ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม

 
papon
วันที่  23 พ.ค. 2558
หมายเลข  26568
อ่าน  3,005

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม" พจนาท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งหมายถึง ปฏิบัติธรรมที่เป็นกุศลทุกประการ ที่เป็นทาน ศีล ภาวนา ทั้งสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา สมควรแก่ธรรม คือ สมควรแก่ผลที่จะได้ เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมนั้นจึงกินความกว้างขวาง ที่รวมถึงกุศลทุกประการ รวม สมถภาวนาด้วย แต่สมัยปัจจุบันใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม ที่เขาเข้าใจว่า การเจริญวิปัสสนา หรือเข้าใจว่า เป็นหนทางการดับกิเลส ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดว่า จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนาได้ หรือเข้าใจผิดว่า การนั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น เพราะการทำสมาธิด้วยอกุศลก็ไม่เป็นทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนา เพราะเป็นอกุศลจิต แต่ไม่รู้ และ การปฏิบัติธรรม ที่เข้าใจว่า เป็นหนทางที่จะบรรลุ เข้าใจว่าต้องเจริญสมถภาวนาก่อน จึงจะบรรลุ จึงเจริญสมถภาวนาก่อน ก็เข้าใจผิด ก็ผิดอีก และทำด้วยการนั่งสมาธิ เข้าใจว่าเจริญสมถภาวนาก็ผิด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แม้จะใช้คำว่า ปฏิบัติธรรม เพราะไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นไปในทาน ศีล สมถภาวนา และ วิปัสสนา ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ในเรื่องนี้ ครับ

ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหมคะ

ถาม ปฏิบัติอย่างไร จึงจะเรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ท่านอาจารย์ เจริญสติปัฏฐาน ค่ะ

ถาม เจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นการที่

ท่านอาจารย์ เจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่กระทำอกุศล ถ้าทำอกุศลก็ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คุณนิภัทร ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นแต่เพียงเข้าใจขั้นศีลขั้นทานธรรมดานี้ ก็ปฏิบัติในเรื่องศีลเรื่องทาน นี่จะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ท่านอาจารย์ สมควรแก่ธรรม ขั้นทาน ขั้นศีล

คุณนิภัทร คือ หมายว่า ถ้าเข้าใจธรรมขั้นไหนก็ปฏิบัติธรรมขั้นนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือ

ท่านอาจารย์ ค่ะ

คุณนิภัทร แล้วการที่จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ ก็จะต้องมีความสัมพันธ์กับข้อแรกๆ ก่อนที่จะถึงข้อนี้ เช่นต้องฟังให้เข้าใจ ต้องจำให้ได้ ต้องพิจารณาเนื้อความ และจะต้องรู้อรรถ รู้ธรรม หมายความว่า ต้องเข้าใจเนื้อหา สาระของข้อความที่ฟังนั้น จึงจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้ ถ้าหากฟังไม่เข้าใจแล้ว การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมก็คงปฏิบัติไม่ได้

ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้นบางท่านที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานเลย แต่อยากจะปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ทำให้เข้าใจตนเองตามความเป็นจริง ก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์

คุณอดิศักดิ์ อาจารย์ยกตัวอย่างขึ้นมา ๗ จำพวกด้วยกันใช่ไหมครับ เท่าที่ผมจำได้มี ๗ จำพวก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เข้าใจได้ เข้าใจไม่ได้ จำได้ จำไม่ได้ จำได้บางอย่าง พิจารณา บางคนก็ไม่พิจารณา ผมก็มาพิจารณาตัวเองว่า เราพิจารณาธรรมได้อรรถ ได้กุศลธรรม ได้ไปแค่ไหนแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วก็คิดว่าคงจะจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วอย่างนี้ จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้ไหมครับ

ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ปฏิบัติถูก ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้น เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คุณ อดิศักดิ์ ปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม แต่ยังไม่แล้ว ใช่ไหมครับอาจารย์

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นพระอรหันต์ พอถึงคำว่า ปฏิบัติธรรม ก็สงสัยอีกเหมือนกันนะคะ ว่าปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ และกุศลทุกประการที่จะเจริญขึ้น ก็จะพ้นจากการอบรมเจริญ ปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญา ความเข้าใจในพระธรรม กุศลธรรมทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ แต่ที่กุศลทั้งหลายจะเจริญได้ ก็เพราะมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น และ สำหรับ หิริ โอตัปปะ ก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดปัญญาด้วย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
tanrat
วันที่ 24 พ.ค. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 พ.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิด ให้เพิ่มขึ้น

แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลาและไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทังหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 24 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ms.pimpaka
วันที่ 24 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 24 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 25 พ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 25 พ.ค. 2558
สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
อัมพร1480
วันที่ 26 พ.ค. 2558
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 27 พ.ค. 2558

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เริ่มจากการฟังธรรมให้เข้าใจ การพิจารณาธรรม การอบรมความดี การอบรมปัญญา สูงสุดคือการบรรลุ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นิตยา
วันที่ 31 พ.ค. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Nataya
วันที่ 9 ม.ค. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Witt
วันที่ 21 ก.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างไร

ผู้ถาม องค์ของการเป็นพระโสดาบัน จะเป็นไปได้ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรครับ

ส. ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ศึกษาให้เข้าใจ คบสัตบุรุษ แต่ก็ยากที่จะรู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ฟังธรรมะของท่าน พิจารณาด้วยความแยบคาย ประพฤติธรรมะสมควรแก่ธรรมะ ก็เป็นเพียงหัวข้อๆ แต่หัวข้อทั้งหมดต้องเข้าใจ มิฉะนั้นเพียงแต่อ่านเฉยๆ เราจะทำอย่างไรได้ เราต้องมีความรู้ธรรมะก่อน แล้วเราถึงจะสามารถเข้าใจได้ อย่างการที่จะรู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษ หรือผู้ที่ประพฤติดีตามธรรม ผู้ที่ประพฤติถูกต้องก็ต้องศึกษาธรรมะ แล้วถึงจะรู้ได้

ผู้ถาม ขอขยายหน่อย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แค่ไหนจึงจะเรียกว่าสมควร ครับ

ส. ขณะนี้เป็นธรรมะ ถูกต้องไหมคะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่การที่จะรู้ว่าเป็นธรรมะ ถ้ารู้ว่าเป็นธรรมะแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ถูกต้องให้ยิ่งขึ้น ก็ไม่ชื่อว่า ปฏิบัติธรรมะสมควรแก่การที่จะรู้แจ้งธรรมะ สิ่งที่ได้เรียนแล้ว อย่าคิดว่าเป็นแต่เพียงแค่นี้ แต่สิ่งที่เริ่มเห็นว่าเป็นจริง จะมีความจริงถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งในทุกคำที่ได้ยิน เช่น สภาพธรรมะเกิดแล้วดับ ขณะนี้มีสภาพธรรมะกำลังปรากฏให้รู้จริงๆ เป็นธรรมะจริงๆ แต่ยังไม่ประจักษ์การเกิดและดับ แต่ว่าโดยการฟัง พิจารณาแล้วต้องรู้ว่าสิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิด ไม่เกิดก็ปรากฏไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อการเกิดของธรรมะมีจริง การดับของธรรมะมีจริง ปัญญาก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ มิฉะนั้นการฟังของเราก็เป็นโมฆะทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมะสมควรแก่ธรรมะ จริงๆ ก็คือปฏิบัติธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่สมควรที่จะรู้แจ้งได้ การอบรมนั้น หนทางนั้นเป็นหนทางที่สมควรที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมะได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะสมควรแก่ธรรมะ เพียงขั้นฟัง เป็นการปฏิบัติธรรมะสมควรแก่ธรรมะหรือยัง หรือเป็นเบื้องต้นที่จะทำให้ถึงการปฏิบัติธรรมะสมควรแก่ธรรมะ

ขอเชิญรับฟัง ...

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างไร

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ