พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 203


    ตอนที่ ๒๐๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ขณะเห็นมีตัวหรือไม่

    ผู้ฟัง ตามปริยัติบอกว่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ ตามปริยัตินี้คือผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมแล้วๆ เราฟังก็คือไม่ปฏิเสธ สิ่งที่มีต้องถูกแน่นอน แต่ความเป็นจริงคือปัญญาความเข้าใจของเราถูกตามปริยัติมากน้อยแค่ไหน แม้ว่าปริยัติจะกล่าวว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรม นี่คือปริยัติ ถูกแน่นอน แต่ความเห็นของเราถูกตามปริยัติมากน้อยแค่ไหน เช่นในขณะนี้ พิสูจน์ได้ว่าสงสัยไหมกับที่บอกว่าขณะที่กำลังได้ยินมีตัวหรือไม่ สงสัยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สงสัย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ละการที่เคยมีสัญญาความจำว่ายังมีเราอยู่ ไม่พอเลยกับการที่จะเพียงได้ฟังนิดหน่อย แล้วก็จะหมดความเป็นเรา แต่ว่าจะมีการรู้ตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมาว่า จริงๆ แล้วในขณะที่เห็นเป็นนามธรรม เกิดขึ้นแล้วเพราะปัจจัย มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะนั้นโลกใดๆ ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นทั้งตัวที่เคยจำไว้ว่ามีเราในขณะที่กำลังเห็นมีหรือไม่ นี่คือการพิจารณาโดยแยบคายที่จะให้เข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือไม่ เพื่อที่จะละความสงสัย แม้ในขั้นของการฟังที่จะต้องเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงว่าเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ได้ยินได้ฟังอะไรก็คือว่าต้องตรงกับความเป็นจริง และมีการเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ นั่นจึงเป็นการอบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าพื้นฐานไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไขว้เขว พอไปฟังอย่างอื่นก็ไม่ชัดเจน แล้วก็อาจจะคล้อยตามไปในทางที่ไม่ทำให้รู้ความจริงว่าขณะเห็นมีตัวหรือไม่

    ผู้ฟัง ตามปัญญาที่มีอยู่ตอนนี้ยังคิดว่ามี เพราะว่าก็ยังเห็นเป็นดอกไม้ เห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด จะเอาความเป็นเราที่ยังจำว่าเป็นตัวออกได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้จะได้ฟังพระธรรมมากสักเท่าไรก็ตาม ธรรมที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ปรากฏลักษณะกับสติ และปัญญาตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่ายังคงเป็นเรื่องราวของนามธรรม และรูปธรรม เช่น "เห็น"ก็บอกได้ถูกต้อง ว่า เป็นนามธรรม แต่ลักษณะของนามธรรมไม่ได้ปรากฏ ไม่ได้น้อมที่จะรู้จากการฟังโดยสติสัมปชัญญะเริ่มที่จะเกิด ที่จะค่อยๆ เข้าใจว่าสภาพรู้หรือธาตุรู้ สามารถที่จะรู้คือทางตา กำลังเห็นคือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีลักษณะอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงความหมายของสภาพรู้หรือธาตุรู้ก็ยังไกล ก็ยังคงสงสัยอีก รู้กับเห็นอย่างไรกัน เห็นก็เห็น และรู้ขณะที่กำลังเห็นคืออย่างไร คือยังไม่สามารถที่จะสอดคล้องว่าธาตุรู้เป็นสภาพที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่จะรู้ "ลักษณะที่รู้" ไม่ใช่อวิชชารู้ เพราะอวิชชารู้ไม่ได้ และที่ปัญญาจะเกิดรู้ได้จริงๆ ก็เพราะสติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมชัญญะ ไม่มีทางที่จะหมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ก็เป็นนามธรรม และรูปธรรมก็ไม่หมดความสงสัย ด้วยเหตุนี้ก็ตรงกับที่คุณวรศักดิ์กล่าวว่า "เห็น" มี แต่ก็ยังมีตัวเรา เพราะยังไม่ได้ละ เพราะยังไม่ได้รู้ว่าที่ไม่มีตัวเราคืออย่างไร คือโดยการที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้เฉพาะตรงเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะมีเราตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าที่เป็นตัวไม่ได้เลย จริงๆ แล้วไม่มีอะไร แต่มีธรรมเท่านั้นที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง จะเป็นการเข้าใจถึงลักษณะของจิตเห็น ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นดอกไม้ อะไรอย่างนี้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดเรื่องนั้นเลย เพราะว่าจิตเกิดดับอย่างเร็วมาก จะไปยับยั้งไม่ให้รู้ว่าเป็นโต๊ะ เป็นดอกไม้ เป็นคุณวรศักดิ์ก็เป็นไปไม่ได้ แต่มีความต่าง เพราะปัญญาเริ่มจะเข้าใจความต่างว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งจริงๆ เหมือนเสียง เหมือนกลิ่น ลักษณะนี้ก็เพียงปรากฏ นี่คือเริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะปรากฏก็จริง ยังไม่หมดไป ไม่ประจักษ์การเกิดดับ แต่ก็มีความคิดในสิ่งที่กำลังปรากฏจึงสามารถที่จะรู้หรือจำได้ในรูปร่างสัณฐานนั้นว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็แยกระหว่างเห็นกับคิด ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ว่าไม่ใช่เจตนาจงใจด้วยความเป็นเรา เพราะว่าเจตนาไม่ใช่องค์หนึ่งองค์ใดในมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ค่อยๆ แยกลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง เห็นกับคิด

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอะไรได้ หลับตาแล้วก็ไม่มี ถ้าไม่ปรากฏก็ไม่มีอะไร แต่ทั้งๆ ที่มี ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังมีการคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และทรงจำไว้อย่างมั่นคงเป็นอัตตสัญญา

    ผู้ฟัง ตื่นเช้าขึ้นมาในห้องน้ำก็ส่องกระจก ก็เห็น และก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แค่คิดอย่างนี้ก็ยังไม่มีปัจจัยให้เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกระจก เห็นคนอื่น เวลานี้ทั้งนั้นเลยก็เป็นเรา แต่พอมีกระจกนี่เรา ก็เหมือนกัน ก็คือความคิดนึก จะคิดนึกเวลาที่มีกระจกกับคิดนึกเวลาไม่มีกระจกก็คิดนึก นี่เป็นเรื่องเหมือนสลับซับซ้อน แต่ความจริงก็คือความจริง ต้องมีการพิจารณายิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น เข้าใจขึ้น ไม่ใช่หนทางอื่นที่จะไปรู้พยัญชนะมากมายในพระไตรปิฎกโดยแม้แต่คำธรรมดาที่เริ่มได้ยินได้ฟังก็ยังไม่ได้เข้าใจ ยังไม่ได้หยั่งถึงความจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นส่วนที่เหลือทั้งหมดจะมีได้อย่างไร นอกจากชื่อ แต่ว่าถ้าสามารถที่จะมีความเข้าใจลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจอรรถอื่นๆ ที่มีในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าจะพ้นจากนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องรู้ความจริงของนามธรรม และรูปธรรมจึงสามารถที่จะเข้าถึงอรรถอื่นๆ ได้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็คืออย่าพึ่งเชื่อสนิทใจในขณะที่ยังไม่ประจักษ์ในสิ่งที่ประจักษ์กับตัวเอง

    ท่านอาจารย์ สนิทใจหรือไม่สนิทใจโดยเหตุผล ถ้ามีเหตุผลแล้วไม่เชื่อก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าเหตุก็มีผลก็มีทุกอย่างแล้วก็ยังไม่เชื่อ จะไปหาอะไรที่จะให้เชื่อต้องไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีเหตุ และผลแน่นอน เพราะว่าสิ่งที่เป็นเหตุ และผลมีแล้วไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นก็จะไปเชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลแน่

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ประจักษ์ก็แสดงให้เห็นว่าเรายังละการที่ยังคงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาระดับที่สามารถประจักษ์ความจริงซึ่งขณะนี้เป็นจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังหรือไม่ โดยเหตุโดยผล วันนี้ฟังครั้งเดียวไม่พอ หรือฟังไปจนกระทั่งเข้าใจ แต่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ยังไม่พอ ไม่ใช่หนทาง แต่การเข้าใจถูก ในขั้นปริยัติ ก็จะนำไปสู่สติที่จะระลึกเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และก็มีความเห็นถูกต้องว่าขณะนั้นเป็นสติ ที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง สองอาทิตย์ก่อนผมรับกับท่านอาจารย์ว่าผมฟังแล้วก็ชื่นใจแล้วก็ถ้าจะพอไปได้ พอจะหายสงสัยได้ เพราะว่าท่านอาจารย์ใช้คำว่า “นึกถึงคำว่าธาตุ” คือตัวเราหรืออะไรๆ นามรูปอะไรๆ ก็ให้คิดว่าเป็นธาตุ ฟังไปๆ ก็ช่วยให้เราเข้าใจขึ้น แทนที่จะเป็นว่าตาเราเห็น แทนที่จะเป็นเราเห็นเก้าอี้ เห็นนก เห็นสัตว์อะไรก็แล้วแต่ กลายเป็นทุกอย่างเป็นธาตุหมด ก็ช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้บ้าง ว่าไม่มีตัวเรา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นธาตุอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สบายใจด้วยความเป็นเราสบายใจ

    ผู้ฟัง เมื่อกลับไปถึงบ้านไปคิดต่อไปอีก ที่เราเห็นก็เป็นจักขุปสาทซึ่งมันก็อยู่กับเรา อยู่ที่ตัวเรา อยู่ในตาเรา จะให้ผมเข้าใจว่าอย่างไร ผมเลยเปลี่ยนใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ชื่นใจแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ชื่นใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดา อนัตตาไม่เที่ยง

    ผู้ฟัง ต้องกราบขออภัยจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเป็นอย่างนี้ กว่าจะเป็นความเข้าใจของเราที่มั่นคงขึ้น และก็ถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นผู้ที่ตรง สำคัญที่สุด ตรง และจริงใจต่อการที่จะเข้าใจสภาพธรรม

    ผู้ฟัง พยายามตรง แต่ว่าเมื่อเห็น ก็คิดว่า ตาก็เห็นจากจักขุปสาทของเราทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ ของเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้นขณะนี้อยู่ไหน เมื่อวานนี้ที่เห็นที่ได้ยินหรือเมื่อสักครู่นี้

    ผู้ฟัง หายไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็หมดแล้ว ของเราอยู่ไหนๆ หมดแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าใช้คำนี้ก็ยังไม่หมดเพราะว่าสัญญาเรายังจำได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จนกว่าสัญญาที่เป็นอนัตตสัญญาจะเกิด ขณะนี้อัตตสัญญาก็สืบต่ออยู่เรื่อยๆ ถ้าขณะนั้นจำได้ว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง คือผมไม่ได้ดื้อแต่พยายามจะทำความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง สิ่งนี้เป็นเครื่องกั้น โลภะแนบเนียนมาก ขณะใดที่มีความไม่รู้ สหายสนิทก็มา ติดข้องต้องการ ไม่ว่าจะต้องการอะไร ขณะนี้กำลังต้องการเข้าใจ อยากเข้าใจ จะทำอย่างไรจะเข้าใจ โดยที่ไม่ได้คิดว่าการฟังแล้วเข้าใจก็หมดไปได้เพราะว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับ ก็มีสภาพธรรมอื่นซึ่งอาศัยอวิชชาซึ่งสะสมมานานแสนนานเกิดต่อ พร้อมด้วยความสงสัยนานแสนนานซึ่งเกิดต่อพร้อมด้วยโลภะซึ่งนานแสนนานซึ่งสะสมมา หนีไม่พ้นโดยง่าย แต่จะต้องค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจความหมายของคำว่า “จิรกาลภาวนา” การอบรมที่จะรู้จริงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเป็นสัจจญาณ ถ้าใครไม่มีสัจจญาณ ไม่มีทางที่กิจญาณจะเกิดได้ ก็เป็นเราไปทำอย่างนั้น ไปทำอย่างนี้ เร่งรัดอยากรู้ตลอดชาติ เป็นอย่างนี้แล้วจะได้อะไรจากชาตินี้ไป ได้ความไม่รู้ ได้ความเห็นผิดต่อๆ ไป แต่ถ้าจะมีความเห็นถูกแม้เพียงเล็กน้อยก็ได้แล้วที่จะทำให้มีความค่อยๆ เห็นถูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง อนัตตา

    ผู้ฟัง บางครั้งออกไปสนทนากัน ก็สงสัยว่า ทำไมคุณเด่นพงษ์นี่กลับไปกลับมา

    ท่านอาจารย์ ธรรมดา

    ผู้ฟัง เดี๋ยวก็เชื่อเดี๋ยวก็ไม่เชื่อ

    ท่านอาจารย์ ธรรมดา

    ผู้ฟัง ผมก็บอกว่าผมเชื่อขึ้นทีละนิดๆ ตามระดับความเชื่อที่ผมคิด แต่ก็กลับลงมา แล้วก็กลับขึ้นไป กลับลงมาแล้วก็กลับขึ้นไป

    ท่านอาจารย์ สะสมมาแต่ความเห็นถูกอย่างเดียว หรือว่าสะสมความเห็นผิดมาด้วย สะสมความสงสัยมาด้วย สะสมความไม่รู้มาด้วย ทุกคนอนุโมทนาคุณเด่นพงศ์ในกาลนั้น แต่ในกาลนี้หายไปแล้วใช่ไหม ก็เป็นเรื่องที่จะอนุโมทนาเฉพาะกาลๆ เวลาที่กุศลจิตเกิด เวลาที่ความเห็นถูกเกิด ก็อนุโมทนาในขณะนั้นจนกว่าจะถึงตลอดกาลได้

    ผู้ฟัง แต่ผมใช้คำว่า “ธาตุ” ที่อาจารย์แนะนำแล้ว ผมคิดว่าผมเข้าใจขึ้นนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ความเข้าใจในลักษณะนั้นที่ไม่ใช่เราจะยังไม่มี ยังคงเป็นการฟังขั้นปริยัติอยู่

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าคงขอฟังไปอีก

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการสะสมสำหรับวันหนึ่งที่จะสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ตรง

    อ.ธิดารัตน์ จากคำถาม และคำพูดที่จริงใจของคุณเด่นพงศ์ว่ากลับไปแล้วก็ยังรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ ก็เป็นเรื่องที่เป็นปกติ ซึ่งสักกายทิฏฐิที่ยึดถือขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะรูปหรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่างๆ ว่าเป็นเราซึ่งก็ละเอียด และลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็น เมื่อเห็นแล้วเราก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะว่ายังไม่ได้ละสักกายทิฏฐิ และการที่มาฟังธรรมก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกมากขึ้น แต่ในขณะที่ความเข้าใจผิดหรือว่าความที่เรายึดถือสภาพธรรมทุกๆ อย่างว่าเป็นเราสะสมมามาก ก็ทำให้เรารู้สึกคล้อยตามว่า ก็ยังเป็นเราอยู่เพราะด้วยอำนาจของความยึดถือ ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสักกายทิฏฐิละเอียด และก็ลึกซึ้งจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงวันหนึ่งเราอาจจะเห็นผิดได้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ระวัง และรอบคอบ ที่จะรู้ว่าพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อให้เราเกิดปัญญาของเราเอง ไม่ใช่อาศัยปัญญาของคนอื่นแล้วก็คิดตามเชื่อตาม ไม่ว่าใครจะบอกว่าอย่างไรก็ตาม แต่ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ได้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทำให้เราค่อยๆ เข้าใจขึ้น สิ่งนั้นถูก แต่ถ้าไม่สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นเรื่องอื่น ก็คือไม่ใช่การที่จะทำให้ปัญญาของเราจริงๆ เจริญขึ้นได้

    ผู้ถาม. คำว่า “กัลยาณมิตร” เป็นคนที่สามารถที่จะบอกเราในทางที่ถูก แนะนำธรรมในทางที่ถูกให้แก่เรา แต่บางครั้งท่านมีเจตนาดีกับเรา แต่ธรรมที่ท่านให้กับเราอาจจะไม่ถูก แล้วเราก็เคารพท่านในฐานะที่ท่านหวังดีต่อเรา หรือแม้แต่พ่อแม่ ครู อาจารย์ ของเราบางท่าน ก็พยายามให้ธรรมแก่เรา แต่ก็สอนผิดๆ ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แล้วเราก็ยังต้องเคารพกัลยาณมิตรเหล่านี้อยู่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เคารพแต่ไม่ใช่เชื่อ เพราะว่าคำที่สอนไม่มีเหตุผล ขณะที่เคารพ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมคือผู้ที่เคยเป็นครูอาจารย์ โดยวัย โดยอะไร ก็แล้วโดยความหวังดี แต่เรื่องความเห็นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ผู้ฟัง เราไม่ลบหลู่ และเราก็ไม่ทำลายท่าน ก็ไม่ไปปองร้ายท่าน ก็เคารพกราบไหว้ธรรมดา แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดไปตัดขาดว่าคุณสอนธรรมไม่ถูก ฉันไม่เคารพเธออะไรอย่างนั้น ผมคิดว่าผมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทราบว่าผมทำถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ความลบหลู่เป็นอกุศล ทุกอย่างที่เป็นอกุศลไม่สมควรหรือว่าไม่ควรที่จะให้มีมาก หรือให้เกิด

    ผู้ฟัง ความรู้สึกของคำว่า “วินัย” นั้นเกิดเป็นบัญญัติว่าให้เชื่อตามพระวินัย แต่วิจิกิจฉาคือไม่ลังเลสงสัย แต่ความไม่ลังเลสงสัยของผมจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผมมีความเข้าใจ ไม่ใช่อาจารย์บอกให้ผมเชื่อ

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะต้องสอดคล้องกันด้วยคือว่าขณะนี้ทุกคนกำลังฟังสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มาจากใคร คงจะไม่ต้องไปสาวความว่าพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ที่ไหนอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่กำลังได้ฟังขณะนี้ถูกต้องหรือไม่ จริงหรือไม่ สามารถที่จะพิสูจน์เข้าใจหรือไม่ ถ้าเป็นสิ่งที่จริง มีในพระไตรปิฎกแน่นอน เพียงแต่ว่าบุคคลนั้นจะอ่านได้ครบถ้วนหรือไม่ หรือยังคิดว่าตรงนั้นไม่มี ตรงนี้ไม่มี แต่ว่าสิ่งที่มีจริง เป็นจริง ที่จะไม่มีในพระไตรปิฎกไม่มี ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลจริงในขณะนี้ ไม่สงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ถูกต้องไหม ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิตมีศรัทธาที่จะศึกษาอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ตรง ความเคารพในพระบรมศาสดา สำหรับผู้ที่ฟังนี้ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งฟังเข้าใจ ความเคารพอยู่ที่ไหน อยู่ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะให้บุคคลอื่นได้รู้ตาม ได้เข้าใจตาม พระวินัยก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นั้นมีศรัทธาถึงกับจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่เคารพในพระบรมศาสดา สิ่งที่ได้ทรงบัญญัติไว้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผลหรือ หรือเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นถ้ายังมีความสงสัย มีความเคารพในพระบรมศาสดาหรือไม่ ถ้ามีความไม่เคารพในพระบรมศาสดา ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เคารพด้วยหรือไม่ ก็จะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดว่าไม่มีบุคคลใดที่มีปัญญาเสมอเหมือนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้เป็นคำที่คนอื่นจะชื่อไม่ได้ เรียกไม่ได้นอกจากพระองค์ นอกจากจะทรงเป็นผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง พระบารมีที่ได้บำเพ็ญมาก็ทำให้ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ควร ไม่เหมาะควรกับเพศบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ทรงบัญญัติไว้เป็นการที่จะให้สงฆ์อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุขเพื่อการขัดเกลา เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลนั้นสงสัยไม่เชื่อ แล้วก็ไม่สอบถามให้หายสงสัย ก็ยังคงเป็นผู้ที่ไม่เคารพในความจริง ไม่เคารพในเพศ ไม่เคารพในพระบรมศาสดาซึ่งจะหมดความสงสัยได้ว่าพระวินัยมีประโยชน์อย่างไรก็คือเมื่อมีข้อสงสัยก็สอบถาม จนกระทั่งหมดความสงสัย ทางวินัยฉันใด ทางธรรมก็ฉันนั้น ธรรมไม่ใช่เรื่องปกปิด ไม่ใช่เรื่องที่เงียบไม่พูด แต่เป็นเรื่องที่สงสัยก็ถาม และก็รับฟังความคิดเห็นในเหตุผลที่ได้ยินได้ฟัง ธรรมเป็นสิ่งที่ยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟังมาก็เกรงใจไม่ถามหรืออะไรอย่างนั้น ก็จะทำให้ไม่เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง หรืออาจจะเข้าใจผิดตามคำที่ได้ยินได้ฟังได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราเคารพ และก็เชื่อ แต่เราไม่ค่อยปฏิบัติตาม จะถือว่าเป็นการเคารพไหม

    ท่านอาจารย์ มีเราหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีก็ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจได้ว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็แสดงว่าเรายังเคารพน้อยอยู่ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เข้าถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” เป็นธรรมไม่ใช่เรา ใครจะอยากมีอกุศล ใครจะไม่อยากให้กุศลเจริญขึ้น ใครจะไม่อยากรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ทั้งหมดบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ได้เรียนเรื่องเวทนา รู้สึกว่ายากมาก

    ท่านอาจารย์ เวทนาคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเรายังต้องเรียนรู้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเข้าใจแล้วว่ามีจริงๆ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง เชื่อว่ามีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เชื่อ แล้วเวทนาคืออะไรถึงจะเชื่อว่ามีจริง ต้องรู้ก่อนว่าคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็เวลาเรารู้สึกไม่สบายใจ ก็ทุกอย่างเป็นเวทนา สุขเวทนา

    ท่านอาจารย์ นี่คือเราอาจจะชินกับภาษาที่เราใช้ว่าน่าเวทนา ก็เลยคิดว่าต้องไม่ดี ต้องไม่สบายใช่ไหม แต่ศึกษาธรรมต้องเข้าใจใหม่ว่า "เวทนา" เป็นภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ อย่างหนึ่ง แต่ว่าสิ่งนั้นมีลักษณะอย่างไรที่ใช้คำว่า “เวทนา” เพราะถ้าไม่ใช้คำ คำก็ไม่สามารถที่จะจำแนกลักษณะที่ต่างๆ กันออกไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีคำ เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงธรรมอะไร คำว่า “เวทนา” เป็นภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งคืออะไร

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรม ก็คือสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ เจตสิกมีหลายอย่าง เจตสิกทั้งหมดเกิดกับจิต เวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งต้องต่างกับเจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกคือสภาพธรรมอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567