เกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติ

 
thilda
วันที่  13 ธ.ค. 2557
หมายเลข  25893
อ่าน  3,946

เรียนขอคำอธิบายจากท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ

1. ขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างของสัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก ทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ) และสัมมาสติ (สติเจตสิก ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรมที่กำลังปรากฏ) ค่ะ เนื่องจากแยกความแตกต่างระหว่างเจตสิกทั้งสองประเภทนี้ไม่ออกค่ะ

2. ในอริยมรรคมีองค์ ๘ มีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ส่วนฝ่ายของสมถะมี ๖ ประการ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ มีความสงสัยว่า เหตุใด "สัมมาสติ" จึงอยู่ในฝ่ายของสมถะค่ะ เนื่องจากที่ผ่านมาเข้าใจเอาเองว่าน่าจะเป็นเรื่องของปัญญา (จึงคิดว่าน่าจะเป็นฝ่ายของวิปัสสนา) เพราะเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงค่ะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ทุกท่านอย่างยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. สัมมาทิฏฐิ หรือ ปัญญา ที่เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม คือ ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา คือ ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง

สัมมาสติ คือ สติเจตสิก ทำหน้าที่ระลึก คือ ขณะที่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติ ที่เป็นสัมมาสติ ระลึกที่ตัวธรรมนั้น แต่ไม่ได้ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ที่เป็นหน้าที่ของปัญญา แต่ทั้งสติและปัญญา ก็เป็นธรรมที่ทำหน้าที่อาศัยซึ่งกันและกัน ครับ

2. สำหรับ สัมมาสติ ที่เป็น ฝ่าย สมถะ ก็ต้องเข้าใจครับว่า สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เป็นฝ่ายวิปัสสนา เพราะ วิปัสสนา หมายถึง เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ซึ่งสัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ คือ เห็นถูกตามความเป็นจริง และคิดถูกตามความเป็นจริงจึงอยู่ฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ฝ่ายสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ที่ประกอบกับฝ่ายวิปัสสนา ซึ่ง สัมมาสติ ไม่ได้ทำหน้าที่เห็นและคิดถูกตามความเป็นจริง เพียงแต่ทำหน้าที่ระลึกเท่านั้น จึงอยู่ในฝ่าย สมถะ ที่สงบจากกิเลสในขณะนั้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรม เป็นอย่างไร ย่อมเป็นอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้สัมมาทิฏฐิ หรือ ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง [เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน] เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็ทำกิจหน้าที่ของปัญญา คือ เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ส่วน สัมมาสติ เป็นความระลึกชอบ คือ ระลึกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสติ เป็นสภาพธรรมคนละประเภทกัน กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญาเจตสิก ส่วนสัมมาสติ เป็น สติเจตสิก ที่เกิดขึ้นเป็นไปในการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เป็นหนทางในการนำไปสู่การดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงทำให้ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน การที่จะไปถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นต้องดำเนินตามหนทางอันประเสริฐนี้เท่านั้น ซึ่งจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลยทีเดียว ถ้ามีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ทุกอย่างก็คล้อยตามปัญญาและยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมว่าจะเกิดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มีปัญญาเกิดเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับเจตสิกธรรมประการอื่นๆ ด้วย

ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นกุศลธรรมที่ประกอบด้วยปัญญา และขณะนั้นก็สงบจากอกุศล มรรคมีองค์ ๕ ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน กล่าว คือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) ทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาสังกัปปะ (วิตักกเจตสิก) ก็เกิดขึ้นทำกิจ หน้าที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เพื่อสติระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง สัมมาสติ (สติเจตสิก) ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม หรือ นามธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) เพียรระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสมาธิ (เอกัคคตเจตสิก) ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่กำลังปรากฏเพื่อปัญญาจะได้รู้ตามความเป็นจริง และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ และมรรคทั้งแปดองค์ก็เกิดร่วมกันเมื่อเป็นโลกุตตระ ขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกัน คือ พระนิพพาน

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเริ่มจากการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ยังคงไม่ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐานก็ได้ ขณะนี้มีธรรมอะไรบ้าง ที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้นได้ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
tanrat
วันที่ 14 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 14 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 14 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 17 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิคม
วันที่ 6 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ก.ไก่
วันที่ 11 พ.ค. 2562

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kornkamol
วันที่ 12 พ.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ ได้เข้ามาอ่านเมื่อใดก็มีประโยชน์เมื่อนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 24 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ