ศีลข้อกาเม อะไรเป็นตัวตัดสิน กฎหมายหรือศีลธรรม

 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่  27 มิ.ย. 2554
หมายเลข  18631
อ่าน  9,950

๑. ชายหญิงแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย (อาจจะเป็นเพราะอยู่ในยุคสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยทะเบียนสมรส หรือมีกฎหมายแล้วแต่ไม่ประสงค์จะจดก็ตาม) ต่อมาชายหญิงคู่นี้หย่ากัน แยกกันอยู่ คือไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากันอีกต่อไป ญาติมิตรและสังคมก็รับรู้กันทั่วไป

ถามว่า ถ้าชายหญิงคู่นี้ไปมีคู่ครองคนใหม่ จะผิดศีลข้อกาเม หรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

๒. ชายหญิงแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยา และได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ต่อมาชายหญิงคู่นี้หย่ากัน แยกกันอยู่ คือไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากันอีกต่อไป ญาติมิตรและสังคมก็รับรู้กันทั่วไป แต่ทั้งคู่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย

ถามว่า ถ้าชายหญิงคู่นี้ไปมีคู่ครองคนใหม่ จะผิดศีลข้อกาเม หรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

ขอขอบพระคุณที่จะกรุณาให้ความรู้ที่ถูกต้องครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

๑. ชายหญิงแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย (อาจจะเป็นเพราะอยู่ในยุคสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยทะเบียนสมรส หรือมีกฎหมายแล้วแต่ไม่ประสงค์จะจดก็ตาม) ต่อมาชายหญิงคู่นี้หย่ากัน แยกกันอยู่ คือไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากันอีกต่อไป ญาติมิตรและสังคมก็รับรู้กันทั่วไป

ถามว่า ถ้าชายหญิงคู่นี้ไปมีคู่ครองคนใหม่ จะผิดศีลข้อกาเม หรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

เป็นที่ตกลงและรู้กันแล้วว่าเลิกกัน ดังนั้น หากฝ่ายหญิงไปมีชายอื่นไม่ผิดศีลข้อ ๓ แน่นอนครับ เพราะเลิกกับฝ่ายชายแล้ว แต่ฝ่ายชายเมื่อเลิกกับฝ่ายหญิงไปแล้ว แต่เมื่อไปมีคู่ครองคนใหม่ ก็จะต้องถูกต้องตามประเพณีได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองของฝ่ายหญิงก่อน จึงจะไม่ผิดศีลข้อ ๓ หากอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

๒. ชายหญิงแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยา และได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ต่อมาชายหญิงคู่นี้หย่ากัน แยกกันอยู่ คือไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากันอีกต่อไป ญาติมิตรและสังคมก็รับรู้กันทั่วไป แต่ทั้งคู่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย

ถามว่า ถ้าชายหญิงคู่นี้ไปมีคู่ครองคนใหม่ จะผิดศีลข้อกาเม หรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

โดยนัยเดียวกันครับ เป็นอันรู้และข้าใจกันแล้วว่าเลิกกัน อันเป็นความตกลงกันของฝ่ายชายและหญิงแล้ว แม้จะไม่ได้หย่าตามกฎหมาย แต่มีเจตนาเลิกกันแล้ว ตกลงกันว่าเลิกกันแล้ว ดังนั้น สำคัญที่เจตนา ไม่ใช่เพียงตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญครับ เพราะฉะนั้น หากฝ่ายหญิงไปมีชายอื่น ไม่ผิดศีลข้อ ๓ เพราะเป็นอันเลิกกับฝ่ายชายแล้ว ส่วนฝ่ายชายเมื่อไปมีคู่ครองคนใหม่ ก็จะต้องถูกต้องตามประเพณีได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองของฝ่ายหญิงก่อน จึงจะไม่ผิดศีลข้อ ๓ หากอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

โดยนัยตรงกันข้ามในเรื่องนี้ แม้หากสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกัน ภายหลังต้องหย่ากัน เพราะต้องการหนีเรื่องหนี้ การที่คู่สมรสอีกคนต้องติดหนี้ไปด้วย จึงหย่ากันตามกฎหมาย เพราะเหตุหลีกเลี่ยงเรื่องธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงก็ตกลง รู้กันว่ายังเป็นสามีภรรยากันอยู่ ทั้งฝ่ายชายและหญิงก็รู้กันว่าเป็นคู่ครองกันอยู่ ไม่ได้ตกลงเลิกกันด้วยความตกลงกันจริงๆ และก็ยังอยู่ด้วยกัน หากฝ่ายหญิงไปมีคู่ครองคนอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ผิดศีล ข้อ ๓ ส่วนฝ่ายชายถ้าไปมีคู่ครองคนอื่น โดยที่ไม่ทำถูกต้อง ขออนุญาตจากผู้ปกครองฝ่ายหญิงอื่น ก็ผิดศีล ข้อ ๓ ครับ

ดังนั้น ตัวบทกฎหมายก็ประเด็นหนึ่ง ในการับรอง แต่สำคัญที่เจตนา การตกลงอยู่ร่วมกันด้วยเป็นสำคัญครับ การเลิกกัน ก็เช่นกันครับ

ขออนุโมทนาเชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

เกณฑ์หรือมาตราฐานในการวัดการผิดศีลข้อ ๓

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของศีล เป็นเรื่องของความประพฤติเป็นไปทางกาย วาจา ซึ่งจะต้องมาจากจิตใจ การพิจารณาความถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จะต้องเป็นผู้มีความละเอียดจริงๆ เมื่อมีการประพฤติตนตามพระธรรมวินัย มีการสำรวมระวังตามสิกขาบทข้อต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว ก็แทบจะไม่ต้องกล่าวถึงกฎหมายบ้านเมืองเลย ประการสำคัญที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม คือ การกระทำบางอย่าง ถ้าจะว่าตามกฎหมายแล้ว ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าปลา เป็นต้น ไม่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง แต่ผิดศีล ข้อที่ ๑ นี้คือความละเอียด เป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้นั้น เพราะเป็นอกุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า, ศีล เป็นเจตนาที่จะละเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ ด้วยใจจริง

สำหรับประเด็นศีลข้อการประพฤติผิดในกามนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และจะต้องพิจารณาองค์ประกอบของการล่วงศีลข้อดังกล่าวนี้ด้วย การที่จะล่วงศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม) นั้น ต้องเป็นเพราะมีเจตนาก้าวล่วงและมีการประพฤติผิด คือ ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นผู้ล่วงศีล ต้องมีการประพฤติผิดในหญิงที่มีสามี หรือหญิงที่มีผู้ปกครองคอยรักษา

ส่วนในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ล่วงศีลต้องมีการประพฤติผิด คือ นอกใจสามีของตน ไปมีชายคนอื่นในขณะที่ตนเองยังมีสามีอยู่ แต่ถ้ามีการตกลงกันว่าจะเลิกกันจริงโดยไม่เกี่ยวข้องกันอีก ถ้าฝ่ายชายไปมีหญิงอื่นด้วยการกระทำที่ถูกต้อง มีการสู่ขอจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง จะเป็นผู้หญิงกี่คนก็ตาม ย่อมไม่ผิดศีลข้อดังกล่าวนี้ [ถ้าไม่กระทำให้ถูกต้อง อย่างไรก็ต้องผิด] ถึงแม้จะยังไม่เลิกกัน ถ้าฝ่ายชายไปมีหญิงอื่น ด้วยการกระทำที่ถูกต้องด้วยการสู่ขอจากบิดามารดา ฝ่ายชายก็ไม่ผิดศีลข้อนี้ แต่ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นภรรยาจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ เนื่องจากว่าสามีเป็นเจ้าของผัสสะของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดจริงๆ และ ที่ดีที่สุด คือไม่ล่วงศีล ไม่ประพฤติทุจริตกรรม พึงหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลัง

ดังข้อความตอนหนึ่งใน ชนสันธชาดก ที่พระโพธิสัตว์ได้แสดงไว้ ว่า

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ ๑๕๙

[๑๖๕๔] ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนมีอยู่เป็นอันมาก ไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนครับ เรื่องจริงก็คือ ฝ่ายชายประสงค์จะแต่งงานกับหญิงที่เลิกร้างกับสามีมานานแล้ว (โดยพฤตินัย) ติดตรงที่ฝ่ายหญิงยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับสามี เขาก็กลัวจะผิดศีลธรรม (ก็น่าอนุโมทนาอยู่) จึงรั้งรออยู่

มีข้อคลางแคลงอยู่อีกนิดเดียว คือ ถ้าคนคู่นี้แต่งงานกัน หรืออยู่กินกันฉันสามีภรรยาแล้ว ชายผู้เป็นสามีเดิมกลับมาอ้างสิทธิตามกฎหมายว่า เขายังเป็นสามีอยู่ คราวนี้เรื่องจะเป็นอย่างไรกันละครับ ก็คงจะต้องไปว่ากันในแง่กฎหมายอีก แต่กฎหมายจะรับรองหรือรับรู้ไปถึงเจตนาที่ได้เลิกร้างกันไปตั้งนานแล้วนั้นหรือเปล่าละครับ ตรงจุดนี้ กฎหมายกับศีลธรรมน่าจะต้องพัลวันกันอยู่สักหน่อย กระผมยังคิดไม่ออกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

กฎหมายคือข้อบังคับของสังคมที่ตั้งมาเพื่อรักษาระเบียบวินัยของคนในสังคม ดังนั้น กฎหมายก็เปลี่ยนแปลงไปตาม สังคม ค่านิยม วัฒนธรรมของแต่ละสังคม แต่ละประเทศ นั่นแสดงถึงว่ายังไม่ใช่สัจจะความจริง เพราะเป็นสิ่งที่คิดโดยปุถุชน ไม่ใช่ด้วยปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงถูกผิด เปลี่ยนแปลงกันไปตามกฎหมายของแต่ละสังคม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมว่า บางอย่างที่ชาวโลกกล่าวกันมาก ถือว่าดี แต่ไม่จริง ไม่เป็นสัจจะก็ได้ บางอย่าง ชนเป็นอันมากก็กล่าวว่าดี สิ่งนั้นก็ดีเช่นกัน ตรงกับที่พระองค์ทรงแสดง แม้บางอย่างชาวโลกกล่าวไม่ดี ไม่ถูกต้อง แต่พระองค์ก็กล่าวว่าดี ถูกต้องก็มี แม้บางอย่างชนเป็นอันมากกล่าวว่าไม่ดี แม้เราก็กล่าวว่าไม่ดีเช่นกัน จะเห็นนะครับว่า กฎหมายอาจจะบอกว่าอย่างนี้เป็นอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ ที่เป็นธรรม ที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ความถูกต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสังคมใด จะบัญญัติว่าอย่างไร สิ่งนั้นก็ต้องถูกต้องอย่างนั้น และก็ถ้าสัจจะว่าผิด ก็ต้องเป็นตามธรรมไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน ไม่ว่ากฎหมายจะว่าอย่างไรก็ตามครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

ในกรณีที่ถาม คือ ถ้าคนคู่นี้แต่งงานกัน หรืออยู่กินกันฉันสามีภรรยาแล้ว ชายผู้เป็นสามีเดิมกลับมาอ้างสิทธิตามกฎหมายว่า เขายังเป็นสามีอยู่ คราวนี้เรื่องจะเป็นอย่างไรกันละครับ ก็คงจะต้องไปว่ากันในแง่กฎหมายอีก แต่กฎหมายจะรับรองหรือรับรู้ไปถึงเจตนาที่ได้เลิกร้างกันไปตั้งนานแล้วนั้นหรือเปล่าละครับ ตรงจุดนี้ กฎหมายกับศีลธรรมน่าจะต้องพัลวันกันอยู่สักหน่อย กระผมยังคิดไม่ออกครับ


ตามที่กล่าวมาในเหตุผลข้างต้นครับ แน่นอนครับว่าเลิกโดยตกลงกันแล้ว เท่ากับว่ามีเจตนาเลิกกัน ก็เท่ากับว่าไม่ได้เป็นสามีภรรยากันแล้วโดยทางธรรมและสัจจะความจริง ดังนั้น หากหญิงนั้นไปแต่งงานกับชายอื่นโดยถูกประเพณี ฝ่ายหญิงก็ไม่ล่วงศีลข้อ ๓ และฝ่ายชายก็ไม่ล่วงศีลข้อ ๓ ครับ

แต่ว่าในหลักกฎหมายของไทยแล้ว ผู้รู้ทางกฎหมายได้กล่าวว่า หากสามีเดิมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนอย่ากัน มาเรียกร้องสิทธิ์ สามารถฟ้องได้ โดยเรียกค่าทดแทน เพราะถือว่ามายุ่งกับภรรยาของตนเพราะไม่ได้จดทะเบียนอย่า แต่ไม่สามารถห้ามให้มีการยุ่งเกี่ยวกันได้ครับ แต่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เรียกว่าค่าทดแทนได้ครับ กฎหมายเป็นอย่างนี้ แต่ในทางธรรมไม่ผิด ถ้าทำถูกต้องตามประเพณี และสามีภรรยาเดิมก็เลิกรากันไปแล้วครับ

ดังนั้น สัจจะก็ส่วนหนึ่ง กฎหมายก็ส่วนหนึ่งครับ กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้เพราะไม่ใช่สัจจะ และไม่ใช่เกณฑ์ความถูกต้องทั้งหมด แต่พระธรรมแสดงตามความเป็นจริงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 28 มิ.ย. 2554

กระผมคิดว่าได้คำแนะนำที่จะทำให้เขาเข้าใจด้วย และสบายใจด้วยแล้วละครับ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 1 ก.ค. 2554

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ค่ะ ...

หญิง ๒๐ จำพวก ชื่อว่า อคมนียฐาน [ธรรมสังคณี]

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kullawat
วันที่ 4 มิ.ย. 2565

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ