อินเดีย...ที่พักใจ ๙

 
kanchana.c
วันที่  19 พ.ย. 2554
หมายเลข  20056
อ่าน  2,467

กุสินารา

ความจริงการไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียทั้ง ๔ แห่งนั้น ก็เป็นสถานที่เดิมทุก

ครั้ง แต่การเดินทางแต่ละครั้งนั้นไม่เหมือนกัน ทั้งเส้นทางการเดินทาง ทั้งถนนหนทาง

ที่เปลี่ยนไป ผู้คนที่ร่วมเดินทาง สิ่งต่างๆ ที่พบเห็นระหว่างทาง รวมทั้งความคิดนึกของ

ตัวเองที่มีมุมมองแตกต่างไปด้วย

การไปนมัสการสังเวชนียสถานในครั้งนี้ คิดว่าจะไม่เล่าประวัติของสถานที่ต่างๆ

เพราะได้ค้นคว้าและเขียนไว้ละเอียดใน “อินเดีย...อีกแล้ว” (อินเดีย...แดนพุทธภูมิ) แต่

ก็มีเรื่องราวน่าสนใจจากการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ที่อยากเล่าให้ฟังค่ะ

จากโรงแรม Pathik สาวัตถี เราเดินทางไปกุสินารา บนถนนที่คงเพิ่งสร้างเสร็จ

ใหม่ๆ เพราะดูสะอาดเอี่ยม ขนาดกว้างใหญ่ ถ้าจำไม่ผิดคิดว่า ๖ เลน มีเกาะกลางถนน

แบ่งช่องจราจรชัดเจน แต่แม้กระนั้นรถก็ยังวิ่งสวนทางในช่องทางเดียวกัน รถวิ่งทำ

ความเร็วได้มากกว่าเดิม บางทีก็วิ่งมาด้วยความเร็วสูงเหมือนจะชนกัน พอใกล้ๆ ต่างก็

บีบแตรดังลั่นพร้อมกับเบี่ยงหลบกันไปคนละทาง คนนั่งข้างหน้าต้องใช้เท้าช่วยเบรค

กันตัวโก่ง ตอนแรกคิดว่า เขาทำไว้ให้วิ่งสวนทางกันได้ทั้ง ๒ ฝั่ง เพราะว่าไม่มีทางให้

กลับรถ แต่รถแล่นไปสักพักก็เห็นเครื่องหมายจราจรให้กลับรถอย่างที่เข้าใจว่า รถใน

อินเดียไม่สนใจกฎจราจร ทางไหนรถสามารถแล่นไปได้ นั่นคือกฎจราจร นั้นถูกต้อง

แล้ว คิดว่าสิ่งที่น่ากลัวในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานครั้งต่อๆ ไป คือ

อุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะถนนดีขึ้น รถจึงวิ่งเร็วมากขึ้นด้วย

ถนนตัดผ่านทุ่งข้าวเขียวขจีกว้างสุดลูกหูลูกตา ลมพัดต้นข้าวพริ้วสวยเหมือนคลื่น

น้อยๆ ในทะเล บางช่วงทำรั้วกั้นไม่ให้คนและสัตว์เลี้ยงเข้ามาในถนน แต่บางช่วงก็มี

บ้านเรือนปลูกอยู่ติดถนน จึงเห็นเด็กๆ ถีบจักรยานเล่น มีวัวมานอนบนถนน สาวแขกใน

ชุดส่าหรีสีสวยเทินหม้อน้ำบนศีรษะเดินนวยนาดข้ามถนน ไม่สนใจกับเสียงแตรรถยนต์

ที่วิ่งมาด้วยความเร็ว จึงไม่ค่อยแปลกใจนักเมื่อเห็นชายคนหนึ่งลากเด็กผู้ชายที่นอนแน่

นิ่งให้ออกไปจากพื้นถนน (คิดว่าคงตายแล้ว) โดยไม่มีรถคู่กรณีแล้วก็ไม่มีคนมุงดูด้วยคง

เป็นเหตุการณ์ปกติประจำวันที่จะมีเด็กถูกรถชนจนไม่น่าสนใจสำหรับคนอื่นๆ อีกต่อไป

เรามาถึงกุสินาราในตอนเที่ยง เข้าพักและรับประทานอาหารเที่ยงที่โรงแรมนิกโก้

โลตัสเจ้าประจำที่มาพักเกือบทุกครั้งที่มากุสินารา แม้จะเป็นโรงแรมเดิม ห้องที่พักก็

เปลี่ยนไปอยู่ดี แต่ที่ดูเหมือนเดิมอย่างมาก คือ คณะเด็กขอทานที่มานั่งเข้าแถวเป็น

ระเบียบคอยอยู่แล้วพร้อมทั้งเครื่องดนตรีและเสียงสวดมนต์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ฯ

ประกอบการขอ คนที่เพิ่งเห็นครั้งแรกก็จะเกิดจิตเมตตาเอ็นดูให้ทานกันทุกคน แต่คน

ไปหลายครั้งอย่างเรา ชินตาเสียแล้ว จิตก็เลยทำหน้าที่ที่เคยชินคือตระหนี่ หวงแหน

ไม่ยอมให้เช่นเคย แม้จะระลึกได้ทีหลังถึงสภาพจิตที่คับแคบนั้นว่า ไม่ได้เบาสบาย

เป็นสุขเลยก็ตาม

ได้ไปกราบพระพุทธรูปปางปรินิพพานในวิหารปรินิพพานแล้ว ก็ทำพิธีห่มผ้าพระ

พุทธรูป แล้วเวียนเทียนประทักษิณรอบพระเจดีย์ที่เป็นสถานที่ที่พระอรหันตสัมมา

สัมพุทธเจ้าทรงดับนามขันธ์ทั้ง ๔ หมดไม่เกิดอีกเลย เหลือไว้แต่เพียงพระคุณอัน

ประเสริฐ คือ พระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ เพื่อให้พุทธ

บริษัทถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดไป ตราบใดที่ความเข้าใจพระธรรมที่ทรงมอบให้เป็น

มรดกแก่พวกเรานั้นยังไม่เสื่อมสูญไปจากโลกนี้

ต่อจากนั้นก็ไปที่มกุฎพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เวียนเทียน

ประทักษิณระลึกถึงสถานที่ดับรูปขันธ์ของพระองค์เหลือไว้แต่เพียงพระบรมสารีริกธาตุ

ที่ครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ ๒,๖๐๐ ปี ได้รวมกันเป็นพระวรกายอันประกอบด้วยมหาปุริสสลัก

ษณะทั้ง ๓๒ประการ ทรงใช้พระวรกายนี้กระทำพุทธกิจต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา

เพื่อทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์แก่ผู้ที่สะสมความเข้าใจที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ทั้งผู้

มาเฝ้าในพระวิหารต่างๆ ที่ทรงประทับอยู่ หรือเสด็จดำเนินไปโปรดแสดงธรรมตาม

สถานที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล แม้จะมีผู้ฟังเพียงคนเดียวก็ตาม

จะเห็นว่าพุทธกิจหลักของพระองค์มีอย่างเดียว คือ ทรงแสดงธรรมอันลึกซึ้งที่ตรัสรู้

ได้ยาก ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป แก่ผู้ที่ได้สะสมบารมีมาแล้ว

คือสะสมความเข้าใจธรรมมาแล้วอย่างมาก ให้ประจักษ์แจ้งตามที่พระองค์ทรงประจักษ์

แล้วเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงอุ่นใจได้ว่า ถ้าได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ คือ สะสม

ความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาที่บารมีนั้นเต็มเปี่ยมก็จะได้ฟังธรรมจาก

ท่านผู้รู้ให้ได้พิจารณาจนเกิดปัญญาประจักษ์แจ้งเอง

มาบัดนี้เหลือแต่เพียงพระบรมสารีริกธาตุให้พวกเราได้กราบไหว้บูชาแทนพระองค์

ถ้ามีความเข้าใจพระธรรมที่ทรงมอบให้เป็นมรดกมากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้จักพระองค์มากขึ้น

ตามความเข้าใจนั้น จนกระทั่งถึงเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อนั้นก็จะเห็นพระองค์ อย่าง

ที่ทรงตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต”

ในตอนค่ำได้พากันไปทำบุญถวายผ้าป่าที่วัดไทยกุสินารา เฉลิมราชย์ ซึ่งอยู่ติดกับ

โรงแรม และถวายเงินบำรุงสถานพยาบาลที่วัดสร้างขึ้นเพื่อรักษาฟรีให้ชาวอินเดีย ใน

วันนี้วัดไทยก็เปลี่ยนไป เพราะกำลังซ่อมแซมอุโบสถเพื่อต้อนรับคณะบุคคลสำคัญแต่

ยังเปิดไฟให้พวกเราก็ได้เห็นความสวยงามของพระเจดีย์ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรม

แบบไทย พระเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่

หัวพระราชทาน เมื่อกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ก็พากันเดินกลับโรงแรม

ท่ามกลางความมืดแบบชนบทของเมืองกุสินารา แม้กระนั้นก็ยังมีร้านขายของเล็กๆ ข้าง

โรงแรมให้พวกขา shop ได้ซื้อของอีกด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา ที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านกัน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 19 พ.ย. 2554

...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดง (อ.กาญจนา) ด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 19 พ.ย. 2554
...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดง (อ.กาญจนา) ด้วยค่ะ...
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 19 พ.ย. 2554
...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนาด้วยครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 พ.ย. 2554

...กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนาด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Jesse
วันที่ 19 พ.ย. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์กาญจนาสำหรับเรื่องราวอันมีค่าในการไปสักการะสังเวชนียสถาน

ในทุกครั้ง ให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ไป ได้เกิดกุศลจิตโสมนัสยินดีไปด้วยและขออนุโมทนา

ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Boonyavee
วันที่ 20 พ.ย. 2554



คณะสหายธรรมได้เดินทางออกจากเมืองสาวัตถีสู่เมืองกุสินาราตั้งแต่เช้าตรู่ ระหว่างทางจะเห็นเด็กนักเรียนชาวอินเดียในชุดนักเรียนแบบที่แตกต่างออกไปตามแต่ละพื้นที่ เดินทางด้วยพาหนะหรือทางเท้ามุ่งหน้าไปยังสถานศึกษาค่ะ เดินทางมาสักพักก็สะดุดตากับป้ายโฆษณาซึ่งไม่ได้มีการขึ้นป้ายใหญ่โตเหมือนที่เมืองไทยนะค่ะ แต่จะใช้วิธีการวาดลงกำแพงบ้านหรือร้านค้านี้แหละค่ะ จากนั้นจึงได้เก็บภาพถนนหนทาง และทุ่งข้าวเขียวขจีดังที่อาจารย์แดงได้เล่าถึงบรรยากาศไว้ใน อินเดีย ...ที่พักใจ 9 ค่ะ

ระหว่างเดินทาง หลายครั้งที่รสบัสของคณะสหายธรรมต้องจอดรอนานมาก เพื่อรอให้ขบวนรถไฟผ่านค่ะ ซึ่งบริเวณใกล้สถานีรถไฟจะมีบ้านเรือนและอาคารหนาแน่นมากค่ะ เดินจนถึงช่วงบ่าย คณะสหายธรรมจึงถึงที่พักที่โรงแรม Nikko Hotel ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Boonyavee
วันที่ 20 พ.ย. 2554

หลังจากรับประทานอาหาร คณะสหายธรรมจึงได้เดินทางไปกราบสักการะและทำพิธีห่มผ้าพระพุทธรูปปางนิพพานค่ะ

 จากนั้นจึงไปกราบสักการะที่มกุฏพันธนเจดีย์และร่วมเดินเวียนเทียนประทักษิณ ซึ่งอาจารย์สงบและอาจารย์แดง ได้กรุณาเล่าพุทธประวัติประกอบ ทำให้คณะสหายธรรมได้มีความศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นค่ะ ขอกราบอนุโมทนาค่ะ

ตอนพลบค่ำทางคณะสหายธรรมได้เดินทางไปถวายผ้าป่าที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ พร้อมทั้งถวายปัจจัยและยารักษาโรค ก่อนเดินทางกลับโรงแรมขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของคณะสหายธรรมทุกท่านค่ะ



 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 20 พ.ย. 2554

สำนวนเขียนอ่านสนุกได้สาระ..แม้ผู้เขียนออกตัวว่าสถานที่่เดิมแต่ผู้อ่านไม่รู้สึกคะ..ขออนุโมทนาคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ