พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 186


    ตอนที่ ๑๘๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้รู้ว่าจิต ๑ ขณะก็เกิดสืบต่อมาจากขณะก่อน รู้ปฏิจสมุปบาทหรือไม่ ปฏิจสมุปบาทคือธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพียงแต่รู้ว่าจิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดไม่ได้ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ปรุงแต่งให้จิตเกิด เป็นปัจจัยต่างๆ กัน แล้วแต่สภาพของเจตสิกนั้นๆ ขณะนั้น ถ้ารู้เช่นนี้รู้ปฏิจสมุปบาทหรือไม่ บางคนอาจจะคิดว่านี่ไม่ใช่ปฏิจสมุปบาท แต่ธรรมทั้งหมดในสังสารวัฏที่จะพ้นจากปฏิจสมุปบาทมีไหม ถ้าศึกษาด้วยความเข้าใจก็จะเข้าใจว่าไม่มีเลย แต่ว่าเมื่อไปอ่านเพียงหัวข้อแล้วก็คิดว่าจะต้องเริ่มอย่างไร ผ่านไปอย่างไร สิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี สิ่งนั้นไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี ก็คิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นจึงรู้จักปฏิจสมุปบาท แต่ไม่ใช่ ความเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นซึ่งจะทำให้ค่อยๆ เป็นปัจจัยสะสมที่เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ความเข้าใจที่ได้สะสมมาแล้วก็สามารถที่จะคลายความติดข้อง เพราะมีความรู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระธรรมเป็นการศึกษาธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยอาศัยการบำเพ็ญพระบารมี ที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และก็ทรงแสดงให้เราเข้าใจ แต่ความเข้าใจของเราเมื่อได้ฟังพระธรรมนั้นแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ และความเข้าใจ หนทางที่เข้าใจ ถูกหรือไม่ หรือว่าไปเข้าใจเรื่องราวอื่นๆ โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนี้แม้แต่คำว่าจิตสะสมแล้วก็ต่างกันไปตามการสะสม ขณะนี้สงสัยหรือไม่

    ผู้ฟัง สงสัย

    ท่านอาจารย์ นั่นก็แสดงว่ารู้จักจิตนี้ใช่ไหม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรียนเรื่องชื่อ แต่การที่เราจะบอกว่าสงสัย ก็ยังคงเป็นชื่ออยู่นั่นเองตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็จะมีแต่ชื่อ และเราก็เก่งในการที่จะจำได้ แต่ว่าสามารถที่จะเข้าถึงสภาพที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรมเมื่อใด เมื่อนั้นจึงจะหมดความสงสัยในความหมายของคำว่าธรรม ในความหมายของนามธรรม ในความหมายของรูปธรรม ซึ่งเราจำได้ และเราตอบได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งจะหมดความสงสัยได้หรือไม่ ไม่ได้เลย นี่เป็นการที่เราจะรู้ด้วยตัวเองว่าการฟังแต่ละครั้งจะสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกจนกระทั่งถึงการที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ยังจะต้องค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะคิดว่าเราจะไปทำอะไรเพื่อที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรม ซึ่งการรู้แจ้งสภาพธรรมต้องเป็นปัญญาตามลำดับขั้น ถ้าไม่มีขั้นฟังเข้าใจแล้วละความไม่รู้ขั้นฟัง การที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดก็เป็นไปไม่ได้เพราะยังไม่รู้ แม้หนทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ยังไม่รู้ แต่ถ้ารู้หนทางก็จะเป็นปัจจัยให้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ไม่ใช่เพียงชื่อ

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันก็พอจะรู้ได้ก็มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้นเอง แต่จากที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายลึกซึ้งในเรื่องวิปัสสนาญาณต่างๆ นี้ ไม่สามารถเทียบเคียงได้เลยว่าสภาพธรรมที่เป็นลักษณะของวิปัสสนาญาณเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังรักษาตาที่บอดแต่ยังไม่เห็นใช่ไหม คนตาดีมองเห็นสิ่งที่คนตาบอดมองไม่เห็น นี้เป็นความต่างกันของการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกับเพียงฟังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏในสภาพที่เพียงปรากฏ หรือว่ายังคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏว่าปรากฏได้ เพราะว่ามีจักขุปสาท และรูป แล้วก็มีผัสสเจตสิกกระทบ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น คิดอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ หรือว่าในขณะนี้มีลักษณะของรูปกำลังปรากฏ ฟังเพื่อให้เข้าใจจนกว่าจะเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่าขณะที่คิดไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ปรากฏวันเดียว กี่วัน กี่ภพ กี่ชาติก็ปรากฏอย่างนี้ แต่ไม่รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงก็จะรู้ความต่างของขณะที่คิด แล้วก็รู้ว่าแท้ที่จริงสิ่งที่ปรากฏเล็กน้อยมาก ต่อจากนั้นก็เป็นโลกของความคิดทั้งหมด ไม่ว่าจะคิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือคิดถึงเสียง คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางอื่นๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้รู้ความจริง แต่เรากำลังฟังให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูก จนเป็นความเข้าใจที่มั่นคง และต่อจากนั้นเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ การที่ค่อยๆ เข้าใจถูก ขณะนั้นก็คือสติสัมปชัญญะกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น เพราะเหตุว่าต้องเป็นเพียงเล็กน้อย เพราะรูปปรากฏเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่ปรากฏนาน แล้วสติซึ่งเกิดดับพร้อมจิตแต่ละขณะก็ยิ่งมีอายุสั้นกว่ารูป นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อไรปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่มีตัวเราไปพยายามอีกซึ่งทับถมความเป็นเรา แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้วด้วยความรู้จึงละหนทางอื่น ซึ่งไม่ใช่การค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าสามารถที่จะให้สิ่งนั้นปรากฏกับปัญญาที่แทงตลอดลักษณะนั้นทางมโนทวาร

    อ.ธิดารัตน์ หัวข้อของวิจิกิจฉา ก็จะมีความสงสัยในธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ท่านอาจารย์กรุณายกตัวอย่างให้เข้าใจว่าลักษณะความสงสัยในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของวิจิกิจฉาเจตสิกคือความสงสัยในสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดไม่ข้าม กล่าวทบทวนอีกครั้ง

    อ.ธิดารัตน์ เพราะสงสัยธรรมที่เป็นปัจจัยคือลักษณะของธรรมที่เป็นปัจจัยที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะสงสัยธรรมใช่ไหม ที่เป็นปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ข้ามไปหาปัจจัย แต่สงสัยในธรรม ถ้าไม่รู้ธรรม จะรู้ถึงความเป็นปัจจัยของธรรมนั่นหรือไม่ ขณะนี้สงสัยในธรรมหรือว่าไม่สงสัยในธรรมที่จะไปเข้าถึงลักษณะของความแจ้มแจ้งในลักษณะของปฏิจสมุปบาท เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะแจ่มแจ้งในลักษณะของปฏิจสมุปาทโดยไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    อ.ธิดารัตน์ คือก่อนที่จะสงสัยในปฏิจสมุปบาท ก็จะมีความสงสัยในธรรมส่วนอดีต สงสัยธรรมในส่วนอนาคต สงสัยในธรรมทั้งในส่วนอดีต และอนาคต แล้วถึงจะมาสงสัยในส่วนของธรรมที่อาศัยปัจจัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ สรุปคือสงสัยในธรรม ถ้าไม่สงสัยก็หมดความสงสัยในธรรมที่ดับไปเป็นอดีต ธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งก่อนที่จะปรากฏ ธรรมที่ปรากฏต้องดับไปก่อน เพราะฉะนั้นถ้ายังคงมีความสงสัยในธรรม ไม่ต้องบอกทั้งหมดก็ได้ คือไม่มีทางที่จะรู้อย่างหนึ่งอย่างใดได้ จนกว่าจะรู้ลักษณะของธรรม และปัญญาจึงค่อยๆ เห็นความเป็นปัจจัย และก็ละคลายความสงสัยในสภาพธรรมแต่ละอย่างได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะกล่าวโดยนัยใดๆ กี่ประการก็ตามแต่ ให้ทราบว่าเพราะยังสงสัยในธรรมอยู่ และจะเข้าใจในธรรมที่เป็นอดีต และอนาคต เป็นปัจจุบัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะขณะนี้แม้จะกล่าวว่าจิตเห็นกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เท่านี้ทุกคนก็รับรองว่าจริง แต่จิตไม่ใช่เรา และก็สิ่งที่กำลังปรากฏก็ไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นธาตุที่สามารถจะปรากฏกับจักขุวิญญาณได้ คือจะข้ามพยัญชนะไหนไม่ได้ ต้องเป็นความละเอียดที่จะรู้ว่ามาจากไหน ทั้งๆ ที่กล่าวว่าจิตเห็นขณะนี้กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยต้องอาศัยจักขุปสาท และมีผัสสะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏคืออารมณ์ จิตเห็นจึงเกิดขึ้นเห็น พูดได้ อธิบายได้ เรียบเรียงได้ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของเห็น และสิ่งที่ปรากฏ แล้วจะชื่อว่าหมดความสงสัยในปฏิจสมุปบาทนั้นเป็นไปไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ ถึงแม้สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ถึงความเป็นเหตุเป็นปัจจัย ความสงสัยนั้นก็จะต้องยังมีอยู่อีกมากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใครดับความสงสัยได้

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าจะดับความสงสัยได้หมดก็คือเป็นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เห็นจริงๆ ว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่อบรมความเห็นถูก ความรู้ถูก ไปทีละเล็กทีละน้อยเรื่อยๆ จนกว่าสามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมตามลำดับขั้น รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคล เมื่อใด ก็หมดความสงสัย

    อ.ธิดารัตน์ สงสัยในปัจจัยแสดงว่ายังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของธรรมที่เป็นปัจจัยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้จักตัวธรรม ถ้าไม่รู้จักตัวธรรมแล้วก็บอกหายสงสัยแล้ว เป็นไปได้ไหม

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากว่าไม่รู้จักลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ความสงสัยทั้งหมดก็จะต้องยังอยู่ แล้วความไม่รู้จะสามารถรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมได้ แต่รู้ด้วยลักษณะของความไม่รู้ และก็ประกอบด้วยความสงสัยอย่างนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สามารถที่จะรู้เป็นอารมณ์ เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ หมายความว่าจิตเห็นกำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คือ รูปารมณ์ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่เห็นถูกต้องว่าลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏ และต่อจากนั้นก็คิดตลอด อยู่ในโลกของความคิดตลอดที่มืดสนิท และก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่สว่างเล็กน้อยนิดเดียว แต่คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตามากมาย แล้วจะปรากฏอย่างนี้ได้อย่างไรถ้าไม่คลายความไม่รู้ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้จริงๆ ถ้าปัญญาสมบูรณ์ขึ้นก็สามารถที่จะเข้าใจในความเป็นปัจจัยที่จะละคลายความเป็นเราได้ เพราะเหตุว่าเพียงรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่หนทางที่จะดับได้ทันทีโดยเพียงรู้แค่นี้ แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะหมดความสงสัยเพราะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมถูกต้องโดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของวิจิกิจฉา ก็เรียกว่าไม่ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของเขา ไม่ใช่ง่าย

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร รู้ชื่อ แค่จิตก็ยังไม่รู้แล้วใช่ไหม เจตสิกก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่างจะรู้ได้อย่างไร เพียงเข้าใจเรื่องชื่อ เพราะฉะนั้นต้องรู้หนทางจริงๆ ว่าทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ไม่ใช่ทางอื่นซึ่งไม่มีปัญญา เป็นไปไม่ได้ เพราะทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเพื่อปัญญาความเห็นถูกต้องตามลำดับขั้น ซึ่งก็ไม่พ้นจากการรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น กำลังอบรมสะสมความรู้ถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทุกชาติ

    อ.วิชัย อกุศลเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง คือ อหิริกะ และอโนตตัปปะ ถ้ากล่าวถึงอกุศลกรรม เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน ก็มีความรู้สึกที่ไม่ควรประพฤติในสิ่งนั้นก็เกิดหิริโอตัปปะ แต่ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่น่ายินดี เช่น รูปที่น่าพอใจ หรือเสียงที่น่าพอใจ ขณะที่เพลิดเพลินยินดีก็ไม่เห็นขณะที่เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นโทษ เพราะไม่เห็นจึงไม่ละอายที่จะยินดีติดข้อง สิ่งที่เป็นโทษ เราควรจะเห็นตามความเป็นจริง หรือว่าทั้งๆ ที่เป็นโทษก็ยินดีติดข้อง

    อ.วิชัย คือขณะนั้นก็ไม่เห็นโทษ

    ท่านอาจารย์ จึงเป็นอหิริกะ

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงอย่างหยาบ เช่น ปาณาติบาต อทินนาทาน ก็รู้สึกว่าไม่ควรกระทำ

    ท่านอาจารย์ ปาณาติบาตเกิดจากอะไร

    อ.วิชัย โทสะ

    ท่านอาจารย์ แล้วโทสมูลจิตเกิดจากอะไร

    อ.วิชัย โมหะด้วย แล้วก็อหิริกะ อโนตัปปะด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็โลภะด้วย

    อ.วิชัย หมายความว่าต้องมีปัญญาในระดับที่สามารถจะเห็นโทษแม้ขณะที่พอใจ

    ท่านอาจารย์ ความคิดของชาวบ้านกับการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องต่างกัน เพราะฉะนั้น ผู้อื่นก็อาจจะคิดว่าแค่นี้ไม่เป็นไร แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่ากิเลสแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นสิ่งที่ควรจะดับเป็นสมุทเฉท เพราะถ้ายังไม่ดับก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังสารวัฏไม่สิ้นสุด ซึ่งก็ทำให้มีทุกข์ทุกครั้งที่มีการเกิด เพราะทุกข์นั้นที่เกิด ทุกข์นั้นดับไป สิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นเป็นทุกข์เพราะเกิดแล้วก็ดับ การประจักษ์แจ้งความจริง ต้องฟังจนกระทั่งสามารถที่จะอบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ตรง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราไม่สามารถจะละโลภะ โทสะ ในระดับขั้นแล้วแต่จะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ แต่ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเข้าใจความจริงอย่างนี้ด้วย จึงจะค่อยๆ อบรม และเห็นโทษจริงๆ ถ้าเราไม่เห็นโทษ วันหนึ่งๆ เราก็เพลิดเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะคนที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี แล้วก็คิดว่าไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรที่เต็มหรือพอ โลภะเกิดขึ้นยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ ยินดีต่อไปอีกๆ ไม่มีวันจบ ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่เห็นโทษของโลภะ เราก็จะเพลินไปด้วยความติดข้อง แต่ถ้ามีปัญญาเราเริ่มที่จะคลายทั้งๆ ที่พอใจ แต่ความพอใจของเราก็ไม่ถึงกับไม่มีไม่ได้ มีก็พอใจ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ถึงกับต้องไปขวนขวายเหมือนเดิม เหมือนเก่า ซึ่งเคยไม่มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ปัญญานั้นเองที่จะทำหน้าที่ของปัญญา แต่ถ้าไม่มีปัญญา อะไรจะไปลดไปละแม้เพียงในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้ แต่พอมีปัญญาก็จะเห็นได้ว่าไม่มีใครที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ถ้าไม่ใช่พระอนาคามี แต่ว่าสามารถที่จะเห็นโทษ แล้วก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นปัญญาที่ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ถึงระดับที่แม้ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อนถ้าสิ่งนั้นหมดไป หรือว่าไม่จำเป็นต้องติดข้องอย่างมากๆ คลายขั้นคิด แล้วก็ยังคลายด้วยการอบรมเจริญปัญญาก่อน ไม่ใช่ไปละโลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่ต้องละความไม่รู้ และการเข้าใจผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนซึ่งใหญ่มาก เป็นเราไปเรื่อยๆ ทุกวัน ทั้งๆ ที่ได้ฟังว่าเป็นธรรม และก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะ แต่ละทางด้วย เช่นทางตา เพียงสิ่งที่ปรากฏ หลับตาก็ไม่มี แต่ในความทรงจำไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทันทีที่ลืมตาก็เป็นคนเป็นเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นก็คือกำลังค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละน้อย แต่ว่าถ้าผลยังไม่เกิดที่สามารถรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางมโนทวารเมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ เราก็อาจจะคิดว่าไม่ใช่หนทางเสียแล้ว ตราบใดที่ผลยังไม่เกิดก็คิดว่าไม่ใช่หนทาง แต่ว่าถ้ามีความมั่นคงว่าปัญญารู้อะไร จะพ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ไม่มีอะไรอื่นอีกแล้วที่ปัญญาจะต้องรู้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ แม้ความรู้คือสติสัมปชัญญะเกิดเพียงเล็กน้อยแล้วก็หมดไป ก็เป็นผู้ที่รู้ความจริง มีฉันทะอย่างยิ่งที่จะอบรม การที่สติเกิด ไม่หลงลืมว่าขณะนั้นเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถทำให้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าขณะนั้นสิ่งนั้นดับไปแล้ว สิ่งอื่นปรากฏ มีความคิดต่างๆ ซึ่งถ้าไม่รู้ว่าความคิดเป็นเพียงสภาพธรรมก็เป็นเราไปอีกมากมาย แต่ว่าความจริงก็ต้องรู้จนทั่ว จึงจะสามารถดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้ไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏ นี่ก็เป็นหนทางที่ต่างกันของผู้ที่ยังไม่ได้เห็นโทษของอกุศลทั้งหมด เห็นแต่โทษของโทสะบ้างเท่านั้น

    อ.วิชัย ก็สังเกตว่าบุคคลที่อบรมหิริโอตัปปะมาก และก็เห็นโทษแม้อกุศลเพียงเล็กน้อย แต่ว่าเมื่อเทียบกับตนเอง แม้เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เป็นไร

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ คนที่เห็นโทษของอกุศลเพียงเล็กน้อยแต่ยังมีเรา ก็ไม่มีหนทาง เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เขาสามารถเห็นโทษของอกุศลเพียงเล็กน้อย แต่เขายังไม่ได้ดับทิฏฐิการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเล็กน้อย แต่การสะสมทีละเล็กทีละน้อยก็จะทำให้มากขึ้น แต่ก็อาจเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยเบาบางจากอกุศลแต่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็ไม่ใช่ว่าไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม นี้เรียกว่าระลึกรู้แต่สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิตหรือไม่

    ท่านอาจารย์ อบรม หมายความว่าทำให้เจริญขึ้น ให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังฟังเพื่อให้มีความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็ฟังด้วยความมั่นคงว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร เป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ จะไม่มีการขวนขวายด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็นตัวตนที่จะทำ เพราะขณะใดที่ขวนขวายทำอย่างอื่น ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพราะเกิดแล้ว จะไม่เข้าใจปฏิจสมุปบาท จะไม่เข้าใจอนัตตา จะไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้เมื่อไรที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ และขณะที่หลงลืมสติ ก็รู้ แต่ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำ ถ้าทำเมื่อไรก็ไม่รู้เมื่อนั้นเพราะเป็นเราที่ทำอย่างอื่น ไม่ใช่การเห็นถูก เข้าใจถูก ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องการให้มีสติสักเท่าไร สติเกิดไม่ได้แน่นอนตามความต้องการ เพราะว่าขณะนั้นเป็นตัวตนที่ต้องการ แต่ว่าถ้าเขามีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ เหมือนขณะนี้เมื่อมีโสตปสาทก็มีการได้ยิน เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะมีการระลึกคือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ไม่นานเพียงชั่วครู่ก็ยังรู้ความต่างกันของขณะที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ส่วนใหญ่จะมีการคิดนึกตามมาว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นรูปอะไรเสมอ ก็จะเห็นได้ว่าขณะนั้นก็คือเราที่สงสัย ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ถ้าใครพยายามจะไปอธิบายให้ฟังว่าจะระลึกอย่างไรจึงจะทำให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนสัตว์ บุคคล แต่เขาไม่มีความเข้าใจถูก ไม่ได้ให้ความเข้าใจถูกว่าเป็นเรื่องละด้วยความรู้ สิ่งที่ปิดกั้นอยู่ เราฟังมาไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ส่วนใดของพระไตรปิฎก เพราะอวิชชา และโลภะทำให้ไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้ ตราบใดที่ปัญญาไม่พอที่จะประจักษ์หรือแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นจะปรากฏไม่ได้ ก็ยังคงเหมือนเดิมเพราะว่าไม่ได้อบรมความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้ค่อยๆ คลายความไม่รู้แม้ในขั้นการฟัง ก็ต้องฟังเพื่อที่จะละโลภะที่จะทำ ไม่ใช่ไปแสดงวิธีที่จะทำอย่างนี้อย่างนั้นแล้วสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่เป็นเรื่องละความไม่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567