แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1318


    ครั้งที่ ๑๓๑๘


    สาระสำคัญ

    อถ.ราโชวาทชาดกที่ ๑ - เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง (เกิดขึ้นจริงในอดีต เป็นแต่ละชีวิต)

    อถ.ภัคคชาดกที่ ๕ - เหตุเริ่มของการอวยพร

    วินย. จีวรขันธกะ - เรื่องวิสาขามิคารมารดา (เรื่องของพร)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๗


    ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์ก็ทรงสำรวจดูว่า จะมีใครๆ พูดถึงโทษของพระองค์บ้าง เมื่อไม่เห็นใครๆ กล่าวถึงโทษในระหว่างข้าราชบริพารภายใน ทรงสดับแต่ คำสรรเสริญคุณของพระองค์ถ่ายเดียว ทรงดำริว่า ชะรอยชนเหล่านี้ เพราะกลัวเรา จึงไม่กล่าวถึงโทษ กล่าวแต่คุณเท่านั้น จึงทรงสอบข้าราชบริพารภายนอก แม้ในหมู่ข้าราชบริพารเหล่านั้น ก็ไม่ทรงเห็น จึงทรงสอบชาวเมืองภายในพระนคร ทรงสอบชาวบ้านที่ทวารทั้งสี่นอกพระนคร แม้ในที่นั้น ก็มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษ ทรงสดับแต่คำสรรเสริญของพระองค์ถ่ายเดียว จึงทรงดำริว่า เราจักตรวจสอบ ชาวชนบทดู

    เป็นผู้ที่ต้องการเห็นโทษของตนเองจริงๆ แม้จะได้สอบถามผู้ที่ใกล้ชิดแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังต้องการรู้ถึงบุคคลที่อยู่ไกลว่า พระองค์มีโทษประการใดบ้าง

    พระองค์เสด็จขึ้นรถไปกับสารถีเท่านั้น ทรงปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก เสด็จออกจากพระนคร พยายามสอบสวนชาวชนบท จนเสด็จถึงภูมิประเทศชายแดน ก็มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษ ทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณ จึงทรงบ่าย พระพักตร์สู่พระนคร เสด็จกลับตามทางหลวงจากเขตชายแดน

    ในเวลานั้น พระเจ้าโกศลพระนามว่า พัลลิกะ ทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงตรวจสอบหาโทษในบรรดาข้าราชบริพารภายในเป็นต้น ก็มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษเลย ทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณของพระองค์เหมือนกัน จึงทรงตรวจสอบชาวชนบท และได้เสด็จมาถึงประเทศที่พระโพธิสัตว์กำลังเสด็จกลับพระนคร

    กษัตริย์ทั้งสองได้ประจันหน้ากันที่ทางเกวียนอันราบลุ่มแห่งหนึ่ง ไม่มีทางที่รถจะหลีกกันได้ สารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงพูดกะสารถีของพระเจ้าพาราณสีว่า

    จงหลีกรถของท่าน

    สารถีของพระเจ้าพาราณสีก็ตอบว่า

    พ่อมหาจำเริญ ขอให้ท่านหลีกรถของท่านเถิด บนรถนี้มีพระเจ้าพรหมทัตมหาราช ผู้ครอบครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีประทับอยู่

    สารถีของพระเจ้าโกศลก็พูดว่า

    พ่อมหาจำเริญ บนรถนี้พระเจ้าพัลลิกะมหาราช ผู้ครอบครองราชสมบัติในแคว้นโกศลก็ประทับนั่งอยู่ ขอท่านได้โปรดหลีกรถของท่าน แล้วให้โอกาสแก่รถของพระราชาของเราเถิด

    ดูคล้ายๆ กับการจราจรในท้องถนนสมัยนี้ว่า ใครจะหลีกให้ใคร แต่ครั้งนั้นเป็นกษัตริย์สองพระองค์

    สารถีของพระเจ้าพาราณสีก็คิดว่า แม้ผู้ที่นั่งอยู่ในรถนี้ก็เป็นพระราชาเหมือนกัน เราจะควรทำอย่างไรดีหนอ นึกขึ้นได้ว่า มีอุบายอย่างหนึ่ง เราจักถามถึงวัย ให้รถของพระราชาหนุ่มหลีกไป แล้วให้พระราชทานโอกาสแก่พระราชาแก่

    ครั้นตกลงใจแล้ว จึงถามถึงวัยของพระเจ้าโกศลกะสารถี แล้วกำหนดไว้ ครั้นทราบว่าพระราชาทั้งสองมีวัยเท่ากัน จึงถามถึงปริมาณของราชสมบัติ กำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูล ประเทศ

    ต้องสอบหลายอย่าง ในการที่จะรู้ว่าใครควรที่จะหลีกใคร

    ครั้นทราบว่า ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ครอบครองรัชสีมาประมาณฝ่ายละ สามร้อยโยชน์ มีกำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูล และประเทศเท่ากัน สารถีก็คิดต่อไปว่า ควรจักให้โอกาสแก่ผู้มีศีล จึงถามว่า

    พ่อมหาจำเริญ ศีลและมารยาทแห่งพระราชาของท่านเป็นอย่างไร

    เมื่อเขาประกาศสิ่งที่เป็นโทษแห่งพระราชาของตนโดยนึกว่าเป็นคุณ จึงกล่าวคาถาแรกว่า

    พระเจ้าพัลลิกราชทรงชนะคนกระด้างด้วยความกระด้าง ทรงชนะคนอ่อนด้วยความอ่อนโยน ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น ดูก่อนสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด

    ลำดับนั้น สารถีของพระเจ้าพาราณสี กล่าวกะสารถีของพระเจ้าพัลลิกะว่า

    ท่านกล่าวถึงพระคุณของพระราชาของท่านหรือ

    เมื่อเขาตอบว่า ใช่แล้ว สารถีของพระเจ้าพาราณสีจึงกล่าวต่อไปว่า

    ผิว่าเหล่านี้เป็นพระคุณ สิ่งที่เป็นโทษจะมีเพียงไหน

    สิ่งที่ไม่ใช่คุณยังเห็นว่าเป็นคุณ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นโทษคงจะต้องร้ายแรงกว่านี้มาก แต่สารถีของพระเจ้าพัลลิกะก็ไม่สนใจว่าสิ่งที่กล่าวไปแล้วเป็นโทษอย่างไร แต่ได้ถามว่า

    เหล่านี้เป็นโทษก็ตามเถิด แต่พระราชาของท่านมีพระคุณเช่นไรเล่า

    สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวว่า

    ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง แล้วกล่าวคาถาที่สองว่า

    พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น

    ดูก่อน สารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด

    เมื่อสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพัลลิกะและสารถี ทั้งสอง ก็เสด็จและลงจากรถ ปลดม้า ถอยรถ ถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี

    เป็นผู้ที่ว่าง่าย ที่จะรู้ว่าควรทำอย่างไร แม้ในสมัยนั้น

    พระเจ้าพาราณสีถวายโอวาทแด่พระเจ้าพัลลิกะว่า

    ธรรมดาพระราชาควรทรงกระทำอย่างนี้ๆ

    แล้วเสด็จไปกรุงพาราณสี ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์

    แม้พระเจ้าพัลลิกะก็ทรงรับพระโอวาทของพระเจ้าพาราณสี ทรงสอบสวน ชาวชนบท เสด็จไปทั่วพระนคร ไม่เห็นมีผู้กล่าวโทษของพระองค์ จึงกระทำบุญ มีทานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์

    พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา เพื่อทรงถวายโอวาทแด่พระเจ้าโกศล แล้วทรงประชุมชาดก

    นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะครั้งนั้นได้เป็นพระโมคคัลลานะ พระเจ้าพัลลิกะ ได้เป็นพระอานนท์ สารถีของพระเจ้าพาราณสีได้เป็นท่านพระสารีบุตร ส่วนพระราชาคือ ตถาคตเอง

    ชีวิตประจำวันในท้องถนน ไม่ควรลืมการที่จะเป็นผู้เจริญกุศล ซึ่งข้อความที่สารถีของพระเจ้าพัลลิกะกล่าว อาจจะเป็นที่พอใจของหลายท่าน ที่ว่า พระเจ้าพัลลิกราชทรงชนะคนกระด้างด้วยความกระด้าง ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี มีทั้งธรรมที่ดีและที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ข้อเหล่านี้ ซึ่งอาจจะมีกับตัวท่าน ธรรมข้อใดไม่ดี เพื่อที่จะละสิ่งนั้น แต่ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ยังไม่ละ

    อรรถกถา สูกรชาดกที่ ๓ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระเถระแก่รูปหนึ่ง

    ในวันหนึ่ง เมื่อการฟังธรรมยังเป็นไปอยู่ในตอนกลางคืน เมื่อพระศาสดาประทับยืน ณ แผ่นหินแก้วมณี ใกล้ประตูพระคันธกุฎี ประทานสุคโตวาทแก่หมู่ภิกษุ แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้ไปยังบริเวณของตน ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน พักอยู่ครู่หนึ่งจึงมาหาท่านพระสารีบุตร แล้วถามปัญหา

    ท่านพระธรรมเสนาบดีได้แก้ปัญหาที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามแล้วๆ ได้ทำให้ชัดเจนดุจทำพระจันทร์ให้ปรากฏบนท้องฟ้า แม้บริษัทสี่ก็นั่งฟังธรรมอยู่

    ณ ที่นั้น พระเถระแก่รูปหนึ่งคิดว่า หากเราจะเย้าพระสารีบุตร ถามปัญหาในท่ามกลางบริษัทนี้ บริษัทนี้ก็จะรู้ว่า ภิกษุนี้ (คือ ตัวท่านเอง) เป็นพหูสูต ก็จักกระทำสักการะและยกย่อง จึงลุกขึ้นจากระหว่างบริษัทเข้าไปหาพระสารีบุตร ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า

    ดูก่อน อาวุโสสารีบุตร ข้าพเจ้าจักถามปัญหาข้อหนึ่งกะท่าน ขอจงให้โอกาสแก่เราบ้าง ขอท่านจงให้การวินิจฉัยแก่ข้าพเจ้าโดยอ้อมก็ตาม โดยตรงก็ตาม ในการ ติเตียนก็ตาม ในการยกย่องก็ตาม ในการวิเศษก็ตาม ในการไม่วิเศษก็ตาม

    ท่านพระสารีบุตรแลดูพระแก่นั้นแล้วคิดว่า ภิกษุนี่ตั้งอยู่ในความริษยา เขลา ไม่รู้อะไรเลย จึงไม่พูดกับพระแก่นั้น ละอายใจ วางพัดวิชนี ลงจากอาสนะเข้าไปยังบริเวณ แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ก็ได้เข้าไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน

    พวกมนุษย์พากันลุกขึ้นประกาศว่า

    พวกท่านจงจับพระแก่ใจร้ายนี้ ไม่ให้พวกเราได้ฟังธรรมอันไพเราะ

    แล้วก็พากันติดตามไป พระเถระนั้นหนีไปตกในวัจจกุฎีเต็มด้วยคูถซึ่งมีไม้เลียงหักพังท้ายวิหาร ลุกขึ้นมาทั้งที่เปื้อนคูถ พวกมนุษย์เห็นดังนั้นพากันรังเกียจ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นมนุษย์เหล่านั้น จึงตรัสถามว่า

    อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมนอกเวลา

    พวกมนุษย์พากันกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ

    พระศาสดาตรัสว่า

    อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ภิกษุแก่นี้ผยอง ไม่รู้กำลังของตน ทำทัดเทียมกับ ผู้มีกำลังมาก แล้วก็เปื้อนคูถ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนภิกษุแก่นี้ก็เคยผยองไม่รู้กำลังของตน ทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมาก แล้วก็เปื้อนคูถ

    เมื่ออุบาสกอุบาสิกาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

    ในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้สำหรับแต่ละท่าน ย่อมเป็นสิ่งที่ได้เคยกระทำมาแล้วในครั้งก่อนซึ่งสะสมมา และถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่กระทำในครั้งนี้ที่เป็นอกุศลซึ่งยังไม่ได้ละ ก็จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการกระทำอย่างนั้นต่อไปอีกในอนาคตด้วย

    สำหรับเรื่องต่อไป เป็นเรื่องที่แสดงเหตุเริ่มของการอวยพร ซึ่งมีข้อความในอรรถกถา ภัคคชาดกที่ ๕ เวลาที่ทุกท่านอวยพรกัน อาจจะยังไม่ใช่ผู้ที่ตรงในการพิจารณาเหตุและผล

    ข้อความมีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราชิการาม ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จัดสร้างถวายใกล้พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการจามของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้

    มีเริ่มต้นว่า ชีว วสฺสสตํ ภคฺค ดังนี้

    เรื่องมีว่า

    วันหนึ่งพระศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางบริษัท ๔ ที่ราชิการาม ขณะทรงแสดงธรรมทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้พากันส่งเสียงว่า

    ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระชนม์เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงทรงพระชนม์เถิด

    เพราะเสียงนั้นได้ทำให้การแสดงธรรมหยุดลง

    ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากล่าวในเวลาจามว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด ดังนี้ เพราะเหตุที่กล่าวดังนั้น คนนั้นจะพึงเป็นอยู่ หรือจะพึงตาย เป็นไปได้ไหม

    โดยเพียงคนอื่นอวยพรให้ว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอไม่ควรกล่าวในเวลาเขาจามว่า ขอให้ท่านเป็นอยู่เถิด ผู้ใดกล่าว ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ

    สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายกล่าวกะพวกภิกษุในเวลาที่ภิกษุเหล่านั้นจามว่า ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายจงเป็นอยู่เถิด

    นี่เป็นคนละเหตุการณ์ เหตุการณ์แรกพระผู้มีพระภาคทรงจามและภิกษุทั้งหลายกล่าว ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอไม่ควรกล่าวในเวลาเขาจามว่า ขอให้ท่านเป็นอยู่เถิด ผู้ใดกล่าว ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฎ แต่สำหรับพวกฆราวาสในสมัยนั้นได้กล่าวกับพวกพระภิกษุในเวลาที่ภิกษุเหล่านั้นจามว่า ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายจงเป็นอยู่เถิด

    ภิกษุทั้งหลายตั้งข้อรังเกียจ ไม่พูดตอบ พวกมนุษย์ก็พากันยกโทษว่า อย่างไรกันนี่ สมณศากยบุตร เมื่อเรากล่าวว่า ขอให้พระคุณเจ้าจงเป็นอยู่เถิด ก็ไม่พูดตอบเลย จึงพากันไปกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์จึงตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกคฤหัสถ์เขาถือมงคลกัน เมื่อคฤหัสถ์เขากล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงเป็นอยู่เถิด เราอนุญาตให้กล่าวตอบว่า ขอให้พวกท่านจงเป็นอยู่เถิด

    ตามมารยาท คือ ตามที่พวกคฤหัสถ์ประพฤติกันในครั้งนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นแล้วว่า ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร คนที่ได้รับพรนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะพึงเป็นอยู่หรือจะพึงตายด้วยพรนั้นๆ และก็เป็นโอกาสที่ภิกษุเหล่านั้นจะได้ทูลถามถึงที่มาของการอวยพรนั้น

    ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาการกล่าวโต้ตอบว่า จงเป็นอยู่เถิด เกิดขึ้นเมื่อไร

    พระศาสดาตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาการโต้ตอบกันว่า จงเป็นอยู่เถิด เกิดขึ้นแต่โบราณกาล

    แล้วทรงนำเรื่องในอดีต ภัคคชาดกแสดงให้ภิกษุเหล่านั้นฟัง

    ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ก็อ่านต่อได้ในอรรถกถาของ ภัคคชาดกที่ ๕

    ท่านผู้ฟังเคยขอพรจากผู้ที่ท่านเคารพนับถือในโอกาสพิเศษบ้างไหม เช่น ในวันเกิด มีไหม

    เพื่อที่จะได้เข้าใจประเพณี หรือธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันอยู่ให้ถูกต้องตรงตามสภาพธรรม ขอกล่าวถึงข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค ๒ จีวรขันธกะ เรื่องนางวิสาขา มิคารมาตา ข้อ ๑๕๓ ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมย์แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับถึงพระนครสาวัตถี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา นางผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า

    ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงพระกรุณา โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ

    ครั้นนางทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๓๑๑ – ๑๓๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 88
    28 ธ.ค. 2564