พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 230


    ตอนที่ ๒๓๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมก็ทำให้เข้าใจได้ว่าในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏ และรู้ได้ สิ่งๆ นั้นต้องเกิดแล้ว ดับแล้วจึงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มิได้ สิ่งใดที่เกิดแล้วยังไม่ดับจึงปรากฏ แต่ขณะนี้การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเป็นไปอย่างเร็วมาก ทำไมไม่รู้ความจริงอย่างนี้ แล้วบางคนก็อาจจะคิดว่าแล้วเมื่อไรจะรู้ได้ แต่เป็นเรื่องของปัญญาไม่ใช่เรื่องของตัวตน ไม่ใช่เรื่องของอวิชชา แต่ความเห็นถูกซึ่งเริ่มจากการฟัง จะสะสมสืบต่อจนกระทั่งสามารถเข้าใจเพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นลักษณะซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ และสภาพที่กำลังเห็นก็เป็นสิ่งที่มีจริงชั่วขณะที่เห็นปรากฏ ไม่มีตัวตน ไม่มีเราเลย จนกว่าจะประจักษ์ความจริงขึ้นละคลายความไม่รู้ขึ้น สภาพธรรมจึงสามารถที่จะปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง ก็ยังสงสัยตรงนี้ว่าในขณะถ้าหากว่าสติเกิดก็จะต้องมีลักษณะของสติ แล้วเมื่อจะรู้ว่าขณะนั้นสติเกิด หมายความว่าในขณะนั้นลักษณะของสติได้ดับแล้วจึงปรากฏต่อสติดวงใหม่

    ท่านอาจารย์ จะไปคำนึงอะไรถึงสิ่งซึ่งเกิดแล้วหรือว่าดับแล้วหรือว่าเกิดอีกแล้วก็สืบต่อ ในเมื่อขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น แข็ง ทุกคนรู้ลักษณะที่แข็ง เป็นธรรมดา ไม่ใช่สติที่กำลังรู้แข็งต่อจากกายวิญญาณที่กำลังรู้แข็ง เพราะฉะนั้นผู้นั้นจึงสามารถที่จะรู้ความต่างได้ วันหนึ่งๆ ก็กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง แต่ว่าไม่เคยรู้ลักษณะที่แข็งว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ต้องมีสภาพที่รู้แข็ง และแข็งปรากฏก่อน แล้ววาระต่อไปสติจึงเกิดขึ้นแล้วก็รู้ตรงลักษณะนั้นด้วยการรู้ว่าขณะนั้นไม่มีชื่อใดๆ เลย เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งถ้าปัญญาอบรมเจริญถึงระดับที่จะละคลายความติดข้อง ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างที่กำลังปรากฏเป็นความจริงที่สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ แต่ไม่ใช่ให้เราไปนั่งสงสัยว่าก็แข็งดับไปแล้ว วาระนั้น แล้วก็มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นวาระต่อไป นี่เป็นเรื่องความคิดนึก แต่ขณะนี้มีแข็ง และก็สิ่งที่เราได้ศึกษาเป็นเรื่องลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นความต่างของจิตว่าแม้ในขณะที่เหมือนสิ่งที่ปรากฏไม่ดับเลย จิตที่เกิดดับ และกำลังมีสิ่งนี้เป็นอารมณ์มีลักษณะที่ต่างกันเป็นประเภทต่างๆ จิตบางประเภทเป็นวิบาก จิตบางประเภทเป็นกิริยา จิตบางประเภทเป็นอกุศล นี่ก็คือแม้ในขณะที่แสนสั้นที่เสมือนว่าขณะนี้ไม่มีอะไรดับเลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ได้ฟังด้วยความประมาทว่าธรรมเป็นสิ่งที่รู้ได้ง่าย แม้แต่การฟังต้องฟังละเอียดที่จะให้ถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมก่อน แล้วก็จะรู้ว่าแม้สติที่จะเกิดหลังจากที่มีการฟังเข้าใจแล้วที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นอนัตตาไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อฟังที่ท่านอาจารย์ไปบรรยายที่เชียงใหม่ในเดือนมิถุนา ถ้าเราระลึกถึงสี นึกถึงสภาพรู้สีแล้ว แทนที่เราจะคิดนึกต่อไป เราก็มีสติระลึกรู้ถึงรูปธรรม นามธรรมในขณะนั้นต่อมาเลยแทนที่จะคิดนึก แต่ว่าของตัวเองพอเห็นสี รู้สีแล้วก็จะรู้รูปร่างต่อมาก่อนแล้วเราถึงรู้สภาพที่รู้สีต่อมาอีกทีหนึ่ง ท่านอาจารย์บอกว่าต้องระลึกก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้อง แต่แล้วแต่สติจะเกิดขึ้น สติเป็นอนัตตา ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และมีการรู้ด้วยว่าใคร อะไร ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นแล้วแต่สติจะระลึกลักษณะสภาพใด ทุกอย่างเป็นจริง ถ้ามีเราจะทำ นี่คือไม่เข้าใจว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ต้องมีการไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลยทั้งสิ้น สิ่งที่ยังไม่เกิดจะรู้ไหมว่าอะไรจะเกิด จะคิด จะทำ จะเปลี่ยน จะให้เป็นอย่างนั้น จะให้เป็นอย่างนี้ นี่คือขณะนั้นกำลังคิดอย่างนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่คิด เพราะฉะนั้นก็ทราบได้เลยว่า คิดนี่มีจริงๆ เมื่อไร เมื่อกำลังคิดแล้วก็หมดไป ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เหลืออะไรเลย

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า ถ้าสติเกิดทางหู แล้วที่อาจารย์พูดบอกว่าแทนที่จะพูด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สติเกิดทางหูแทนที่จะพูดนี่ไม่มี สติเกิดคือ ขณะนี้มีเสียง กำลังรู้ลักษณะเสียงที่กำลังปรากฏมีลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่หลงลืมสติจะกล่าวได้ว่าลักษณะของเสียงจริงๆ เกือบจะไม่ปรากฏเพราะว่าผ่านไปเร็วมาก แต่เวลาที่สติเกิด ลักษณะของเสียงจะปรากฏ นี่คือลักษณะของเสียงเป็นอย่างนี้ แสดงว่าขณะนั้นสติรู้ลักษณะ แต่ว่าถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แม้แต่ลักษณะอย่างนี้ก็ผ่านไปโดยไม่ได้มีการที่จะสังเกตหรือรู้ความต่าง ขณะนี้ทุกคนมีเสียง ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดก็จะมีการรู้ลักษณะละเอียด เพราะเหตุว่าถ้าสติไม่เกิด ดับแล้ว ไม่ทันจะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดจริงๆ กำลังรู้ตรงลักษณะ เพราะฉะนั้นสภาพลักษณะของเสียงจะปรากฏชัดเจนหรือว่าเด่นขึ้นหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดนี้ก็คือสติเริ่มรู้ตรงลักษณะ แต่ปัญญาจะต้องอบรมต่อไปอีกที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งโดยที่ว่าเราก็ไม่ต้องกล่าวถึงชื่อหรือคำ ถ้าจะอดนึกถึงชื่อไม่ได้ก็ไม่มีใครไปบังคับว่าไม่ให้นึก อย่านึกนั้น ไม่มี เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้านึก สติจะเกิดหรือไม่เกิดก็ผ่านไปด้วยความเป็นเรา แต่ถ้าสติเกิดเมื่อไร สติทำหน้าที่รู้ตรงลักษณะนั้นทันทีรวดเร็วไม่ต้องตระเตรียม นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะ แทนที่จะนึกเป็นคำอย่างที่เคย สภาพของเจตสิกก็แทนที่จิตจะระลึกเป็นคำ สติก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปทำอย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นก็รู้ว่าสติไม่ใช่เรา กำลังเห็นขณะนี้แล้วรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นปรากฏกับสติ ก็จะรู้ได้ว่าสติไม่ใช่เรา และตามความเป็นจริงถ้าจะกล่าวออกมาเป็นคำพูดที่จะกล่าวถึงก็คือว่าเพราะสติเกิดขณะนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏลักษณะนั้นแก่สติ

    ผู้ฟัง แสดงว่าคำพูดที่ท่านอาจารย์พูดว่า แทนที่จะคิดนึกต่อหมายถึงคิดเป็นเรื่องราวคิดเป็นคำเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสติเกิด

    ผู้ฟัง แต่สติเกิดนี่คือไม่ว่าเราจะรู้ความหมายหรือว่ารู้เสียงนี่คือเมื่อสติเกิดก็ระลึกรู้ต่อไปอีก แต่ไม่ใช่ไม่ให้รู้ความหมาย ไม่ใช่อะไรอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้าไม่รู้ความหมาย จะมีชีวิตอยู่ในโลกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใครจะไปสอนให้ใครไม่รู้ความหมายบ้าง แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง ทุกอย่างจริงทุกขณะ ไม่ใช่เราสักอย่างเดียว สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ พิสูจน์ความจริงของคำที่ได้ยินได้ฟังเกิดดับเร็วแสนเร็วขนาดไหนจนไม่ปรากฏ แม้แต่เห็นที่กำลังมีในขณะนี้ที่ปรากฏ เกิดดับเร็วขนาดไหนจึงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นความคิดนึกทั้งหมดของแต่ละคน โดยที่สติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ลักษณะทีละอย่าง เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นความมืดที่ไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรมทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เห็นครั้งเดียวแล้วก็เป็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ นิมิต

    ผู้ฟัง ความจริงต้องเห็นหลายๆ ครั้ง หลายๆ หนจนกระทั่งเป็นนิมิตเป็นท่านอาจารย์ขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างจะรู้ได้ว่าที่เราเข้าใจว่าเราเข้าใจธรรมอย่างหยาบ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดจะรู้กำลังสติปัญญาของเราว่าสามารถจะรู้อะไรได้แค่ไหน แม้แต่เสียงที่ปรากฏ สั้น และเร็วใช่ไหม แต่ว่านึกถึงเพียงแค่กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่มีเสียงนั้น กำลังมีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง หรือเป็นความสามารถที่จะรู้ลักษณะของเสียงเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ เพียงแค่เสียงเดียว พูดถึงจิตมีมากกว่า ๑๗ ขณะที่มีเสียงเป็นอารมณ์ แต่ถ้ากล่าวถึงเฉพาะกุศล และอกุศลที่กำลังมีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ ขณะนั้น ๗ ขณะสืบต่อ และคิดออกไหม แค่นี้จิตเกิดดับมีเสียงนั้นเสียงเดียวยังไม่ใช่เสียงอื่นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัญญาของเราจะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะละความไม่รู้ สภาพธรรมจึงจะปรากฏแก่แต่ละบุคคลตามความเป็นจริงที่จะสามารถละคลายความไม่รู้ได้ โดยที่ว่าเมื่อสิ่งนั้นยังไม่เกิดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปนึกถึงด้วยความสงสัย แต่ก็รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นในวันหนึ่งว่าเมื่อฟังธรรมแล้ว มีสติสัมปชัญญะที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ้างไหม ถ้ายังก็คือฟังต่อไปเพราะว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับบัญชาได้ โลภะจะทดลอง จะชักชวน จะนำอยู่ตลอดเวลาให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เพราะไม่เห็นผล ทั้งๆ ที่ฟังมาตั้งเท่าไร และก็เห็นมาตั้งเท่าไร และก็กำลังเห็น สติปัฏฐานก็ไม่เกิด ก็ชักจะวุ่นวายหาทางอื่น นั่นใคร ความไม่รู้ และความต้องการ แต่ถ้าเป็นการรู้จริงๆ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ทุกคำที่ตรัสไว้เป็นความจริง และก็ไม่ใช่ทางหลอกลวง ถ้าไปทางผิดเมื่อไรจะกลับมาหาทางถูก แต่แม้ว่าทางถูกจะเป็นทางที่ยาวไกล แต่ก็ค่อยๆ เดินไป ค่อยๆ ไปตามกำลังความสามารถของแต่ละภพแต่ละชาติ และตัวอย่างของผู้ที่ได้รู้แจ้งสภาพธรรมในอดีตก็มีแล้วมาก เพราะฉะนั้นก็ยังคงมีต่อไปได้ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้จนถึงพระองค์ต่อ ไป หรือเมื่อไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ใช่ความรู้ก็อย่าไปพอใจในการที่จะได้อะไรมาหรือคิดว่ารู้อะไรโดยที่ว่าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง อย่างรูปารมณ์ ตามความคิดเห็นก็คือน้อมไป ถ้าเราไปคำนึงถึงมีการเกิดดับสืบต่อ เราจะเข้าใจไม่ตรงว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัจจุบันขณะ แต่ถ้าเข้าใจว่าเป็นสี ไม่ว่าจะเป็นวิถีไหนก็เป็นสี สมมติที่ทางตา อย่างนี้เข้าใจถูกไหม

    ท่านอาจารย์ การเกิดดับทำกิจการงานของสภาพธรรมคือจิต และเจตสิก ไม่มีตัวตนที่จะไปรู้ ขณะนี้สภาพธรรมทั้งจิต และเจตสิกกำลังเกิดทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นไม่มีตัวตนที่จะไปรู้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กล่าวว่าน้อมไป ไม่ใช่เราน้อม แต่หมายความว่าจากการฟังที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จิต และเจตสิกที่เข้าใจกำลังน้อมไปสู่ทำกิจจากการเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือการน้อมไปสู่การที่สติสัมปชัญญะจะเกิดเองตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่มีเรากำลังน้อมหรือว่าทำให้สติเกิดที่จะน้อม เพราะเหตุว่าการเกิดทำหน้าที่ของสภาพธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ได้ เช่นขณะนี้ผัสสเจตสิกทำกิจ สัญญาเจตสิกทำกิจ เวทนาเจตสิกทำกิจเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ไม่มีใครไปรู้ ไม่มีตัวตนอีกต่างหาก แต่ว่าสภาพความเข้าใจถูก ความเห็นถูกมีจริงจากการที่ฟังแล้วก็สะสม เพราะฉะนั้นขณะนั้นคือการน้อมไปของสังขารธรรมที่ใช้คำว่า “การปรุงแต่ง” เพราะเหตุว่าก่อนที่จะได้ฟังธรรม เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราก็คิดเหมือนตัวตนตามเหตุการณ์นั้นๆ ไป ไม่คิดสักนิดเดียวว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆ ที่กำลังกล่าวขวัญถึงกัน เหตุการณ์ของประเทศ หรือของบ้าน หรือของเพื่อนของมิตรสหาย ขณะนั้นทั้งหมดก็คือสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่หมายความว่ามีตัวตนหรือมีเราที่จะไปทำให้เกิดคิดอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น เวลาที่กำลังพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด คนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง พูดออกมาเป็นอกุศล อีกคนหนึ่งเรื่องเดียวกันคิด พูดออกมาเป็นกุศล ทั้งสองคนใครไปบังคับบัญชาได้ไหม ไม่ได้เลย แต่ว่าขณะนั้นเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น จากการฟังทีละเล็กทีละน้อยแล้วเข้าใจขึ้น เวลากุศลจิตเกิด รู้ได้ว่าแต่ก่อนกุศลจิตอย่างนี้ไม่เกิดแม้เพียงคิดหรือพูด แม้แต่นึกหรือที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ แม้ว่าจะมีจิตคิดที่จะอนุเคราะห์ให้เข้าใจธรรมแต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้ถ้าไม่ฟังหรือไม่เห็นประโยชน์ แม้ความคิดอย่างนี้ก็ไม่เกิดถ้าไม่ได้ฟังธรรมโดยความเข้าใจขึ้น แต่ถ้ามีความเข้าใจขึ้น จะไม่เดือดร้อนเพราะบางคนบอกว่าอยากให้ทุกคนรู้ อยากให้ทุกคนเข้าใจ ก็เป็นไปไม่ได้ ขณะที่กำลังอยากแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเดือดร้อนไหม นั่นคือผลของการฟังหรือไม่ แต่ว่าถ้าขณะใดก็ตามมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น แล้วเกิดคิดว่าบังคับบัญชาไม่ได้ อะไรจะเกิดก็เกิด มีเหตุแล้วจึงได้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อฟังแล้วจึงเป็นปัจจัยให้เกิดคิดในทางที่ตรง ในทางที่เป็นธรรมได้

    ผู้ฟัง นิพพานเป็นนามธรรม และก็เป็นสภาพรู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าสภาพธรรมใดเป็นสภาพรู้ สภาพนั้นต้องเกิดขึ้นรู้

    ผู้ฟัง แสดงว่านิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่รู้หรือ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าเราศึกษาธรรมแล้วก็มีความทรงจำด้านการเจริญสติ แล้วทีนี้เกิดอุบัติเหตุหรือว่าอะไรที่ทำให้ความจำหายไปก็ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมแต่ละประเภท แม้ขณะใดก็ตามที่จิตเกิด ต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดจำ แต่จะจำอะไรนั้นก็แล้วแต่ ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง

    ผู้ฟัง เห็นเป็นนิมิตอนุพยัญชนะ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั้นไม่มีตัวสติไปรู้ได้ ก็คือไม่มีโสภณธรรมเลย มีแต่ผัสสะ เวทนา สัญญา ๗ อย่างเท่านั้น อาจารย์ช่วยอธิบายตรงนี้ให้ชัดด้วย

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดจริง และก็ไม่ใช่คุณสุกิจ เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเราฟังจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นสภาพธรรมใด ประเภทไหน ค่อยๆ ฟังไปก็จะเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่คุณสุกิจ

    ผู้ฟัง สติระลึกไม่ถึงตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ก็จริง

    ผู้ฟัง อย่าว่าจะให้เกิดปัญญาเลย สติมันยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จริงอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนด้วย เกิดแล้วก็ดับแล้วด้วย

    ผู้ฟัง ขอให้ช่วยอบรมให้เกิดสติหน่อย

    ท่านอาจารย์ นี่ไงคะ กำลังฟังให้รู้ว่าไม่ใช่คุณสุกิจ เป็นจริงทุกอย่าง โลภะเกิดก็จริง อวิชชาเกิดก็จริง ทุกอย่างเกิดแล้วจริง แต่ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่ใครเลย เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นเอง แล้วก็ดับแล้วด้วย แล้วก็เกิดใหม่ด้วย แล้วก็กำลังดับด้วย

    ผู้ฟัง คำพูดที่ว่าไม่นึกถึงนิมิต และอนุพยัญชนะ หลังจากสติเกิด คือหมายถึงถ้าตอนนี้เรามีสติเกิดระลึกถึงรูปร่างเพราะว่าเรามีการเห็น ขณะนั้นมีการคิดนึกในรูปร่าง และก็มีสติระลึกถึงรูปร่างอะไรที่มันเกิดตามความเป็นจริงในขณะนั้น แต่ว่าต่อไปถ้าปัญญาเกิดขึ้นมากๆ ขึ้นไป ความก้าวหน้าคือจะไม่เห็นนิมิต และอนุพยัญชนะใช่ไหม ตามที่มีพระสูตรหนึ่งที่กล่าวว่าพระภิกษุที่เห็นหญิงที่ทะเลาะกับสามีออกมาแล้วเห็นแต่ฟัน ที่เขายิ้มแล้วเห็นฟัน แต่พระไม่เห็นว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใส่ใจ ไม่ยึดติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ว่าทุกอย่างต้องเป็นความจริง ถ้ากล่าวว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ในขณะนี้ก็คือว่ามีเห็น และมีการรู้หลังจากเห็นว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร นี่ปฏิเสธไม่ได้ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด มีความค่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ความเป็นจริงก็คือว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริงที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท แล้วมีจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงปรากฏ นี่จะทำให้คลายการยึดติดในอนุพยัญชนะ ในนิมิตว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อใดที่เริ่มเข้าใจแม้ในขณะนี้ ไม่ได้มีตัวตนที่ไปสกัดกั้นยับยั้ง"เห็น" ไม่ให้มีการรู้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร นั่นผิด ใครจะไปยับยั้งการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของจิตได้ และความจริงก็คืออย่างนี้ แม้ขณะนี้สติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางหนึ่งทางใด ไม่ได้หมายความว่าไม่มีทางอื่นเกิดดับสลับอย่างรวดเร็วที่จะปรากฏเหมือนเดิมเป็นปกติ แต่ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดจึงรู้ว่าขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นปกติ และก็อย่างรวดเร็ว เพราะเหตุว่ามีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องเข้าใจว่าเป็นปกติ ไม่ผิดปกติ ถ้าผิดปกตินั่นผิด มีเราทำอย่างนั้นได้อย่างไร เพราะเหตุว่าจะไปกั้นไม่ให้มีการรู้เลยว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานี่เป็นอะไร แต่จากการฟัง เริ่มเข้าใจ เมื่อเริ่มเข้าใจแล้วก็จะมีการรู้ลักษณะนี้ พร้อมกับความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นแต่เพียงลักษณะธรรมอย่างหนึ่ง และลองคิดดูว่าจากการที่ไม่เคยใส่ใจหรือว่าไม่เคยที่จะระลึกได้ว่าลักษณะของสภาพธรรมตรงนี้อย่างนี้ เป็นจริงอย่างนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ใช่คำอะไรเลย แต่เมื่อใช้คำอธิบายต้องใช้คำว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่เพราะรู้ในความเป็นธรรมที่กำลังมีจริงที่กำลังปรากฏ และสภาพธรรมนี้กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ไม่กระทบหู ไม่กระทบจมูก ใครที่ไม่มีตาคือจักขุปสาท สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ ก็ปรากฏไม่ได้ นี่คือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นขณะที่เห็น มีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง และก็ดับไปหมด นี่คือการฟัง ต้องฟังอีกนานเท่าไร กว่าจะค่อยๆ เข้าใจโดยที่ว่าไม่ไปสกัดกั้นอะไรเลย แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง ว่าจากการที่ไม่เคยใส่ใจที่จะเข้าใจถูกต้องว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏมีจริงแต่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หลับสนิทสิ่งนี้ก็ไม่ปรากฏ กำลังได้ยินเสียงสิ่งนี้ก็ไม่ปรากฏ กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ สิ่งนี้ก็ไม่ปรากฏ นี่ก็แสดงถึงความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตซึ่งเป็นธรรม และก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นปัญญาจะไม่ไปสกัดกั้น จะไม่ไปทำอะไรเลยสักอย่าง แต่จะมีความเห็นถูกที่ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ เจริญ และก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่าการที่จะคลายความติดข้องจะมีเมื่อไร ถ้าไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนี้ยิ่งขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะ และไม่ใช่แต่สภาพธรรมนี้อย่างเดียว แต่ต้องสภาพธรรมอื่นๆ ทั้งหมดที่ปรากฏในชีวิตประจำวันจนกระทั่งที่จะสามารถคลายความติดข้องได้ เมื่อคลายความติดข้อง สภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้ามีเรากำลังจงใจ กำลังต้องการที่จะให้รู้เฉพาะตรงนี้ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมอื่นก็เกิดดับ แต่ด้วยความเป็นตัวตนก็ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567