รบกวนสอบถามเรื่องสังฆเภทหน่อยครับ

 
monk007
วันที่  25 ก.ค. 2557
หมายเลข  25161
อ่าน  1,021

ในวัดมีพระสงที่ไม่ค่อยเข้าโบสถ์ 1รูป อีกรูปเข้าเป็นประจำ และ2รูปนี้ไม่ค่อยชอบกันเท่าไร ส่วนตัวผมเป็นคนกลาง

คุยได้ทั้งหมด เช่นเมื่อ อีกฝ่ายคือพระที่ไม่ค่อยเข้าโบสถ์ถามเรื่องพระอีกรูป ผมก็ตอบตามความจริง มันจะเป็นสังฆเภทรึป่าวครับ คือก่อนจะบวช พระทั้ง 2รูป ไม่ค่อยชอบกันอยู่แล้ว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นมัสการ พระคุณเจ้า ที่เคารพ ครับ

คำว่า สังฆเภท แปลว่าการทำสงฆ์ให้แตกกัน การทำลายสงฆ์ ความแตกกันแห่งสงฆ์ สังฆเภท จึงหมายถึง การยุยง การขวนขวายให้สงฆ์แตกความสามัคคีกัน ไม่ปรองดองกัน จนถึงกับแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรม แม้ว่าจะมีการห้ามปรามตักเตือนจนสงฆ์ประชุมกันให้เลิกละการกระทำอย่างนั้นเสียก็ยังไม่ปฏิบัติตาม ยังฝืนทำเช่นนั้นอีก เช่นนี้จัดเป็นสังฆเภท

อนึ่ง สังฆเภท คือ ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบัญญัติให้สงฆ์ทำ อุโบสถกรรม ปวารณากรรม และสังฆกรรมน้อยใหญ่อย่างอื่น ภายในสีมาเดียวกัน พร้อมเพรียงกันด้วยสังฆสามัคคี แต่เมื่อไรก็ตามที่ภิกษุทั้งหลายแตกกันเป็นก๊ก เป็นเหล่าเป็นพวก แยกกันทำอุโบสถกรรม แยกกันทำปวารณากรรม หรือ แยกกันทำสังฆกรรม หรือกรรมน้อยใหญ่ภายในสีมาเดียวกัน ซึ่งการทำสังฆเภทนี้ จะต้องประกอบไปด้วยภิกษุที่ครบองค์สงฆ์ คือ ประกอบด้วยภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปทั้งสองฝ่าย การกระทำเหล่านี้จัดเป็น สังฆเภท ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

เพราะฉะนั้น จากที่ยกเรื่องมา ก็ไม่เป็นสังฆเภทเลย เพราะไม่มีเจตนาที่ทำให้แตกกัน และภิกษุสองรูปก็ต่างแยกกันทำอุโบสถโดยปกติอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับเรา และที่สำคัญ เพียงภิกษุสองรูป ไม่นับเป็นสงฆ์ที่อย่างน้อย ๔ รูป เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นสังฆเภทแน่นอน ครับ

...ขออนุโมทนา ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์

นมัสการ พระคุณเจ้า ที่เคารพ ครับ

สังฆเภท หรือการแตกกันของสงฆ์ เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ อย่างเช่นท่านพระเทวทัต ท่านบอกเลิกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกเลิกคณะสงฆ์ แล้วท่านก็แยกทำสังฆกรรมต่างหาก นี้คือ การทำสังฆเภท เป็นเรื่องที่เข้าใจยากพอสมควร

กิเลส เป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็ยังมีอยู่ตราบใดที่ไม่ใช่พระอนาคามี ดังนั้น ความเข้าใจพระธรรมจะทำให้เห็นว่า ความโกรธ ไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และยิ่งเป็นเพศบรรพชิตด้วยแล้วก็ยิ่งจะต้องขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น แทนที่จะโกรธกันไม่ชอบกัน ก็เป็นมีเมตตาต่อกัน สิ่งไหนผิด ก็ช่วยตักเตือนกันให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และจะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และ แก่ผู้อื่น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
monk007
วันที่ 25 ก.ค. 2557

ขอบคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ