ชมรมบ้านธัมมะ มศพ.สนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษที่แก่งกระจาน [ตอน ๑]

 
เมตตา
วันที่  29 ม.ค. 2558
หมายเลข  26109
อ่าน  1,542

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ชมรมบ้านธัมมะ มศพ. จัดสนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษ กับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และวิทยากรนานาชาติ ที่แก่งกระจาน ระหว่างวันที่ 12 - 15 ม.ค. 58 และ 19 - 22 ม.ค. 58 มีสมาชิกบ้านธัมมะนานาชาติ ร่วมสนทนาดังนี้

1. Jonathan Abbott ออสเตรเลีย

2. Sarah Procter Abbott อังกฤษ

3. Nina van Gorkom เนเธอร์แลนด์

4. David Rose ออสเตรเลีย

5. Alberto อิตาลี

6. Ann Marshall แคนาดา

7. Philip

8. Sundara

9. Pinna Indorf อเมริกา

10. Betty Yukala อเมริกา

11. Ken Gizzard

12. Pt Gran รัสเซีย

13. Sukin

14. Azita ออสเตรเลีย

15. Rob Moult

สมาชิกชาวเวียดนาม 11 คน คือ

16. Bach Thi Minh Tam

17. Tran Thanh Mai

18. Tran Thai

19. Nguyen Thanh Tam

20. Nguyen Thi Minh Hang

21. Tran Thi Hai

22. Nguyen Thi Phuong Chi

23. Pham Hanh

24. Phan Binh

25. Nguyen Thuy Linh

26. Nguyen Thanh Ha

ช่วงแรก ระหว่างวันที่ 12 - 15 ม.ค. 58 ดิฉันไม่มีโอกาสได้ไปร่วมสนทนาธรรมด้วย แต่ได้ไปร่วมวันที่ 19 - 22 ม.ค. 58 ได้เห็นบรรยากาศระหว่างสนทนาธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่มาจากประเทศต่างๆ ชาวเวียดนาม รวมถึงชาวไทย ต่างฟังธรรมด้วยความตั้งใจ ท่านที่ไม่เข้าใจก็ร่วมสนทนากัน ท่านอาจารย์สุจินต์ คุณนีน่า คุณซาร่า คุณโจนาธาน และท่านอื่นๆ ก็ได้เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ความเป็นเหตุเป็นผลแก่ผู้ฟัง การสนทนาธรรมได้จัดขึ้นที่บ้านพักของท่านอาจารย์ดวงเดือนที่แก่งกระจาน

ท่านอาจารย์ และคุณน้าจิ๊ดพักอยู่ที่นั่น สำหรับพวกเราท่านอาจารย์ดวงเดือนได้กรุณาจองที่พักให้ที่รีสอร์ท ซึ่งสะดวกสบาย เงียบสงบ สวยงาม พักอยู่ใกล้ๆ กัน และไม่ไกลจากที่บ้านพักท่านด้วย พวกเราแม้มาจากที่ต่างๆ กัน เมื่อมาอยู่ร่วมกัน ต่างเกื้อกูลกันและกันเป็นอย่างดี พร้อมเพรียงกัน อยู่ร่วมกัน มาฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริง เป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน พวกเราที่เป็นชาวไทย ไม่ว่าพี่ปริญญา คุณเบญจมาศ พี่กุสุมา ก็เป็นผู้มีจิตใจดี นำอาหาร ขนมขบเคี้ยวไปฝากชาวเวียดนามกันมากมาย รวมทั้งคุณจักรกฤษณ์ และคุณชฎาพร (ภรรยา) เจนเจษฎา ชื่อเล่นว่าคุณแอ๋ว ทั้งสองท่านนำเค้กมาหลากหลายรสมากรสช็อคโกแล็ต รสกล้วย ชีสเค้ก เป็นต้น ให้มาทานกันกว่าสี่สิบท่าน (อร่อยมากจริงๆ กุศลวิบากส่งผลให้ได้ทานของประณีตถึงปานนั้น สำหรับดิฉันทานด้วยความหลงลืมสติอีกแล้ว) มาทราบทีหลังว่าคุณแอ๋วทำเค้กด้วยตนเอง ปกติคุณลูกชายเป็นคนทำเค้กเอง ฝีมือเป็นที่ประจักษ์แก่หลายๆ ท่านมาแล้ว เค้กระดับห้าดาวเชียวนะ แต่เพราะลูกชายไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แล้วได้ให้สูตรคุณแม่ไว้ คุณแม่แอ๋วเลยลงมือเอง (ฝากบอกคุณลูกชายด้วยค่ะว่าฝีมือคุณแม่ สุดยอดมากๆ ๆ ๆ ขอประกาศ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ) อ้อ! อีกท่านหนึ่ง ช่างน่ารัก ทำกาแฟสด ชาร้อน คอยบริการพวกเราที่นั่งสนทนาธรรมกัน นั่นคือ พี่แอ๊ว (ฟองจันทร์) นั่นเอง ต้องขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลของทุกๆ ท่านรวมทั้งคุณจักรกฤษณ์ และคุณแอ๋วเป็นอย่างยิ่งค่ะ

"...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมากเพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สังฆสามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข..."

คุณจักรกฤษณ์ และคุณชฎาพร (คุณแอ๋ว) ได้เดินทางมาร่วมสนทนาธรรมกันสองวันสุดท้ายเพราะติดภารกิจที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อมีโอกาสก็มาสนทนาธรรม ดิฉันเห็น ทั้งสองท่านไปกราบ ท่านอาจารย์ด้วยความนอบน้อมอย่างมาก และได้กราบเรียนว่า ไม่มีโอกาสไปร่วมสนทนาธรรมช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งวันเกิดท่านอาจารย์ก็ไม่ได้มาด้วย พร้อมทั้งมอบซองแก่ท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ที่พระวิหารเชตวัน ไม่มีงานวันเกิดค่ะ เดี๋ยวนี้ที่มูลนิธิ ไม่มีงาน ปีใหม่ ไม่มีงานสงกรานต์ ไม่มีงานวันเกิดค่ะ หลังจากนั้นท่านอาจารย์ก็ได้เรียกชาวเวียดนามคือ คุณ Thai แล้วก็มอบซองให้แก่คณะชาวเวียดนามเพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดการสนทนาธรรม

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ที่ๆ มีการสนทนาธรรม เป็นถิ่นที่ควร ขณะนี้เป็นขณะที่หาได้ยากยิ่ง เพราะพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ ได้พบกัลยาณมิตรเช่นท่านอาจารย์สุจินต์ ผู้แนะผู้ชี้ทางตรงทางที่ถูก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ดีแล้ว ให้พวกเราได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ด้วยบุญที่ได้กระทำไว้แต่ปางก่อนจึงได้หมุนมาได้พบขณะที่หาได้ยากแล้วจะยังประมาทอยู่หรือ? โอกาสที่หาได้ยากก็ได้มาแล้ว อดทนที่จะฟังธรรม สนทนาธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อเป็นผู้ตั้งตนไว้ชอบ เป็นผู้มีปัญญาเข้าใจธรรม สะสมปัญญาเพิ่มขึ้น

มีท่านผู้ถามให้อธิบาย เจตนาเจตสิก ฉันทะเจตสิก และวิริยเจตสิก ท่านอาจารย์กรุณาให้ศึกษา ทีละคำให้เข้าใจ ทุกคำในพระไตรปิฎก ก็คือ ขณะนี้ ปัญญาความเข้าใจสามารถเข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏ หากไม่ได้อบรมความเข้าใจถูก ก็ยังเป็นเราที่จะไปรู้เจตนา ฉันทะหรือวิริยะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจสามารถค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เห็นขณะนี้ก็ไม่ใช่เรา ขณะนี้ที่ฟังธรรมอยู่ วิริยะเกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำวิริยะ ทำความเพียรได้ ทุกขณะที่สภาพธรรมปรากฏเป็นสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ผ่านไปก็รู้ไม่ได้ สิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็ยังไม่สามารถรู้ได้

ขณะที่พูดถึงสติปัฏฐานเป็นเรื่องยาวมาก แต่ขณะที่ค่อยๆ อบรมความเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ เป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ เข้าใกล้ลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ มิเช่นนั้นก็ยังเป็นเราที่จะให้มีสติ ก็ไกลออกไปจากการรู้ความจริง


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ หน้าที่ 115-116

๑. จักกสูตร

ว่าด้วยจักร ๔

[๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักร (คือธรรมดุจล้อรถ) ๔ ประการนี้เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้วได้จักร (ที่จะหมุนนำไปสู่ความเจริญ) ๔ ประการ เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้ว ถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ทั้งหลายไม่นานเลย จักร ๔ ประการ คืออะไร คือ ปฏิรูปเทสวาสะ (ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ) ๑ สัปปุริสูปัสสยะ (ความพึ่งพิงสัตบุรุษ) ๑ อัตตสัมมาปณิธิ (ความตั้งตนไว้ชอบ) ๑ ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน) ๑ นี้แลจักร ๔ ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้วได้จักร ๔ ประการ เป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบพร้อมแล้ว ถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ทั้งหลายไม่นานเลย

นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ พึงทำอารยชนให้เป็นมิตร ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศ เกียรติ และความสุข ย่อมพรั่งพรูมาสู่นรชนผู้นั้น.

จบจักกสูตรที่ ๑

อรรถกถาจักกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจักกสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า จกฺกานิ คือ สมบัติ.

บทว่า จตุจกฺกํ วตฺตติ ความว่า จักร คือ สมบัติ ๔ ย่อมหมุนสืบต่อกัน ไป. บริษัท ๔ ย่อมปรากฏพร้อมในถิ่นใด ความอยู่ในถิ่นอันสมควรเห็นปานนั้น ชื่อว่า ปฏิรูปเทสวาสะ ความอยู่ในถิ่นที่เหมาะ. ความพึ่งพิงคบหาสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ชื่อว่า สัปปุริสูปัสสยะ ความพึ่งพิงสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเป็นคนประกอบด้วยความไม่มีสัทธาเป็นต้นมาก่อน การละความไม่มีสัทธาเหล่านั้นเสียแล้วตั้งอยู่ในสัทธา เป็นต้น ชื่อว่า อัตตสัมมาปณิธิ ความตั้งตนไว้ชอบ ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้ในกาลก่อน ชื่อว่า ปุพฺเพ จ กตปฺญฺญตา ความเป็นผู้ทำบุญมาก่อน ข้อนี้แหละ ถือเอาเป็นประมาณในจักร ๔ นี้. เพราะว่า กุศลกรรมเท่านั้น อันคนใดทำด้วยจิตที่สัมปยุตด้วยญาณอันใด กุศลจิตนั้นแหละ ย่อมนำคนนั้นเข้าไปอยู่ในถิ่นที่เหมาะ ให้เขาคบหาสัตบุรุษ ก็บุคคลนั้น ชื่อว่า ตั้งตนไว้ชอบ ด้วยอาการอย่างนี้.

บทว่า ปุญฺญกโต แปลว่า ได้ทำบุญไว้แล้ว.

บทว่า สุขญฺเจตํ อธิวตฺตติ ความว่า และความสุขย่อมพรั่งพรู คือ แผ่ลงมาสู่บุคคลนั้นดังนี้.

จบ อรรถกถาจักรสูตรที่ ๑

คุณ Thai ได้พูดถึงเหตุการณ์การเมืองในประเทศของเขา ขณะนั้นดิฉันก็คิดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของเราที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เหตุการณ์บ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤติ อกุศลจิตเกิดขึ้นทำร้ายจิตใจอยู่เสมอ กิเลสที่สะสมมาพร้อมที่จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เสาร์อาทิตย์ไปฟังธรรมที่มูลนิธิ ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจธรรมเสมอๆ ไม่มีกลุ่มใดๆ ไม่มีสีแดง สีเหลือง สีคำ มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นกุศล หรืออกุศล แต่ละขณะของจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปเกิดแล้ว ชาติ (ชา + ติ = เกิด) เตือนให้เป็นคนดีและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เมื่อมีความเข้าใจธรรม ปัญญานำไปสู่ความประพฤติที่ถูกที่ควรเสมอ เช่นเดียวกันท่านอาจารย์กล่าวกับ คุณ Thai ว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ เป็นธรรมทั้งหมด ไมว่าจะอยู่ในเหตุการณ์ใดๆ ทำดี ความดีเท่านั้นทำให้พ้นภัยได้อย่างแท้จริง คุณ Thai กล่าวว่า แต่เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นนั้นจิตของเขาก็ไม่สามารถเป็นกุศลได้ตลอดเวลา ท่านอาจารย์กล่าวว่า ก็เหมือนขณะนี้ ทุกคนกำลังฟังธรรมอยู่ ไม่ใช่ว่าจะเป็นกุศลได้ตลอดเวลา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 29 ม.ค. 2558

เห็นขณะนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นปกติ ได้ยินเป็นปกติ เกิดแล้วดับแล้วตามเหตุปัจจัย สติก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีเราที่ไปทำสติเกิดได้ เป็นเราจึงไม่ปกติ ปัญญาที่เกิดจาก การอบรมความเข้าใจ ความจริงที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรา ไม่มีเราที่จะไปพยายามรู้ จนกว่าสติเกิดระลึกลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือ ปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะเกิดขึ้นต้องเกิดจากการอบรมความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นโดยไม่หวัง ปัญญาความเข้าใจเท่านั้นซึ่งจะนำไปสู่กิจที่เข้าใจขึ้นๆ

[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิเทส เล่ม ๖- หน้าที่ 129

[๑๘๐] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท มีความรู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว เที่ยวไป พึงละชาติ ชรา ความโศกและความรำพัน อันเป็นทุกข์ ในอัตภาพนี้เสียทีเดียว.

[๑๘๑] คำว่า เอวํวิหารี ในอุเทศว่า "เอวํวิหารี สโต อปฺปมตฺโต" ดังนี้ ความว่า ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่ง ความยินดี ความพัวพัน วิญญาณอันสหรคตด้วยอภิสังขาร กรรมภพ และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้. คำว่า สโต ความว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญ สติปัฏฐานเครื่องพิจารณาเห็นกายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีสติ.

คำว่า อปฺปมตฺโต ความว่า ภิกษุ

เป็นผู้ทำด้วยความเต็มใจ คือทำเนืองๆ ทำไม่หยุด มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ปลงฉันทะ ไม่ทอดธุระ ไม่ประมาท ในกุศลธรรม คือ ความพอใจ ความพยายาม ความหมั่น ความเป็นผู้มีความหมั่น ความไม่ถอยหลัง สติ สัมปชัญญะ ความเพียรให้กิเลสร้อนทั่ว ความเพียรชอบ ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ใด ในกุศลธรรมนั้นว่า เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น

มื่อไร เราพึงบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือ พึงอนุเคราะห์สมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... เมื่อไร เราพึง บำเพ็ญวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์วิมุตติ ขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ... เมื่อไร เราพึงบำเพ็ญ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือพึงอนุเคราะห์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในกุศลธรรมนั้น ความพอใจ เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรม ความพอใจ ความพยายาม ... ความตั้งใจ ความประกอบเนืองๆ ใด ในกุศลธรรมนั้นว่า เมื่อไร เราพึงกำหนดทุกข์ที่ยังไม่กำหนดรู้ เราพึงละกิเลสทั้งหลายที่ยัง ไม่ได้ละ เราพึงเจริญมรรคที่ยังไม่เจริญ หรือเราพึงทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ ที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ความพอใจเป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีสติไม่ประมาท.

[๑๘๒] ภิกษุเป็นกัลยาณปุถุชนก็ดี ภิกษุเป็นพระเสขะก็ดี ชื่อว่า ภิกษุ ในอุเทศว่า "ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ" ดังนี้

คำว่า จรํ ความว่า เที่ยวไป คือเที่ยวไป ... เยียวยา

ความยึดถือว่าของเรามี ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเรา ด้วย อำนาจตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเรา ละความยึดถือว่าของ เราด้วยอำนาจตัณหา สละคืนความยึดถือว่าของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ละ สละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความยึดถือว่าของเราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... ละแล้วซึ่งความยึดถือว่าของเราทั้งหลายเที่ยวไป.

[๑๘๓] ความเกิด ความเกิดพร้อม ... ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะ ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์เหล่านั้นๆ ชื่อว่า ชาติ ในอุเทศว่า "ชาติชฺชรํ โสกปริทฺเทวญฺจ อิเมว วิทฺวา ปชฺชเหยฺย ทุกขํ " ดังนี้

ความแก่ ความเสื่อม ... ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ชื่อว่า ชรา ความโศก กิริยาที่โศก ... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ความโศก. ความร้องไห้ ความรำพัน ... หรือของคนที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบเข้า ชื่อว่า ปริเทวะ.

คำว่า อิธ ความว่า ในทิฏฐินี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้.

คำว่า วิทฺวา ความว่า ผู้รู้แจ้ง คือ ถึงความรู้แจ้ง มีญาณ มีความ แจ่มแจ้ง เป็นนักปราชญ์ ชาติทุกข์ ฯลฯ ทุกข์คือโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ชื่อว่า ทุกข์.

คำว่า ชาติชฺชรํ โสกปริทฺเทวญฺจ อิเธว วิทฺวา ปชฺชเหยฺย ทุกฺขํ ความว่า ผู้รู้แจ้ง คือ ถึงความรู้แจ้ง มีญาณ มีความแจ่มแจ้งเป็นปราชญ์ พึงละ คือ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีซึ่งชาติ ชรา ความโศก และความร่ำไรในอัตภาพนี้เทียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้รู้แจ้งพึงละชาติ ชรา ความโศก และความร่ำไรอันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้เทียว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท มีความรู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเรา แล้วเที่ยวไป พึงละชาติ ชรา ความโศก และความรำพันอันเป็นทุกข์ ในอัตภาพนี้เสียทีเดียว

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 30 ม.ค. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณป้าเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
siraya
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาพี่เมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 30 ม.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่เมตตาครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปวีร์
วันที่ 30 ม.ค. 2558

พระวิหารเชตวัน ไม่มีงานวันเกิดค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thilda
วันที่ 31 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 31 ม.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
nopwong
วันที่ 2 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wirat.k
วันที่ 19 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ