ความพอใจ เป็นเวทนา หรือเป็นสังขารครับ

 
govit2553
วันที่  21 ต.ค. 2556
หมายเลข  23892
อ่าน  2,258

ความพอใจ เป็นเวทนา หรือเป็นสังขารครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความพอใจ ภาษาบาลี ก็คือ ฉันทะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นฉันทะเจตสิก

ฉันทะ เป็นปกิณณกเจตสิก คือ ฉันทะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่พอใจ ใคร่ที่จะทำ ซึ่งเป็นไปในทางกุศล หรือ อกุศลก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะเกิดร่วมกับจิตประเภทอะไรเป็นสำคัญ ครับ

เวทนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความรู้สึก เกิดร่วมกับจิตทุกประเภท ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึก นั้น มี ๕ คือ ความรู้สึกที่เป็นสุขทางกาย (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางใจ (โทมนัสเวทนา) และ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา) ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

สังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง สภาพธรรมที่ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นจึงเกิดขึ้น ได้แก่ จิต เจตสิก และรูปทั้งหมด เป็นสังขารธรรมเพราะต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นๆ เป็นปัจจัย

ส่วน สังขารขันธ์ คือ กองสังขาร , กองแห่งธรรมที่มีสภาพปรุงแต่ง หมายถึง เจตสิก ๕๐ ดวง (เว้นเวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิก) ซึ่งมีสภาพปรุงแต่งทำให้จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในชาติกุศล อกุศล วิบาก หรือชาติกิริยา เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์จึงมุ่งหมายถึง เจตสิกปรมัตถ์ ที่เป็นเจตสิก 50 ดวงเท่านั้น ครับ

ดังนั้น สังขารธรรม จึงกินควาหมายกว้างกว่า คือ รวม จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด และรูปทั้งหมด ด้วย เพราะ เหตุว่า เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้น ดังนั้นสังขารขันธฺ์ ที่เป็นเพียง เจตสิก 50 ประเภท เว้น เวทนาเจตสิก และ สัญญาเจตสิก จึงเป็นส่วนหนึ่งของ สังขารธรรม ครับ

ดังนั้น ความพอใจ ที่เป็นฉันทะเจตสิก ไม่ใช่เวทนา ความรู้สึก เพราะ ฉันทะ เพียงพอใจ ใคร่ที่จะทำ แต่ ไม่ได้ทำหน้าที่รู้สึก สุข ทุกข์ ต่างก็เป็นเจตสิกคนละประเภท คือ ฉันทะเจตสิก และ เวทนาเจตสิก แต่ ฉันทะ ความพอใจ เป็นสังขารที่เป็นสังขารธรรม เพราะ สังขารธรรม รวม จิต เจตสิก รูปทั้งหมด ทั้งเวทนา ฉันทะ ต่างก็เป็นสังขารธรรม และ ฉันทะ ความพอใจ ก็เป็นสังขารขันธ์ด้วย เพราะ สังขารขันธ์ หมายถึง เจตสิก 50 ที่เว้น เวทนา และ สัญญาเจตสิก ครับ ขออนุโมทนา

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายาของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ฉันทเจตสิก เป็นเจตสิกที่พอใจกระทำ เกิดกับจิต ๖๙ ดวง เว้นไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๘ ดวงและโมหมูลจิต ๒ ดวง ทั้งนี้เพราะอเหตุกจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ส่วนโมหมูลจิตนั้น แม้ว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่มีโลภเจตสิกหรือโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉันทเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่พอใจตามสภาพของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตหรือจิตอื่นๆ ที่ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย

คำบรรยายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยท่านอาจารย์สุจินต์

ฉะนั้น ลักษณะของ "ฉันทะ" ในการเจริญกุศลจึงต่างกับลักษณะของ"โลภะ" ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของฉันทะและโลภะ เวลาที่อยากเจริญกุศลก็เป็นไปด้วยความต้องการ คือต้องการกุศลบ้างหรือต้องการอานิสงส์คือผลของกุศลบ้าง ยังไม่สามารถที่จะทิ้งโลภะหรือความต้องการได้ เพราะรู้ว่า ถ้าทำกุศลแล้วย่อมได้รับผลของกุศล ใจที่มุ่งหวังผลของกุศลนั้นเป็นโลภะ ต่างกับผู้ที่มีฉันทะในการอบรมเจริญกุศลซึ่งไม่ใช่ต้องการกุศลด้วยโลภะ แต่เป็นความพอใจที่จะเจริญกุศลโดยไม่หวังผล เพราะเป็นอัธยาศัยจริงๆ จึงเป็นฉันทะในการอบรมเจริญกุศลไม่ใช่โลภะที่จะเจริญกุศล

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ฉันทะและตัณหา..

เป็น ฉันทะ หรือ โลภะ ครับ..?

แยกไม่ออกระหว่างฉันทะและโลภะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แม้เพียงคำเดียว "พอใจ" นำไปสู่ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย

พอใจ เป็น พอใจ ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างอื่น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลอย่างเดียว เช่น พอใจที่จะโกรธ พอใจที่จะติดข้องยินดีในสิ่งที่ตนเองต้องการปรารถนา เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้วพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะความพอใจ ที่มาจากภาษาบาลีว่า "ฉนฺท" (ฉันทะ) นั้น เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติ ทั้ง กุศล อกุศล วิบาก และ กิริยา ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น ขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่ให้ทานเป็นกุศล ขณะนั้น ฉันทะ ก็เกิดร่วมด้วย หรือ ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลแล้ว ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ก็มีฉันทะ เกิดร่วมด้วย ขณะที่โกรธขุ่นเคืองใจ ก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ดังนั้น จากประเด็นคำถาม จึงเข้าใจได้ว่า ความพอใจ (ฉันทะ) ไม่ใช่เวทนา เพราะเวทนา เป็นความรู้สึก เป็นสภาพธรรมคนละอย่างกัน แต่ถ้ากล่าวถึงสังขารโดยนัยที่มุ่งถึงสังขารขันธ์ แล้ว ฉันทะ เป็นสังขารขันธ์ และเป็นสังขาร โดยนัยที่เป็นสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง (สังขารธรรม) ครอบคลุมจิต เจตสิก รูป ทั้งหมด

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะทุกคำ แสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ โดยไม่ต้องไปกังวลกับชื่อมากนัก เพราะเมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรม ได้ยินคำไหน ก็จะยิ่งมั่นคงในความเป็นจริงของธรรม อย่างไม่สับสนเพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้วนั่นเองครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 ต.ค. 2556

ฉันทะ คือ ความชอบ ความพอใจ ทำกุศล เช่น ชอบช่วยเหลือเด็ก ช่วยเหลือสุนัข ช่วยเกื้อกูลธรรมคนอื่น ตรงกันข้าม ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ก็มีความพอใจ มีความชอบในการพูดให้เขาแตกกัน เพื่อตนเองจะได้เป็นที่รัก เป็นต้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
govit2553
วันที่ 23 ต.ค. 2556

ขอบคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ