางหู สิ่งที่ปรากฏทางจมูกจริง เมื่อกำลังปรากฏทางจมูก ต้องกำลังปรากฏด้วยเพราะว่าเกิดแล้วยังไม่ดับจึงปรากฏได้ ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็โดยนัยเดียวกัน นี่คือการฟัง และพิจารณา แม้ขั้นพื้นฐานคือธรรม นามธรรมกับรูปธรรมก็จะต้องมีความเข้าใจถูกในระดับของการฟัง และการพิจารณา และสติปัฏฐานเป็นปกติ อย่าคิดว่าเหลือวิสัยเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไปเข้าใจผิดว่าจะต้องไปอบรม ต้องไปเจริญกว่าจะเกิด แต่ขณะนี้มีแล้ว รู้ตรงนั้น โดยที่ว่าไม่มีการบังคับเลย แต่สามารถที่จะเข้าใจถูกได้ว่านั่นเป็นลักษณะของสติที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นว่า ทั้งวันไม่ว่าสิ่งใดปรากฏก็คือลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง นี่คือการพิจารณาโดยแยบคาย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเข้าใจถูกคือเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ตามคำถามของอาจารย์ว่าที่ตัวมีอะไร และกล่าวตอบว่ามีเห็นกับมีสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อไรก็ตามที่เราคิดที่ว่ามีเห็น และก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อนั้นก็จะคิดอย่างนี้ตลอด แล้วความที่เข้าใจว่า "ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน " นี้จะมาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่จะละความสงสัย เพราะว่าทุกคนมีตัว พอบอกว่าไม่มีตัว ก็สงสัยว่าไม่มีตัวเป็นอย่างไร ไม่มีจริงๆ หรือไม่ เพราะว่าเคยเข้าใจว่ามีตัวมาตลอด เหตุที่จะให้ละความสงสัยก็คือการต้องพิจารณา ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง มีตัวหรือไม่ หรือมีตัวด้วยเลยกลายเป็นไม่หมดสักที อย่างไรๆ ก็ยังมีตัวอยู่

    ผู้ฟัง ได้ยิน มีสภาพที่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ได้ยิน นามธรรมไม่ใช่ตัวใช่ไหม เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังเป็นนามธรรมของเรา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าที่เรายึดถือว่าเป็นเราทั้งหมดไม่ใช่แต่เฉพาะตัว กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหมดด้วยความไม่รู้ นี่คือโมหะ และก็ยังมีความสงสัยซึ่งจะละไปได้ก็ต่อเมื่อได้ฟัง พิจารณา แล้วเริ่มเข้าใจถูก และก็สะสมความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ แม้ในขั้นของการที่จะฟังเข้าใจว่าขณะเห็นมีตัวหรือไม่

    ผู้ฟัง ตามปริยัติบอกว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ ตามปริยัตินี่คือผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมแล้ว และเราฟังก็คือไม่ปฏิเสธ สิ่งที่มีต้องถูกแน่นอน แต่ความเป็นจริงคือปัญญาความเข้าใจของเราถูกตามปริยัติมากน้อยแค่ไหน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567