กรณียเมตตสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

 
มศพ.
วันที่  5 ต.ค. 2557
หมายเลข  25601
อ่าน  1,533

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ••

..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

คือ

กรณียเมตตสูตร

จาก...

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๓๙ - หน้าที่ ๓๒๘

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๓๙ - หน้าที่ ๓๒๘

กรณียเมตตสูตร

(ว่าด้วยการเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งปวง)

[๑๐] กิจนั้นใด อันพระอริยะบรรลุบทอันสงบ ทำแล้ว กิจนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ กุลบุตรนั้น พึงเป็นผู้อาจหาญ ตรงและตรงด้วยดี พึงเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจน้อย ประพฤติเบากายและจิต พึงเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตัว เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่ติดในตระกูลทั้งหลาย วิญญูชน ติเตียนชนทั้งหลายอื่นได้ ด้วยกรรมลามก อันใด ก็ไม่พึงประพฤติกรรมอันลามก นั้น พึงเจริญเมตตาไปในหมู่สัตว์ว่า ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง[มีตัณหา] หรือเป็นผู้มั่นคง [ไม่มีตัณหา] ทั้งหมดไม่เหลือเลย เหล่าใดยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ผอมหรืออ้วน เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใดอยู่ในที่ไกล หรือไม่ไกล ที่เกิดแล้ว หรือที่แสวงหาภพเกิด ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มเหงสัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรๆ เขาไม่ว่าในที่ไรๆ เลย ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ และเพราะความคุมแค้น.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยชีวิตฉันใด พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ในโลกทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง เป็นธรรมอันไม่คับแค้น ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู.

ผู้เจริญเมตตานั้น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอน [คือไม่ง่วงนอน]เพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น. ปราชญ์ทั้งหลายเรียกการอยู่นี้ว่า พรหมวิหาร ในพระศาสนานี้ ผู้มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ [สักกายทิฏฐิ] เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ [สัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค]นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออกไปได้ ก็ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์อีก โดยแท้แล.

จบกรณียเมตตสูตร.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 ต.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
กรณียเมตตสูตร
(ว่าด้วยการเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งปวง)

เมตตสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา หรือ เมตตาภาวนา ซึ่งเป็นการมีไมตรีจิตเกื้อกูลปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวง โดยไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ปราศจากความโกรธความขุ่นเคืองใจ และ เมตตา นี้เอง เป็นธรรมที่กำจัดความโกรธ ความขุ่นเคืองใจโดยเฉพาะ เหตุเกิดของเมตตสูตรนี้ คือ พระภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ รูป ไปอยู่จำพรรษา ณ ราวป่าหิมวันต์ แต่ถูกเทวดารบกวนอยู่ตลอดเวลา อยู่ไม่เป็นสุข เกิดความกลัว มีผิวพรรณเศร้าหมองไม่ผ่องใส พระเถระผู้เป็นประธานจึงพาภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงได้ทรงแสดงเมตตสูตร ให้ฟัง เพื่อให้เป็นผู้อยู่ด้วยเมตตาแล้วให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไปยังราวป่านั้นตามเดิม พร้อมกับให้มีการแสดงธรรม สนทนาธรรม และเจริญเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวง ต่อมา พวกเทวดาก็ไม่ได้เบียดเบียนภิกษุทั้งหลายอีก มีการจัดการอารักขาให้อย่างดี เนื่องจากว่าผู้อยู่ด้วยเมตตา ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และ เป็นที่รักของอมนุษย์ และในที่สุด ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สาระสำคัญของพระสูตร นี้ นอกจากจะทรงแสดงเรื่องเมตตาแล้ว ยังทรงแสดงถึงทางดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ซึ่งเป็นสันติบท ด้วยกล่าวคือ ต้องดำเนินตามทางคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจที่ควรทำซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา และประการที่สำคัญผู้ที่จะไปดำเนินไปทางดังกล่าวนั้น ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมประการต่างๆ ด้วย เช่น ต้องเป็นผู้อาจหาญ ตรง ตรงด้วยดีไม่มีมารยา เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง เป็นผู้มีความสันโดษ คือ ยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ มีความประพฤติเบาด้วยการไม่สะสมบริขาร เป็นผู้ไม่คะนองทั้งกาย วาจา และ ใจ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในที่สุดก็จะสามารถบรรลุถึงผลอันสูงสุด คือ อรหัตตผล ได้ ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสาัรวัฏฏ์

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา

แผ่เมตตาให้คนตายได้หรือไม่
เมตตา
ผู้ว่าง่าย กับ ผู้ว่ายาก
อย่างไรจึงถือว่าสันโดษ?
ตรง
ความเป็นผู้ซื่อตรง และ อ่อนโยน
นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง

อรรถกถาเมตตสูตร
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 6 ต.ค. 2557

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
กรกนก
วันที่ 7 ต.ค. 2557

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 7 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tusaneenui
วันที่ 8 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ต.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ