อัปปนาสมาธิ รูปฌาน และอรูปฌาน เป็นสัมมาสมาธิหรือไม่

 
suthon
วันที่  28 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10789
อ่าน  4,902

ผมสงสัยว่าพระอาจารย์ทั้ง 2 ท่านของเจ้าชายสิทธัตถะ สอนการทำสมาธิจนได้ฌานจัดได้ว่าเป็นสัมมาสมาธิที่มีสภาพธรรมไม่ครบองค์มรรคทั้ง 8 หรือไม่ หรือเป็นมิจฉาสมาธิครับ และสัมมาสมาธิแตกต่างจากมิจฉาสมาธิอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิตในทางที่ถูก (เป็นกุศล) สัมมาสมาธิมีหลายระดับ ขณะที่จิตเป็นกุศลขณะนั้นก็มีสมาธิ ขณิกสมาธิ ก็เป็นสัมมาสมาธิ อุปจาระและอัปปนาสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว สัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็นขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะ แต่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมาสมาธิโดยตรงอยู่แล้ว แม้อุปจาระและอัปปนาสมาธิของสมถภาวนาที่เป็นบาทของวิปัสสนาก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่โดยทั่วไปท่านอธิบายสัมมาสมาธิว่า หมายถึงเอกัคคตา ดังข้อความดังนี้

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑หน้าที่ 360

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบสมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าสัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 29 ธ.ค. 2551

สมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) ที่เกิดกับกุศลทุกประการใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ก็ได้การเจริญความสงบของจิตจนได้อัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตของอุทกดาบสและอาฬารดาบสก็เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ แต่ว่ายังไม่ใช่การเจริญสัมมาสมาธิที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ไม่เป็นสัมมาสมาธิที่เป็นอริยมรรค จึงดับกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่ได้ ผลจากการเจริญความสงบของจิตจนถึงขั้นอรูปฌาน แล้วฌานไม่เสื่อมก่อนตายนั้น ทำให้ชาติต่อไปปฏิสนธิจิตเกิดในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่มีแต่นามธรรม ไม่มีรูปธรรม และมีอายุยืนยาวมาก แต่ดับกิเลสไม่ได้ เมื่อสิ้นอายุขัย ก็จะต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือต้องกลับมาเกิดในกามภูมิ แม้เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในครั้งนั้น ก็ทรงมีพระปัญญามาก ทรงศึกษาตามจนสามารถได้ฌานจิตขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เทียบเท่ากับอาจารย์ของพระองค์ แม้กระนั้น ก็ยังทรงมองเห็นว่า นี้ไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส ต่อเมื่อได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง จนบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจึงได้ทรงค้นพบหนทางด้วยพระปัญญาของพระองค์ว่า "อริยสัจจ์ ๔" นี้เป็นธรรมเพื่อการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์


ความต่างของสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ก็คือ สัมมาสมาธิ จะไม่เกิดกับอกุศลจิตแน่นอน ส่วน มิจฉาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สมาธิคือ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้นสมาธิจึงเป็นได้ทั้งกุศลหรืออกุศล ซึ่งโดยทั่วไป สัมมาสมาธิจะใช้เกี่ยวกับการอบรมปัญญาที่เรียกว่า ภาวนาซึ่งมีทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา การอบรมสมถภาวนาและวิปัสสนาต้องประกอบด้วยปัญญา ดังนั้นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เกิดกับปัญญาจึงเป็นสัมมาสมาธิหากการอบรมสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นไปในทางผิดก็เป็นมิจฉาสมาธิเพราะเกิดร่วมกับอกุศล เกิดร่วมด้วยกับความไม่รู้ ดังนั้นในกรณีของอุทกดาบส อาฬารดาบส (อาจารย์พระโพธิสัตว์) ที่สอนสมถภาวนาย่อมเป็นสัมมาสมาธิเพราะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาแต่ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องในการดับกิเลส สมถภาวนาที่อาจารย์ของพระโพธิสัตว์ (อุทกดาบสและอาฬารดาบส) สอนนั้นจึงเป็นมิจฉาปฏิปทาคือหนทางผิดครับ แม้จะเป็นสัมมาสมาธิก็ตามเพราะไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส

ขออนุโมทนา

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 1 ม.ค. 2552


ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pornpaon
วันที่ 6 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 6 ม.ค. 2552

สมถภาวนา เป็นความสงบของจิตที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ชั่วคราว แต่ก็แค่ข่มไว้ด้วยกำลังของฌาน และถ้าฌานไม่เสื่อมก็ไปเกิดในพรหมโลก แต่ไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่การเจริญอริยมรรคมีองค์แปด อริยมรรคแปด เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์คือการดับกิเลสหมดบรรลุเป็นพระอรหันต์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 8 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ