ไม่เอาอรรถกถา

 
ณัฐวุฒิ
วันที่  13 มิ.ย. 2555
หมายเลข  21251
อ่าน  3,696

ในปัจจุบัน มีพระบางรูปสั่งสอนญาติโยม ด้วยพุทธวจนแท้ แต่ไม่เชื่ออรรถกถาเลย เพราะเชื่อว่า ปัญญาแม้พระสารีบุตรก็ไม่อาจจะเป็นคำสอนได้ อ้างถึงพระพุทธวจนบทหนึ่งซึ่งกล่าวว่า

"สุตตันตะ (ตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้ง) เหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้น มากล่าวอยู่ เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญไปว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน" ดังนี้ จึงทำให้พระรูปนั้นเชื่อว่า คำของสาวกทั้งหลาย แม้พระธรรมเสนาบดี ก็ไม่ควรใส่ใจ เมื่อกล่าวอย่างนี้ ใคร่ขอความเห็นทางวิทยากร ว่า อรรถกถา หมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตั้งใจฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ และตั้งจิตไว้ชอบในการศึกษา ว่า ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้จากการที่พระอริยสาวกทั้งหลายเห็นประโยชน์ของพระธรรมช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยให้คงอยู่อันจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาอย่างแท้จริง นั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด กล่าวได้ว่า พระไตรปิฎกและอรรถกถา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งหมด สำคัญอยู่ที่ว่าผู้นั้นจะศึกษาโดยละเอียดหรือไม่? หรือว่า จะปฏิเสธในทันทีทันใด เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งสะสมมาแตกต่างกัน

หลักแห่งการติดสินว่าเป็นพระธรรมวินัยเป็นคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว พึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของศาสดา

ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาจริงๆ การที่จะปฏิเสธ อรรถกถถา ย่อมเป็นการไม่สมควร เพราะ อรรถกถาส่วนหนึ่งมาจากปกิณณกเทศนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและส่วนหนึ่งก็มาจากพระอรหันต์สาวก มีท่านพระสารีบุตรเป็นต้น ท่านอธิบายไว้เป็นการอธิบายพระบาลีคือพระพุทธพจน์ให้เข้าใจยิ่งขึ้น อันเป็นการอธิบายของพระอริยสาวกผู้ที่ประกอบด้วยปัญญาที่ควรค่าแก่การศึกษาพิจารณาไตร่ตรองเป็นอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นได้ศึกษาโดยละเอียดหรือยัง?

สำหรับพระสูตรที่ปรากฏในคำถามนั้น (อาณีสูตร) ในอรรถกถา ก็ได้ขยายความไว้ว่าสาวกภาษิต ในพระสูตรนี้ เป็นการกล่าวข้อความที่ไม่ใช่พระธรรมวินัย เป็นข้อความที่มีในลัทธิภายนอก ไม่ได้หมายถึงคำกล่าวของพระอริยสาวกซึ่งเป็นคำกล่าวที่กล่าวคล้อยตามพระพุทธพจน์, เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ไปสนใจในถ้อยคำหรือข้อความที่ผู้ไม่เข้าใจพระธรรรมได้กล่าวไว้ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย ซึ่งไม่ใช่คำสอนในทางพระพุทธศาสนา ก็ย่อมเป็นเหตุให้พระธรรมอันตรธาน

ดังข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ว่า

"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดและกล่าวในสมัยใด ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเล่าเรียน ไม่ควรศึกษา ไม่ควรเงี่ยโสตลงสดับ ก็จะเป็นเหตุให้พระธรรมอันตรธาน แต่ว่าถ้าผู้ใดกล่าวพระสูตรที่นักปราชญ์รจนาไว้ เป็นของภายนอกเป็นสาวกภาษิตคือเป็นความเข้าใจของสาวกโดยที่ไม่มีในพระธรรมวินัยและก็ผู้นั้นก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียนควรศึกษาควรเงี่ยโสตลงสดับ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้พระธรรมวินัยอันตรธาน"

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหนสอนเพื่อที่จะให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สอนให้ติดข้อง นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงคำสอนใด ที่สอนให้กระทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ต้องเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก และขัดเกลาละคลายกิเลสเท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ที่มาของอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา

ศาสนาเสื่อมเพราะสนใจในแนวคิดทางโลกมากกว่าพุทธพจน์ [อาณีตสูตร]

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในความเป็นจริง อรรถกถา ก็เป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้านั่นเองครับ เพียงแต่ว่า กล่าวโดยพระสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับรองคำนั้น ก็ชื่อว่า เป็นพระพุทธพจน์แล้ว ดังนั้น อรรถกถาที่อธิบายเพิ่มเติม ก็เป็นคำที่สาวกของพระพุทธเจ้า ไม่ได้แต่งขึ้นใหม่ ดังพระสูตรที่อ้างถึง ที่ มีคำว่าว่า นักกวีแต่งขึ้นใหม่ แต่ อรรถกถา เป็นการอธิบายพระธรรม ตามแนวของพระพุทธเจ้า คือ ตามพระบาลี ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอยู่แล้ว ไม่ได้แต่งให้นอกเหนือจากคำสอนของพระองค์ แต่ที่พระสาวกผู้มีปัญญา ได้อธิบายเป็นอรรถกถา ก็เพื่อความละเอียด เพื่อความเข้าใจของสาธุชนรุ่นหลัง ให้เข้าใจได้ถูกต้อง ไม่เผิน ในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้งสุดประมาณ ยากต่อการเข้าใจกับหมู่สัตว์ผู้มากไปด้วยความไม่รู้ ครับ

ดังนั้น ไม่ใช่ว่า เราจะยึดติดกับพยัญชนะว่า ถ้าพูด หรือ กล่าวคำใดคำหนึ่ง ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎก ก็จะเป็นการสรุปว่า เป็นคำที่แต่งขึ้นทั้งหมด และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่ครับ แต่จะต้องดูอรรถ ความหมายของคำนั้นว่า เป็นไปในแนวทางเดียวกับ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ เช่น พูดว่า ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ก็อาจสำคัญว่า ไม่มีในพระไตรปิฎก เป็นกวีใหม่แต่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก แต่ข้อความนั้น ถ้อยคำนั้น กำลังแสดงอรรถ ความหมายที่สอดคล้องและเป็นไปเช่นเดียวกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในพระไตรปิฎก นั่น คือ การเจริญสติปัฏฐาน ที่รู้ความจริงที่เป็น จิต เจตสิก รูป แม้ไม่ใช้คำว่า จิต เจตสิก รูป แต่ใช้คำว่า สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ก็เป็น อรรถ ความหมายเดียวกัน กับ จิต เจตสิก รูปนั่นเอง เพราะ เป็นการแสดงถึงสิ่งที่มีจริงอยู่ครับ

ดังนั้น การจะปฏิเสธ ถ้อยคำของใคร ผู้ใด นั้น ก้จะต้องศึกษาพระธรรมอย่างละเอียด ให้เข้าใจถูกต้อง และเมื่อเข้าใจพระธรรมแล้ว เมื่อได้ยินคำใด จากผู้ใด ก็ย่อมรู้ถึงคำนั้น คือ ไม่ได้ติดที่พยัญชนะ ว่าจะต้องตรงตามพระไตรปิฎก จึงจะเป็นพระพุทธพจน์ แต่ถ้อยคำนั้น สื่อความหมาย เป็นไปแนวทางเดียวกับพระธรรมหรือไม่ เมื่อความหมายอรรถเป็นไปในแนวทาเงดียวกัน คำนั้น ก็ชื่อว่า คล้อยตามพระพุทธพจน์ เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าด้วย เพราะว่า อาศัย พระพุทธพจน์ ที่ได้ศึกษาเข้าใจ มาอธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจละเอียดเพิ่มขึ้น ครับ อรรถกถา ก็เช่นกัน ที่แต่งขึ้น โดยพระสาวกผู้มีปัญญา ท่านเหล่านั้นก็ยึดหลักพระธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะท่านได้ศึกษาเข้าใจแล้ว จึงอธิบายพระพุทธพจน์เพิ่มเติมให้มีความเข้าใจพระธรรมละเอียดเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ พระสาวกทั้งหลาย หากได้อ่านรายละเอียด ท่านจะกล่าวเสมอว่า ท่านได้อธิบาย แต่งอรรถกถาเพิ่มเติมโดยยึดแนวหลัก คือ พระพุทธพจน์เดิม ไม่ได้แต่งนอกเหนือไปจากนี้ และ เมื่อพระสาวกกล่าวธรรม แล้ว มีคนเลื่อมใส และ ผู้นั้นถามพระสาวกว่า คำนี้เป็นคำของท่านหรือไม่ ท่านก็กล่าวว่า ไม่ใช่คำของท่าน แต่เป็นคำของพระพุทธเจ้า นี่ก็แสดงถึง คำที่กล่าว แม้สาวกกล่าว ก็กล่าวมาจากความเข้าใจของตนเอง ที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ท่านพระอรรกถาจารย์ มีพระสาวกรุ่นหลังก็เช่นเดียวกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 มิ.ย. 2555

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 318

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่านพระอุตตระแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ จริงหรือ

ท่านพระอุตตระถวายพระพรว่า จริงอย่างนั้น มหาบพิตร.

ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำนี้เป็นปฏิภาณของพระคุณเจ้าเอง หรือที่เป็นของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.

อุ. ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจะทำข้ออุปมาให้มหาบพิตรทรงสดับ ซึ่งวิญญูชนบางพวกจะรู้เนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยข้ออุปมา

ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่ไกลบ้านหรือนิคมนัก ชนหมู่มากขนข้าวเปลือกออกจากกองนั้นด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตะกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้างด้วยกอบมือบ้าง

ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลผู้หนึ่งเข้าไปถามชนหมู่ใหญ่นั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายขนข้าวเปลือกนี้มาจากไหน

ดูก่อนมหาบพิตร มหาชนนั้นจะตอบอย่างไร จึงจะตอบได้อย่างนี้ถูกต้อง

ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มหาชนนั้นพึงตอบให้ถูกต้องได้อย่างนี้ว่า พวกเราขนมาจากกองข้าวเปลือกกองใหญ่โน้น.

อุ. ดูก่อนมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนั้น อาตมภาพจึงชักเอาข้าวเปลือกมา ถวายพระพร โดยเทียบเคียงสุภาษิต อันเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ขอถวายพระพร.

ส. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว


เพราะฉะนั้น แทนที่จะปฏิเสธ หรือ ยอมรับสิ่งใดทันที ก็ควรจะศึกษา อรรถความหมายของคำนั้น ถ้อยคำนั้น ว่าถูกต้องตรงตามแนวของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือไม่ เพราะ การพิจารณาใคร่ครวญก่อนตัดสินนั้นเป็นสิ่งที่สมควร

ถ้อยคำใด มี อรรถกถา เป็นต้น ที่ทำให้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หรือ มีโทษ กับพุทธศาสนิกชน ผู้ที่ใคร่จะอบรมปัญญา เข้าใจพระธรรม

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้รู้น้อย
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหนสอนเพื่อที่จะให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ สอนให้ติดข้อง นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงคำสอนใด ที่สอนให้กระทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ต้องเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก และขัดเกลาละคลายกิเลสเท่านั้น

ขอน้อมจิตอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยเศียรเกล้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ณัฐวุฒิ
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

เพราะอรรถกถา คือ สังฆคุณ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
หลานตาจอน
วันที่ 14 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ตั้ม
วันที่ 15 มิ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kinder
วันที่ 18 มิ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lovedhamma
วันที่ 17 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วิริยะ
วันที่ 12 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ประสาน
วันที่ 25 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ms.pimpaka
วันที่ 5 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ