อธิษฐานบารมี

 
nattawan
วันที่  28 ก.ค. 2556
หมายเลข  23256
อ่าน  5,798

อธิษฐานบารมี คืออย่างไร อธิษฐาน เป็นการขอหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐาน ในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะ

สะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศล ทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้น และสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้า เป็นการขอ อยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติด ข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ

จากความเห็นที่กล่าวมา อธิษฐาน จึงไม่ใช่การขอ ด้วยโลภะ ที่เป็นอกุศล แต่เป็น ความตั้งใจมั่นในการกระทำกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อดับกิเลสครับ สำหรับประเด็นเรื่อง อธิษฐานธรรม ๔ ประการ เป็น เรื่องละเอียดลึกซึ้ง ซึ่ง อธิษฐานธรรม ๔ มีดังนี้ สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน ปัญญาธิษฐาน อธิษฐานธรรม ๔ จึงเป็นคุณธรรม ที่แสดงถึงความตั้งใจมั่นในกุศลธรรม โดยนัยต่างๆ ครับ

สัจจาธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นที่เป็นไปในการรักษาสัจจะ ความจริง ไม่ว่า จริง ด้วยกายวาจาและใจ ตรง จริง ด้วยกุศลธรรม ตั้งใจมั่นด้วยสัจจะ ความจริงว่ากระทำ กุศลเพื่อดับกิเลส สัจจะ ตรงว่าศึกษาพระธรรมเพื่อ ละกิเลส ไม่ใช่เพื่อได้ มีความ ตั้งใจมั่นที่เป็นสัจจะความจริงเพื่อดับกิเลสเท่านั้นครับ เมื่อมีความตั้งใจ ด้วยสัจจะ ความจริงเช่นนี้ การศึกษาธรรม การประพฤติ ปฏิบัติต่างๆ ก็น้อมไปในทางที่ถูกต้อง และละกิเลสนั่นเองครับ

จาคาธิษฐาน คือ การสละ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ข้าศึก ต่อสัจจะความจริง ในเมื่อสัจจะ ความจริง ก็คือ กุศลธรรมประการต่างๆ ที่ตรง ดังนั้น การสละกิเลส ประการต่างๆ ตั้งใจมั่น ในการสละกิเลส ด้วยการทำกุศล เพราะขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นจาคะ สละจากกิเลสแล้ว ด้วยความตั้งใจมั่น ที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส จึงเจริญกุศลและอบรมปัญญา ขณะที่เข้าใจ ฟังพระธรรม ขณะนั้น เป็นจาคะ คือ การสละกิเลสเป็นจาคาธิษฐานแล้วครับ ดังนั้น จาคะ จึงไม่ใช่เพียงการให้ สละวัตถุ เท่านั้น แต่เป็นปัญญาที่สละกิเลสประการต่างๆ นั่นเองครับ

อุปสมาธิษฐาน หมายถึง ความสงบจากสิ่งที่ไม่ใช่คุณของบารมี พูดให้เข้าใจ คือ สงบจากกิเลส ที่จะเป็นปฏิปักษ์ ข้าศึกที่จะไม่ให้เจริญ บารมี ๑๐ ครับ บารมี ๑๐ คือ คุณความดี ๑๐ ประการ แต่ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อ บารมี ๑๐ คือกิเลสทุกๆ ประการที่เกิด ขึ้นขณะที่เจริญกุศล อบรมปัญญา ขณะนั้น สงบแล้ว สงบจากกิเลส และเป็นบารมี ประการต่างๆ ขณะที่สงบด้วยความเข้าใจถูกและเจริญกุศล เป็นกุศลในขณะนั้น ชื่อว่า เป็น อุปสมาธิษฐานในขณะนั้นเพราะสงบจากกิเลสที่เป็นข้าศึกของบารมี ครับ

ปัญญาธิษฐาน คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงในสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ อันเป็น ไปเพื่อความเจริญขึ้นของบารมีครับ ขณะที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นย่อมรู้ว่ากุศลควร เจริญ อกุศลควรละ จึงละเว้นด้วยปัญญา เจริญในสิ่งที่ควรทำ คือ กุศลด้วยปัญญา ชื่อว่า เป็นปัญญาธิษฐานในขณะนั้นครับ และขณะที่เข้าใจพระธรรม เห็นถูกตาม ความเป็นจริงในสภาพธรรมขณะนั้นก็เป็นปัญญา ที่เป็นปัญญาธิษฐาน ตั้งใจมั่นด้วย ปัญญาที่เห็นถูกในสภาพธรรมครับ

ดังนั้น คำว่า ทำเหตุใด ย่อมได้รับผลตามสมควรแก่เหตุ ย่อมสอดคล้องกับ อธิษฐานบารมี เพราะ อธิษฐานบารมี ตามที่กล่าวมา คือ การเจริญด้วยการตั้งมั่น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส โดยไม่ได้ขอ ไม่ได้หวัง ก็ย่อมได้เหตุ ตามสมควร กับการอธิษฐาน คือ การตั้งใจ ที่ไม่ใช่เพียงตั้งใจมั่นเท่านั้น แต่เจริญกุศล อบรม ปัญญา ตามที่ได้ตั้งใจมั่นด้วย ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

อธิษฐานบารมี ต่างจากโลภะ อย่างไร

อธิษฐานในแบบคนไทยเข้าใจ VS อธิษฐานในทางพุทธศาสนา?

อธิษฐานธรรม [ปกิณณกกถา]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

@ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงไว้เลยว่า ทุกอย่างจะสำเร็จมาจากการขอ แต่ต้องมีเหตุปัจจัย

อ้างอิงจาก ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ ไปสนทนาธรรมที่เชียงใหม่ ๑๖ - ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๖

บารมี เป็นธรรมที่จะทำให้ถึงซึ่งฝั่งคือการดับกิเลส เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว หมายถึง ความดีทุกประการ ซึ่งได้แก่ สภาพจิตที่ดีงามที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกประการต่างๆ นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ทาน (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น) ศีล (การสำรวมกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่กระทำทุจริตกรรม) เนกขัมมะ (การออกจากกาม ออกจากอกุศล) ปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) วิริยะ (ความเพียรในทางที่เป็นกุศล) ขันติ (ความอดทนต่อสภาพธรรมที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา) สัจจะ (ความจริงใจในการเจริญกุศล) อธิษฐานะ (ความ ตั้งใจมั่น ความมั่นคงในการเจริญกุศล) เมตตา (ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อ ผู้อื่น) อุเบกขา (ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล) ล้วน เป็นความดีที่ควรอบรมเจริญเป็นอย่างยิ่งและประการที่สำคัญ บารมีทุกบารมีจะขาด ปัญญาไม่ได้เลย

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น

ดังนั้น อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม เห็นโทษ ของการไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมด จึงไม่พ้นไปจาก สภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อมทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลาย กิเลสจนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 28 ก.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 28 ก.ค. 2556

อธิษฐาน คือ ความตั้งมั่นของจิต ควาแน่วแน่มั่นคง ในทางกุศล ที่จะเจริญสิ่งนั้น ให้สำเร็จ ตามที่ตั้งใจไว้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 30 ก.ค. 2556

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกๆ ท่านด้วยค่ะ อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่น ในการเจริญกุศลทุกประการ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการตั้งใจมั่นที่จะเข้าใจความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงสิ่งที่ มีจริงในชีวิตประจำวัน เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เสียงมีจริง คิดก็มีจริง .... ฟัง ให้เข้าสิ่งที่มีจริงๆ จนกว่าความจริงนั้นจะปรากกฏ ซึ่งจะเป็นการอบรมที่ยาวนานมาก อดทนที่จะรู้ความจริงนั้นไหม? ไม่หวั่นไหวที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อขัดเกลากิเลส บารมีทั้งหลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งความจริง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของหลาน naturalplus40 ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nattawan
วันที่ 30 ก.ค. 2556

แม้จะเป็นการอบรมที่ยาวนานมาก ก็จะเพียร อดทน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวที่ จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อค่อยๆ ขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ เพื่อรู้แจ้งความจริง

ขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของคุณอาเมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ส.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ก.ไก่
วันที่ 10 ต.ค. 2563

ลักษณะการตั้งมั่นในที่นี้ ไม่ มีตัวเราเป็นผู้ตั้งมั่น ใช่ไหมค่ะ ลักษณะของความตั้งมั่นนี้ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้างค่ะ

สาธุ

ก.ไก่

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 9 พ.ย. 2563

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

ไม่มีเราเป็นผู้ที่ตั้งมั่นแต่เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง คือ การศึกษาเพื่อเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เราเป็นธรรม นี่คือ อธิษฐานบารมี มั่นคงในการศึกษาถูกว่าไม่ใช่เรา การแสวงหาชื่อ มุ่งที่จะหาเป็นเจตสิกอะไร โดยไม่ได้มุ่งไปที่ความเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมเป็นสำคัญ

ดังนั้น จึงต้องรู้ว่า บารมีต่างๆ สำคัญที่ปัญญา และ สัจจะความเป็นผู้ตรง ตรงว่าศึกษาเพื่อเข้าใจถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น จึงไม่ใช่ราเป็นธรรมที่ดีงาม ไม่พ้นจากเจตสิกประการต่างๆ ที่เป็นเจตสิกที่ดี และไม่ลืมประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็จะค่อยๆ ห่างไปจากความเห็นถูก เพราะมุ่งที่จะไปสู่ชื่อ ลืมว่าศึกษาเพื่อมั่นคงว่าไม่ใช่เรา ความั่นคงว่าไม่ใช่เรา จึงเป็นอธิษฐานบารมีครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ก.ไก่
วันที่ 9 พ.ย. 2563

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2564
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
worrasak
วันที่ 24 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 18 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sea
วันที่ 31 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
สิริพรรณ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านทุกประการค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ต.ค. 2566

ขอเชิญรับฟัง ...

อธิษฐานคือความตั้งใจมั่น

ผู้ถาม ในขณะปัจจุบันอธิษฐานหรือทำสัจจะว่าขอให้พบคำสั่งสอนหรือพุทธศาสนา ธรรม รูปนามทุกภพทุกชาติไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย มันมีสิทธิ์ที่จะเป็นไป ได้ไหม

สุ. อธิษฐานคือความตั้งใจมั่นหรือว่าคำขอ

ผู้ถาม ตั้งใจมั่น

สุ. ตั้งใจมั่น ในขณะที่ฟังก็มีความตั้งใจที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังให้ถูกต้อง นี่ก็คือแม้จะไม่กล่าว่าอธิษฐาน แต่ความตั้งใจมั่นในขณะที่ฟังก็เพื่อเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นก็คือลักษณะของอธิษฐาน ถ้าสะสมความมั่นคงถึงจะเกิดที่ไหน ได้ยินได้ฟังอย่างอื่นก็รู้ว่าไม่ถูกต้อง

ผู้ถาม บางทีโดนเป่าหู

สุ. เพราะฉะนั้นต้องสะสมความมั่นคงในความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม สัจจญาณ

ผู้ถาม แต่บางทีมีโอกาสที่จะเข้าใจอย่างถูกต้อง บางทีก็อาจจะถึงแก่แล้วก็อาจจะช้าไป

สุ. ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คุณวิจิตรจะทำอะไร

ผู้ถาม ก็ฟังธรรมไปเรื่อยๆ

สุ. ขณะที่กำลังฟังมีสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังอบรมความรู้ความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกระทั่งมีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจแต่เพียงเรื่องราว ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏมี แล้วก็ฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏมามาก แต่จะเห็นได้ว่าการเข้าใจตัวจริงๆ ของลักษณะธรรมที่กำลังปรากฏไม่ง่ายแล้วก็ไม่เร็ว การฟังอาจจะเข้าใจได้มาก แต่ว่าการที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งมีจริงๆ จะเห็นความหมายของ “ จิรกาลภาวนา ” การอบรมภาวนาที่นานมากจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจและกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของความเข้าใจชัดก็ยังไม่ได้ปรากฏ เพราะเริ่มที่จะเข้าใจบ้างทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อยใช่ไหม แต่ไม่ไปทำอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าฟังมากแต่ไปทำอย่างอื่น เข้าใจว่าทำแล้วจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นก็คือไม่มีความมั่นคง จะอธิษฐานยังไงก็ตาม แต่ว่าอธิษฐานจริงๆ คือความตั้งใจมั่นที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
nattawan
วันที่ 12 ต.ค. 2566

พระธรรม ... ยิ่งเผยแพร่ ... ยิ่งรุ่งเรือง

ยินดีในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ