สงสัยคำว่า นิพพาน กับคำว่า ปรินิพพาน แตกต่างกันอย่างไรคับ

 
emancipation
วันที่  11 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20148
อ่าน  31,928

ตามความเข้าใจของผม ใช้เหมือนกันครับ แต่เพื่อนที่รู้จักบอกว่านิพพานใช้กับพระอรหันต์ทั่วไป หรือพระอัครสาวก แต่ถ้าใช่คำว่า ปรินิพพาน ใช้เฉพาะเจาะจงกับ พระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าพระอัครสาวกใช้คำว่าปรินิพพานดูไม่เหมาะสม ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วใช้ได้เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรครับ รบกวนท่านวิทยากรช่วยกรุณาให้คำอธิบายด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ในคำที่กล่าวถึงว่าหมายถึงอะไร จากคำที่กล่าวว่า คำว่า นิพพาน จะใช้กับพระอรหันตสาวกหรือพระอัครสาวกเท่านั้น ส่วนจะใช้กับพระพุทธเจ้าต้องใช้คำว่าปรินิพพานนั้น เข้าใจว่า ผู้ถามมุ่งถึงการตายของพระอรหันต์ ก็ควรจะได้พิจารณาไปตามลำดับ ดังนี้

คำว่า ปรินิพพาน แปลว่า การดับโดยรอบ ดับอย่างหมดสิ้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการตายของพระอรหันต์เพียงอย่างเดียว มีรายละเอียดถึง ๓ อย่างด้วยกัน คือ

๑. กิเลสปรินิพพาน แปลว่า การดับโดยรอบซึ่งกิเลส การดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งหมายถึงความเป็นพระอรหันต์ที่สามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีเหลือ

๒. ขันธปรินิพพาน แปลว่า การดับโดยรอบซึ่งขันธ์ ไม่มีเหตุที่จะทำให้ขันธ์ใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งหมายถึงการตายของพระอรหันต์ทั้งหมด

๓. ธาตุปรินิพพาน แปลว่า การดับไปโดยรอบแห่งพระธาตุ ซึ่งหมายถึง การอันตรธานไปแห่งพระธาตุ อันเป็นกาลที่สิ้นสุดแห่งพระพุทธศาสนา (ซึ่งจักมีในอนาคต)

ดังนั้น เวลาพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านปรินิพพาน ก็ใช้คำว่า ปรินิพพาน เหมือนกันทั้งหมด เช่น พระสารีบุตรปรินิพพาน พระมหาโมคคัลลานะปรินิพพาน เป็นต้น แต่สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถึงแม้ใช้คำเดียวกันก็จริง แต่เวลาแปลก็ให้ความเคารพกับพระองค์อย่างสูงสุด ที่ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็น เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือทรงดับขันธปรินิพพาน ดังข้อความที่ได้ยกมาประกอบ ดังนี้ครับ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 655

นาค (ผู้ประเสริฐ) คือ พระพุทธเจ้า ทรงดับสนิทด้วยการดับกิเลส ณ โพธิบัลลังก์แล้ว จักเสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ระหว่างสาละทั้งคู่.

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 445

ก็บรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น พระธรรมเสนาบดี ปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนสิบสอง จากนั้นล่วงมาครึ่งเดือน ในวันอุโบสถแห่งกาฬปักข์กึ่งเดือนนั้น พระมหาโมคคัลลานะจึงปรินิพพาน.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พระอรหันต์ปรินิพพาน

สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นาวาเอกทองย้อย
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

กระผมขอเสนอแหล่งข้อมูลอีกทางหนึ่ง เพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจครับ

ปรินิพพาน/นิพพาน

1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

ปรินิพพาน

[ปะรินิบพาน] น. การดับรอบ, การดับสนิท, การดับโดยไม่เหลือ; เรียกอาการตายของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์. (ป.; ส. ปรินิรฺวาณ) .

นิพพาน

[นิบพาน] น. ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์.ก. ดับกิเลสและกองทุกข์, ตาย (ใช้แก่พระอรหันต์) . (ป.; ส. นิรฺวาณ) , โบราณใช้ว่า นิรพาณ ก็มี. (จารึกสยาม) .

2. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปรินิพพาน

การดับรอบ การดับสนิท

1. ดับกิเลสและทุกข์สิ้นเชิง, บรรลุอรหัตตผล (ได้แก่ กิเลสปรินิพพาน)

2. ตาย (ได้แก่ ขันธปรินิพพาน, ใช้แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
ในภาษาไทย บางทีแยก ให้ใช้แก่พระพุทธเจ้าว่า ปรินิพพาน และให้ใช้แก่พระอรหันต์ทั่วไปว่า นิพพาน แต่ในภาษาบาลี ไม่มีการแยกเช่นนั้น ดู นิพพาน

นิพพาน

การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา; ดูนิพพานธาตุ

นิพพานธาตุ

ภาวะแห่งนิพพาน; นิพพาน หรือนิพพานธาตุ ๒ คือ ๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ

3. พจนานุกรมศัพท์บาลี (BUDSIR VI ของมหาวิทยาลัยมหิดล)

ปรินิพฺพาน (นปุงสกลิงค์) การดับโดยไม่มีอะไรเหลือ, การดับสนิท.

นิพฺพาน (นปุงสกลิงค์) การดับกิเลสและกองทุกข์เป็นโลกุตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ว่าโดยภาวะแห่งนิพพาน (นิพพานธาตุ) มี ๒ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ ๑ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจครับว่า พระนิพพาน คือสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือไม่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งพระนิพพานแบ่งเป็นสองอย่าง คือ

สอุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน

สอุปาทิเสสนิพพาน คือ พระอรหันต์ที่ประจักษ์พระนิพพานและถึงการดับกิเลส ดังนั้น ทั้งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระสาวกที่เป็นพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ใช้คำว่า นิพพาน ทั้งสิ้น แต่เป็นนิพพานที่ดับกิเลสหมดแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ครับ แต่สำหรับพระนิพพานนี้ ยังไม่ใช่ปรินิพพาน คือการดับรอบสนิทซึ่งสภาพธรรมทุกอย่าง

อนุปาทิเสสนิพพาน คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก ผู้เป็นพระอรหันต์ดับกิเลสหมดแล้วสิ้นชีวิต เมื่อจุติจิตเกิด ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ของสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น จึงชื่อว่าดับรอบในสภาพธรรมทุกอย่าง จึงเรียกว่าปรินิพพาน พระอรหันต์ผู้ที่เป็นสาวก เมื่อจุติจิตเกิด ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใดๆ อีกเลย เมื่อไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใดๆ อีกเลย จึงเรียกว่าปรินิพพาน ดับรอบซึ่งสภาพธรรมทุกๆ อย่าง

ดังนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระสาวกที่ดับกิเลสแล้ว เมื่อจุติเกิด ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมใดๆ เลย จึงเรียกว่าปรินิพพาน ปรินิพพาน จึงสามารถใช้ได้ทุกบุคคลที่ดับกิเลสแล้ว และจุติเกิดสิ้นชีวิต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
emancipation
วันที่ 13 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณ ท่านวิทยากรและทุกท่านที่ช่วยให้ความกระจ่างแจ่มแจ้งครับ

อนุโมทนาสาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
aurasa
วันที่ 14 ธ.ค. 2554

กราบขอบพระคุณ และอนุโมทนา อ.คำปั่น และทุกท่านที่ ให้ความกระจ่างค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ