สติจำปรารถนาในสิ่งทั้งปวง

 
papon
วันที่  30 มี.ค. 2558
หมายเลข  26409
อ่าน  1,964

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

"สติจำปรารถนาในสิ่งทั้งปวง" หมายความว่าอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้คำอธิบายด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง

ถาม ปกติคำว่า “สติสัมปชัญญะ” ตามความเข้าใจของเราธรรมดา ก็คือสติ มีการระลึกได้ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว นี่คงเป็นความหมายพื้นๆ อยากจะทราบความหมายที่ลึกซึ้งในทางธรรมว่า สติมีความหมายแค่ไหน

สุ. ถ้าพูดถึงสภาพธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง อย่างโลภะ ความติดข้องมีจริง โทสะก็มีจริง เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท เป็นธรรมฝ่ายอกุศล แต่ถ้าพูดถึงสติในทางธรรมแล้วเป็นอกุศลไม่ได้ ต้องเป็นกุศล หรือจะใช้คำว่า “โสภณ” เป็นธรรมฝ่ายดีก็ได้

เพราะฉะนั้นที่เราคนไทยใช้คำว่า “สติ” กัน เราใช้ไขว้เขว เราใช้ตามใจชอบ แต่ถ้าตรงตามลักษณะสภาพธรรมจริงๆ แล้ว สติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นต้องเป็นไปในขณะที่เป็นกุศล เช่น ในขณะที่ให้ทาน ระลึกเป็นไปในการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขของคนนั้น ในขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เรา โลภะไม่ใช่เรา โทสะไม่ใช่เรา เมตตาไม่ใช่เรา สติก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่เราเรียกว่า “คนดี” ก็คือสภาพธรรมฝ่ายดีเขาเกิดมาก คนไหนที่ไม่ดี ก็หมายความว่า สภาพธรรมฝ่ายไม่ดีสะสมมาเยอะและเกิดมาก และเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเรียกชื่อ ตั้งชื่อกัน สมมติขึ้นมา แต่ตัวจริงๆ นั้นคือสภาพธรรม อย่างเราบอกว่า เพื่อนเราคนนี้ไม่ดีเลย เขาจะชื่ออะไรก็ตามแต่ เราก็บอกว่า คุณแดงนี่ไม่ดี แต่ความจริงคุณแดงไม่มีค่ะ มีแต่อกุศลไม่ดี แล้วเราก็เรียกอกุศลธรรมนั้นๆ ว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ทุกคนในที่นี้ ถ้าเอาชื่อออกหมดก็มีแต่สภาพธรรมจริงๆ โลภะใครจะเกิด โทสะใครจะเกิด เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นสติเป็นธรรมฝ่ายดี ถ้าศึกษาธรรมแล้วต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า เป็นอกุศลไม่ได้เลย วันหนึ่งๆ ทุกคนเห็นแก่ตัวแค่ไหน ไม่มีการรู้สึกตัวเลย ตื่นขึ้นมาก็เริ่มแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง จะต้องการอะไร ไม่มีการสละเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดความคิดที่จะสละสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนอื่น ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นธรรมฝ่ายดี คือ สติที่เกิดระลึกได้ที่จะให้ ที่เป็นไปในทาน ในการสละวัตถุ นี่ก็เป็นกุศลขั้นหนึ่ง คือ ขั้นทาน

ในขณะที่เราวิรัติทุจริต เพราะว่าบางคนเขายับยั้งใจไม่ได้ เวลาเกิดความโลภ ความโกรธ เขาจะต้องมีการกระทำที่เป็นไปด้วยอกุศลนั้นๆ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เบียดเบียนด้วยประการต่างๆ เพราะเหตุว่าไม่สามารถระงับอกุศลธรรมได้ แต่ถ้าสติเกิด ธรรมฝ่ายดีเกิดจะมีการวิรัติ บางคนเขาบอกว่า ก่อนที่จะมีการศึกษาธรรม เขาก็พูดอะไรที่ไม่ดี ว่าคนนั้นคนนี้หลายอย่าง แต่เมื่อศึกษาธรรมแล้ว อ้าปากแล้วจะพูด แต่ค้างค่ะ เสียงไม่ออกไป เพราะสติเกิดระลึกได้ว่า ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น หรือไม่ควรจะใช้คำอย่างนั้น

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสะสมธรรมฝ่ายดีไว้มาก สติก็ระลึกเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในทางที่จิตจะสงบจากอกุศล เป็นไปในการฟังธรรม พิจารณาธรรม อบรมเจริญปัญญา นี่ก็เป็นหน้าที่ของสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้

เพราะฉะนั้น ก็มีสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นการศึกษาธรรม ขั้นการสนทนาธรรม ฟังธรรม แสดงธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายภาวนา คือการอบรมเจริญซึ่งแยกออกไปเป็น ๒ อย่าง คือ อบรมเจริญความสงบ อย่างหนึ่ง เรียกว่า สมถภาวนา ซึ่งต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติ กุศลจิตเกิดไม่ได้ และอีกอย่างหนึ่งคือ วิปัสสนาภาวนา อบรมเจริญปัญญา ก็ต้องมีสติอีกเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ก็ขาดสติไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงมีพระพุทธดำรัสว่า “สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง” เวลาที่คนเดินไปตามถนนไม่หกล้ม เราจะไม่พูดเลยว่า เขามีสติสัมปชัญญะ เพราะว่าขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา แต่ขณะใดที่ทานเกิด ขณะนั้นเป็นสติที่เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทาน ขณะใดที่วิรัติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็เป็นสติที่เกิดขึ้นวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา

พอจะเห็นลักษณะของสติไหม

ผู้ถาม ก็พอจะเข้าใจครับ แต่อาจจะเป็นความเข้าใจผิดหรือเข้าใจเอง อย่างนี้จะถือว่าเรามีสติ อย่างนั้นจะถูกต้องไหมครับ

สุ. จริงๆ แล้วขณะที่ฟังธรรม มีการคิดตามสิ่งที่ได้ฟัง ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ความคิดของเราในวันหนึ่งๆ แยกออกได้เป็น ๒ ฝ่ายเหมือนกัน คือ คิดเป็นกุศลหรือคิดเป็นอกุศล ถ้าเราคิดด้วยอกุศลจิต เราก็คิดถึงเพื่อน คิดถึงความสนุก คิดถึงงาน คิดถึงอะไรก็ได้ แต่เวลาที่ได้ยินธรรมแล้วก็คิดตามที่จะเข้าใจ ก็เป็นกุศลวิตก วิตก คือ สภาพที่คิด ขณะนั้นก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย เป็นสติขั้นฟัง แล้วเวลาที่ฟังแล้วพิจารณาก็เป็นสติที่พิจารณาจึงเข้าใจ ถ้าเราฟังผ่านหูไป ไม่มีทางเข้าใจเลย ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงได้ยิน

เพราะฉะนั้น จึงมีการฟัง และพิจารณาสิ่งที่ได้ฟัง และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่เพียงฟังแล้วพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังเท่านั้น ประพฤติตามธรรมที่ได้ฟังด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีสติหลายขั้น แต่สติต้องเป็นไปในทางฝ่ายกุศล ขณะใดที่เป็นกุศล ระลึกได้เลยว่าขณะนั้นก็มีสติ

เป็นสิ่งที่รู้ยาก เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก เดี๋ยวกุศลจิตก็เกิด เดี๋ยวอกุศลจิตก็เกิด เดี๋ยวกุศลจิตก็เกิดอีก เดี๋ยวอกุศลจิตก็เกิดอีก สลับกันเร็ว ต้องเป็นผู้มีปัญญาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่ง จึงสามารถรู้จักตัวสติและตัวสภาพธรรมแต่ละอย่างได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
thassanee
วันที่ 30 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ด้วยความเคารพตั้งใจ และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องว่า ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาเลย ความเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ของการได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือได้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงของธรรม มั่นคงจริงๆ ในความเป็นจริงของธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง โดยไม่ปะปนกัน แม้แต่สติก็ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมที่มีจริงๆ

สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณธรรม ที่ระลึกได้ในกุศลทั้งหลาย, ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ นั้น ขณะนั้นสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาเลย กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทาน ศีล หรือภาวนาขณะใด ขณะนั้นสติ ก็เกิดขึ้นระลึกเป็นกุศลประเภทนั้นๆ

สติ เป็นสภาพธรรมเครื่องรักษา กล่าวคือ รักษาให้เป็นไปในกุศลธรรม และกั้นกระแสอกุศลธรรมทั้งหลายไม่ว่าอยู่ในที่ไหน เวลาใดก็ตาม เพราะเมื่อสติเกิดขึ้นย่อมเกิดรักษาจิตให้เป็นในกุศลและกั้นกระแสอกุศลในขณะนั้น ในที่ทุกสถานได้ เพราะฉะนั้น สติ จึงจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง อย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 30 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ms.pimpaka
วันที่ 31 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
วิริยะ
วันที่ 31 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 1 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 1 เม.ย. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 1 เม.ย. 2558

บางส่วนจาก อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร หน้าต่างที่ ๕ / ๖. ธรรมเป็นเหตุเกิดธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ส่วน สติ มีกำลังแล้ว ย่อมควรในที่ทั้งปวง เพราะว่า สติ ย่อมรักษาจิต มิให้ตกไปในอุทธัจจะ ด้วยอำนาจ ศรัทธา วิริยะ ปัญญา ซึ่งเป็นฝ่ายอุทธัจจะ มิให้ตกไปในโกสัชชะ เพราะ สมาธิ เป็นฝ่ายโกสัชชะ

เพราะฉะนั้น สตินั้น จึง จำต้องปรารถนา ในที่ทั้งปวง เหมือน การปรุงรสด้วยเกลือ จำปรารถนา ในการปรุงอาหารทุกอย่าง และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในราชกิจทุกอย่าง จำปรารถนา ในราชกิจทุกอย่าง ฉะนั้น

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า “สติ จำปรารถนา ในที่ทั้งปวง” เพราะเหตุไร เพราะ “จิต มีสติ เป็นที่อาศัย” และ “สติ มีการอารักขา เป็นที่ปรากฏ” เว้น สติ เสียแล้ว จะ ประคอง และ ข่ม จิต ไม่ได้เลย.

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 2 เม.ย. 2558

ขอกราบนมัสการอย่างสูงสุดแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างสูง

ขอบพระคุณและอนุโมทนา คุณใหญ่ราชบุรี ด้วยครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 2 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nong
วันที่ 4 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ เคยสงสัยเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะจดไว้ในสมุดบันทึก คำตอบของท่านอาจารย์และทุกๆ ท่านทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 15 เม.ย. 2558

ขณะที่สติเกิดกั้นอกุศล กั้นนิวรณ์ ๕ ขณะที่สติเกิดกุศลทั้งหลายก็เจริญตามกำลังของสติค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
teep704
วันที่ 17 ก.พ. 2564

กราบขอบพระคุณ และขอกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
apichet
วันที่ 15 มี.ค. 2564

กราบขอบพระคุณอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Jarunee.A
วันที่ 7 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ